ในวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ ชาวโอรังอัสลี ในตำบลช้างเผือก อำเภอจะแนะ นราธิวาส ได้รับศาสนาอิสลาม โดยมีนายอับดุลอาซิส ยานยา นายกสมาคมปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนใต้ พร้อมด้วยผู้นำศาสนาเป็นผู้ประกอบพิธีให้ โดยทางเจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อำนวยความสะดวก และเร่งสำรวจกลุ่มอื่น ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือและมอบสัญชาติไทยให้ต่อไป
กลุ่มโอรังอัสลี รวม 35 คน ที่รับศาสนาอิสลามในวันนี้ อาศัยอยู่ในพื้นที่ ม. 7 ตำบลช้างเผือก อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส มีหัวหน้าเผ่า ที่ตั้งชื่อตามอิสลามที่เพิ่งเข้ารับว่า นายอับดุลลาซิ อับดุลเลาะ เป็นลูกชาย คนที่ 3 ของหัวหน้าเผ่าเดิม ที่อาศัยอยู่ที่บ้านนากอ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง ยะลา
ทั้งนี้ นายอับดุลอาซิส ยานยา กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ให้ความช่วยเหลือ โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทางศาสนา
“ก่อนหน้านี้ได้เข้าไปเผยแพร่ศาสนาอิสลามให้กับชาวโอรังอัสลี ถือเป็นมิติใหม่สำหรับคนทำงานด้านศาสนา เป็นกลุ่มแรกที่เข้ารับอิสลาม หลังจากทุกฝ่ายร่วมกัน ทางอุลามะห์และผู้นำศาสนา อบต. หลายฝ่าย หลายคนร่วมกันช่วยเหลือให้มีความรู้ ให้มีการศึกษา และจัดหาที่ดิน เราทำตามมนุษยธรรม โดยไม่มีเงื่อนไขไม่ว่าศาสนาไหน ก็ต้องช่วยเหลือ ถ้ามีคนที่ลำบากกว่า” นายอับดุลอาซิส กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ให้การช่วยเหลือชาวโอรังอัสลี หนือมานิ ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ครั้งที่พระองค์ทรงพบเห็นในการเสด็จเยือนพื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อปี 2560 ตามคำกล่าวของ น.ส.บุศริน เถาวัลย์ ปลัดอำเภอเบตง หัวหน้ากลุ่มงานทะเบียนและบัตรอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่ทำหน้าที่ออกบัตรประชาชนให้ชาวมานิ ซึ่งพระองค์ที่ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ที่อาจตกเป็นเครื่องมือของผู้แสวงหาผลประโยชน์
ด้านนายอับดุลอาซิ อับดุลเลาะ หรือชื่อเดิมคือ นากอ อายุ 34 ปี จะเรียกตัวเองว่า “กลุ่มออแรสาแก” ได้กล่าวว่า ตนเองเดินทางข้ามภูเขาสันกาลาคีรี มาเมือ 10 ปีที่แล้ว และได้มาหลงเสน่ห์สาวชาวมานิแถวตำบลช้างเผือก จึงได้แต่งงานสร้างครอบครัว มีลูกด้วยกัน และสร้างเผ่า ปักหลักทำมาหากินที่นี่ โดยกลุ่มนี้จะแตกต่างจากบ้านนากอ คือ ไม่ออกหาอาหารในป่าแล้ว จะหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างถางป่าตัดยาง ซึ่งพวกเขา โชคดีที่เจอเจ้าของที่ดินใจบุญให้พื้นที่อาศัยปลูกบ้านอยู่ และให้ตัดยางถางป่า
“เรามี 30 กว่าคนที่เข้ารับศาสนาอิสลาม หลังจากผู้นำศาสนารับปากจะดูแลเป็นอย่างดี ตอนนี้เราละหมาดเป็นแล้ว พูดได้ 3 ภาษา ๆ ไทย ภาษายาวี และภาษาออแรสาแก ภาษาของพวกเรา เพราะพวกเราจะเรียนหนังสือด้วย ในหนึ่งสัปดาห์เราจะได้เรียนหนังสือ 3 วันเกี่ยวกับหลักศรัทธา หลักปฏิบัติ และหลักการเขียน จนสามารถพูดตอบโต้ได้บ้างแล้วทั้งภาษาไทยและภาษายาวี” นายอับดุลอาซิ ซึ่งมีภรรยาหนึ่งคน และบุตร 9 คน กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
“เพราะความยากลำบากหลายอย่าง ถ้ายังอยู่ในป่าในเขา หากินยาก อยู่ก็ยาก จึงตัดสินใจออกมาอยู่นี่ ทำอาชีพรับจ้างทั่วไป ตอนนี้มีญาติพี่น้องอีกเป็นร้อยคนจะออกมา ถ้าพวกเราได้รับการดูแลเป็นอย่างดี” นายอับดุลอาซิ กล่าว
“เมื่อก่อนพวกเราจะย้ายถิ่นไปเรื่อย ด้วยเหตุผลของกินหมด และเมื่อมีคนตายในบ้าน เราก็จะหนีทันที ไม่อยู่แล้วที่นั้น ย้ายไปหากินที่อื่นต่อ ทิ้งศพบนบ้าน แล้วพวกเราก็ย้ายไป และจะไม่กลับไปหาอีกเลย เพราะคิดว่าวิญญาณจะมาหา เรามองวิญญาณไม่เห็น แต่เราจะได้ยินเสียง วิญญาณจะตามหาลูกหลานและคนในครอบครัว” นายอับดุลอาซิ กล่าวเพิ่มเติม
นายอับดุลอาซิ เล่าว่า เมื่อก่อนตอนอยู่ในป่า ตนเองทำงานเพียงแค่กินไปวัน ๆ หนึ่ง แต่ไม่มีเหลือ โดยแต่ละวันจะออกไปหาของป่า ขุดหัวมัน เมื่อต้มกินหมดแล้ว ในวันรุ่งขึ้นต้องไปหาอีก
“เวลาไปหาอาหารต้องไปคนเดียว ไปเยอะ ๆ ก็ไม่ได้ ของในป่ามีไม่เยอะ พอได้มาก็ต้องแบ่ง ไม่พอกินอีก เวลาไปก็จะเจอหมด ทั้งเสือ ช้าง สัตว์ดุร้าย ผีด้วย ผีไม่มีตัวตนแต่มีเสียง ทุกคนได้ยินพร้อม ๆ กัน คิดแบบนั้นก็เลยสงสารลูกหลาน เข้ารับอิสลาม ไม่ย้ายถิ่นไปไหนแล้ว ถ้าได้รับการดูแลเป็นอย่างดีตามที่ผู้นำรับปาก ทุกวันนี้ ข้าวสาร 5 กก. ก็สามารถกินได้นานถึง 5 วัน เรามีเวลาไปทำงานอื่นรับมีเก็บได้” นายอับดุลอาซิ กล่าว
เจ้าหน้าที่พบปะชาวมานิอีก เกือบสองร้อยราย
ในวันนี้ นายประเวศ หมีดเส็น ผอ.กองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศอ.บต. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ยังได้ไปพบกับชาวโอรังอัสลี ที่อาศัยอยู่ตามแนวเทือกเขาสันกาลาคีรี ในพื้นที่ อ.บันนังสตา 50 ราย ที่ธารโต 80 ราย ที่จะแนะ 38 ราย ที่ ศรีสาคร 10 ราย รวมประมาณ 178 ราย
ทั้งนี้ เมื่อปลายปี 2563 เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการมอบสัญชาติไทยและบัตรประจำตัวประชาชน ให้ชาวโอรังอัสลีที่บ้านนากอ ต.อัยเยอร์เว เบตง ยะลา ไปแล้ว โดยเป็นเด็ก 12 คน และผู้ใหญ่ที่ได้รับบัตรประชาชน จำนวน 44 คน พร้อมได้แจกจัดสรรที่ทำกินที่ยังคงเอกลักษณ์และอนุรักษ์ป่าให้อีก 30 ไร่
“ล่าสุดวันนี้ ขึ้นเขามาทำความเข้าใจกับโอรังอัสลีอีกกลุ่มในพื้นที่อำเภอบังนังสตาและอำเภอธารโต จังหวัดยะลา ที่บ้านเขาน้ำตก ต.ตลิ่งชัน อำเภอบังนังสตา เป็นที่หมายแรก ขึ้นเขาไปพอสมควร จากเขื่อนบางลาง เดินทางไปตามหุบเขาประมาณ 1 ชั่งโมง พบกับกลุ่มนี้มี ประมาณ 50 คน มีหัวหน้าทับหรือหัวหน้าเผ่า อายุเกือบ 90 ปี ยังคงเอกลักษณ์และอนุรักษ์ความเป็นโอรังอัสลีแบบดั้งเดิม” นายประเวศ กล่าว
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังได้ไปที่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 7 ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต ซึ่งพบโอรังอัสลี แตกอออกเป็น 3 กลุ่มๆ ละประมาณ 30 คน เนื่องจากหัวหน้าเผ่าเพิ่งเสียชีวิต คนรุ่นถัดมาจึงออกมาสร้างอาณาจักรของตนเอง
นายประเวศ กล่าวว่า สำหรับโอรังอัสลีกับการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด ในพื้นที่ป่าที่ล้อมรอบไปด้วยน้ำเหนือเขื่อนบางลางที่หายไปเกือบหมด วิถีที่อยู่กับป่าเปลี่ยนไป ต้องทำอาชีพรับจ้างและกรีดยาง
“ทุกคนมี โทรศัพท์มือถือ เล่นยูทูบ เล่นไลน์ แต่ยังคงเอกลักษณ์และรักษาพื้นป่าที่เหลือน้อยนิด ทางเราจะต้องขึ้นมาที่นี่อีกหลายครั้ง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มนี้ ทั้งดำเนินการทำบัตรประชาชน มอบที่ทำกิน” นายประเวศ กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จังหวัดสงขลา ทางจังหวัดสตูล ได้มีการให้บัตรประชาชนแก่ชาวมานิไปแล้ว 313 คน ซึ่งชาวมานิ อาศัยอยู่ในจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล ยะลา และนราธิวาส
จากข้อมูลของนายชุมศักดิ์ นรารัตน์วงค์ วิจัยชุมชน ที่ได้เข้าศึกษาวิถี โอรังอัสลี หรือซาไก ตามแถบเขาสันกาลาคีรีแนวเขตไทย-มาเลเซีย พบว่าดินแดนของโอรังอัสลี ในประวัติศาสตร์ มีความสัมพันธ์ผูกติดกับโลกมาลายู โอรังอัสลี เป็นภาษามาลายู “โอรัง” แปลว่าคน “อัสลี” แปลว่าดั้งเดิม โอรังอัสลี คือคนดั้งเดิมที่เป็นชาวบูกิตหรือชาวป่า
โอรังอัสลี เป็นมนุษย์โบราณสันนิษฐานกันว่า มีมาตั้งแต่สมัยยุคหิน 1,500–10,000 ปี มาแล้ว ลักษณะเด่นคือ รูปร่างเตี้ย ผิวดำ ฝีปากหนา ท้องป่อง น่องสั้นเรียว ผมหยิกเป็นก้นหอยติดศีรษะ ชาติพันธุ์นิกรอยด์ หรือ เนกริโต ตระกูลออสโตร–เอเชียติก อยู่กระจายกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ราว 7-60 คน ในรัฐเคดาห์ (ไทรบุรี) สหพันธรัฐมาเลเซีย พื้นที่ส่วนลึกของนิวกินี ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะอันดามัน เรียกตนเองว่า ‘มันนิ’ (Mani) ส่วนคนทั่วไปมักเรียกว่า เงาะป่า ซาแก โอรัง อัสลี หรือ กอย พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในป่า มีวิถีแบบพึ่งพิง ใช้ประโยชน์ป่าควบคู่กับดูแลรักษา เพราะที่นั่นคือบ้านของพวกเขา