iLaw เผยแพร่เอกสารจาก กรมราชทัณฑ์ ที่ระบุว่าพบผู้ป่วยโรค โควิด ในเรือนจำ 19 แห่ง รวมมากกว่า 600 ราย ตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือนเมษายน
เพจเฟซบุ๊ก iLaw ได้นำเอกสารที่อ้างว่ามาจากเว็บไซต์ของกรมราชทัณฑ์ ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน โดยในเอกสารดังกล่าวได้ระบุว่าพบเจ้าหน้าที่ 77 นาย และผู้ถูกคุมขัง 575 คนป่วยเป็นโรคโควิด-19 ในเรือนจำจำนวน 19 แห่งด้วยกัน
โดยทางเพจระบุว่า “จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า วันที่ 30 เมษายน 2564 อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ทำหนังสือเวียนถึงถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บัญชาการเรือนจำต่างๆ เรื่องขยายระยะเวลางดเข้าเยี่ยม ตอนหนึ่งระบุว่า
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 พบผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 63,570 รายและผู้เสียชีวิตจำนวน 188 ราย ในส่วนของกรมราชทัณฑ์พบผู้ติดเชื้อในส่วนกลางกรมราชทัณฑ์ เรือนจำและทัณฑสถานจำนวน 19 แห่ง ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จำนวน 77 รายและผู้ต้องขังจำนวน 575 ราย ระบุด้วยว่า เป็นข้อมูล ณ วันที่ 29 เมษายน 2564
ข้อมูลดังกล่าวประกอบกับข้อมูลของวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่กล่าวในเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ว่า ปี 2563 มีผู้ต้องขังติดโรคโควิด 19 ในเรือนจำประมาณสิบคน จึงอนุมานได้ว่า ข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ที่กล่าวว่า พบผู้ติดเชื้อในเรือนจำและทัณฑสถาน 19 แห่ง รวมผู้ติดเชื้อทั้งผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 652 คน เป็นสถิติการแพร่ระบาดระลอกเดือนเมษายน 2564
สวนทางกับการรายงานสถิติและสถานการณ์การแพร่ระบาดของผู้ต้องขังที่ถูกเผยแพร่ออกมาในช่วงเวลาดังกล่าว เท่าที่ติดตามได้นับตั้งแต่มีข่าวการแพร่ระบาดเรือนจำครั้งแรกในวันที่ 2 เมษายน 2564 ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ตามมาด้วยวันที่ 12 เมษายน 2564 ในเรือนจำกลางเชียงใหม่ จนถึงวันที่ 29 เมษายน 2564 มีผู้ต้องขังติดเชื้อไปแล้วอย่างน้อย 462 คนในเรือนจำสามแห่ง ดังนี้
เรือนจำจังหวัดนราธิวาส (ไม่น้อยกว่า 263 คน) : วันที่ 2 เมษายน 2564 ที่เรือนจำนราธิวาสพบผู้ติดเชื้อโควิด19 รวม 116 ราย เป็นผู้ต้องขัง 92 ราย และเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ 24 ราย วันที่ 5 เมษายน 2564 มีรายงานผู้ติดเชื้อสะสม 127 คน และจากการสืบค้นข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส
ในระยะต่อมาพบว่า มีผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลสนามของเรือนจำสูงสุดคือ วันที่ 14 เมษายน 2564 จำนวน 263 คน แต่เนื่องจากข้อมูลลำดับของผู้ป่วยติดเชื้อไม่ได้ต่อเนื่องนักจึงไม่อาจบอกได้ถึงจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำสะสมที่แท้จริง ดังนั้นตัวเลข 263 คนก็อาจจะพอยึดถือเป็นตัวเลขขั้นต่ำของการแพร่ระบาดในเรือนจำนราธิวาสได้
เรือนจำกลางเชียงใหม่(ไม่น้อยกว่า 189 คน) : จากข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ระบุว่า วันที่ 29 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลสนามเรือนจำกลางเชียงใหม่ 189 คน ตัวเลขผู้ป่วยในเรือนจำที่แท้จริงอาจมีมากกว่านี้เนื่องจากเนื้อหาไม่ได้มีการแจ้งผู้ป่วยยอดผู้ป่วยสะสมที่รักษาในโรงพยาบาลสนามของเรือนจำ และอาจมีผู้ป่วยหนักและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ถูกนำส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้านนอกเรือนจำ
เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (ไม่น้อยกว่าสิบคน) : วันที่ 25 เมษายน 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในเรือนจำมีจำนวนสิบคน แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หนึ่งคน และผู้ต้องขังเก้าคน หลังจากนั้นไม่เคยรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อสาธารณะอีก
จนกระทั่งมีผู้ต้องขังคดีการเมืองทยอยติดเชื้อต่อเนื่องและนำไปสู่คำถามถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในเรือนจำ ทำให้กรมราชทัณฑ์รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้ออีกครั้งวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เป็นผู้ติดเชื้อในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและทัณฑสถานหญิงกลางจำนวน 2,835 คน”
- ราชทัณฑ์ โต้ ‘รุ้ง-ปนัสยา’ ไม่ได้ติด โควิด จากเรือนจำ
- ‘รุ้ง-ปนัสยา’ ป่วยเป็น โควิด พร้อมเผยไทม์ไลน์
- ราชทัณฑ์ พบ ผู้ต้องขัง กว่า 2 พันรายติด โควิด หลังค้นหาเชิงรุก
ติดตามข่าวสารจาก Thaiger ได้ทางเฟซบุ๊ก.