ยอดติดโควิดรายใหม่ 13,798 ราย เสียชีวิต 144 ราย “โฆษก ศบค.” เตือนอย่าเพิ่งการ์ดตก ชี้คนติดเชื้อยังมากกว่าคาดการณ์ ระบุงานศพ-อีเวนต์-ตลาดยังเสี่ยง “บิ๊กตู่” สั่งแหล่งท่องเที่ยวจัดแผนรับช่วงไฮซีซั่น “สธ.” เร่งคุมโควิดภูเก็ตกันกระทบท่องเที่ยว “หมอประสิทธิ์” ห่วงเปิดประเทศ 1 ต.ค.ทำโควิดพุ่ง สะกิดรัฐดูบทเรียนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ พ้อหมอ-พยาบาลยังไม่ได้พักต้องเจองานหนักอีก “กทม.” เลื่อนเปิดรับนักท่องเที่ยว 15 ต.ค. เล็งขยายต่างชาติเที่ยวอีก 4 จว.
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,798 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 13,325 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 12,117 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,208 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 451 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 22 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,420,340 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 14,133 ราย ยอดรวมหายป่วยสะสม 1,277,029 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 128,546 ราย อาการหนัก 3,994 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 806 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 144 ราย เป็นชาย 77 ราย หญิง 76 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 106 ราย มีโรคเรื้อรัง 30 ราย หญิงตั้งครรภ์ 1 ราย ที่ จ.นราธิวาส เสียชีวิตที่บ้าน 2 ราย ที่ กทม.และสตูล โดยจังหวัดที่เสียชีวิตมากที่สุดคือ กทม. 43 ราย ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตสะสม 14,756 ราย ส่วนสถานการณ์โลกมีผู้ป่วยสะสม 226,661,161 ราย เสียชีวิตสะสม 4,662,880 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 2,772 ราย สมุทรปราการ 1,351 ราย ชลบุรี 835 ราย ระยอง 680 ราย ราชบุรี 487 รายสมุทรสาคร 404 ราย นนทบุรี 359 ราย นราธิวาส 354 ราย ปราจีนบุรี 345 ราย และสงขลา 327 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จากกราฟการติดเชื้อโดยรวมของประเทศจะเห็นภาพภูเขาสูงกำลังลดลง แต่ก็มีบางพื้นที่ที่กราฟยังขึ้นอยู่ เช่น ในเรือนจำและสถานที่ต้องขัง รวมถึงจังหวัดอื่นๆ 48 จังหวัด นอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ดังนั้นจึงขอว่าทุกคนการ์ดต้องไม่ตกเพื่อจะได้ลงมากกว่านี้ และถ้าดูข้อมูลฉากทัศน์การประเมินแนวโน้มการติดเชื้อในประเทศ พบว่าสถานการณ์จริงยังสูงกว่าการคาดการณ์ จำนวนผู้ติดเชื้อที่เป็นผลจากมาตรการล็อกดาวน์ เราต้องการให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำกว่าการคาดการณ์ ดังนั้นการล็อกดาวน์อย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องรวมหลายมาตรการ เช่น การป้องกันส่วนบุคคลแบบครอบจักรวาล เมื่อออกจากบ้านต้องคิดอยู่เสมอว่าคนรอบข้างมีโอกาสติดเชื้อ
“ในที่ประชุม ศปก.ศบค.มีการสรุปว่า ในปัจุบันยังคงมีพื้นที่เสี่ยงการติดเชื้อคือ งานศพ งานอีเวนต์ ตลาด ร้านอาหาร โรงงาน สถานประกอบการ แคมป์ก่อสร้าง บางทีมีการเลี้ยงสังสรรค์ที่ละเมิดกฎหมายเป็นกลุ่มก้อน ตรงนี้ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน เช่น ถ้าอยากให้แคมป์ก่อสร้างทำงานต่อไปได้ก็ต้องชัดเจนเรื่องมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล เพราะปัจจุบันในพื้นที่ กทม.การติดเชื้อในกลุ่มนี้มีตัวเลขเพิ่มขึ้นจากหลักหน่วยเป็นหลักสิบ ดังนั้นทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
นอกจากนี้ ศปก.ศบค.ยังได้หารือตอนนี้ใกล้ถึงฤดูกาลท่องเที่ยวแล้ว และได้รับรายงานเรื่องการทำงานของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์พบยอดการจองที่พักช่วง 1 ก.ค.-14 ก.ย.นี้ สะสม 76 วัน ประมาณ 524,221 คืน จำนวนคน 32,005 คน และพบว่าจากการตรวจหาเชื้อในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 พบผู้ติดเชื้อเพียง 91 คน ส่วนใหญ่พบเชื้อเดลตา ส่วนการติดเชื้อใหม่ในพื้นที่ มีรายงานว่า 229 ราย มีทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในพื้นที่ภูเก็ต แต่ชาวต่างประเทศนั้นเป็นศูนย์
ห่วงเปิด ปท.หมอเหนื่อยอีก
ถามว่า ศบค.มีแผนการรับการท่องเที่ยวที่จะเปิดประเทศในวันที่ 1 ต.ค.อย่างไรบ้าง นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. สั่งการว่าให้มองไปถึงในช่วงที่เรามีฤดูกาลท่องเที่ยวในภาคปกติ คือ ไตรมาส 4 ของทุกปี หรือไฮซีซั่น เพื่อที่จะดูว่าเราจะต้องเตรียมตัวอะไรกันอย่างไร โดยให้ไปดูในพื้นที่เพื่อที่จะประกาศพื้นที่นำร่อง คือ 1.พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวปลอดภัยจากโควิด-19 หรือโควิดฟรี ทัวริสต์แอเรีย แซนด์บ็อกซ์ ที่มีภูเก็ตแซนบ็อกซ์ทำเป็นตัวอย่างมาแล้ว จึงได้มอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ไปร่วมกันพิจารณา เช่น พื้นที่เกาะ พื้นที่ที่มีสนามบิน
“ส่วนระยะที่สองก็อาจจะเป็นพื้นที่อื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นในช่วงระยะเวลา 15 ค.ค.-1 พ.ย.ไปแล้ว ที่อาจจะเปิดพื้นที่ที่มีความพร้อมอื่นๆ เช่น ทะเลในภาคตะวันออก ภูเขาในภาคเหนือ หากพร้อมก็ให้ทดลองดำเนินการ” โฆษก ศบค.กล่าว
ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หลัง จ.ภูเก็ต พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 200 กว่าราย เป็นคนในพื้นที่จากการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในพื้นที่ ขณะที่นักท่องเที่ยวโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์กว่า 30,000 คน พบผู้ติดเชื้อเพียง 89 ราย จากระบบการคัดกรองที่เข้มงวดตั้งแต่ก่อนเข้าประเทศ รวมทั้งได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดมาแล้ว และเฝ้าระวังกำกับติดตามระหว่างท่องเที่ยวในจังหวัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ขณะนี้ สธ.ได้ส่งทีมจากกองระบาดวิทยา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่สนับสนุนการป้องกันควบคุมโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต
“นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ ได้สั่งการให้เร่งป้องกันควบคุมโรค จัดสรรวัคซีนเพิ่มให้กลุ่มเสี่ยงกลุ่มใหม่ในพื้นที่ เพื่อให้ทุกคนมีความปลอดภัย ได้ทำงาน มีรายได้ และเดินหน้าเศรษฐกิจไปได้” ปลัด สธ.กล่าว
ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงการเดินหน้าเปิดประเทศในวันที่ 1 ต.ค.ว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาไม่น่ากลัว เพราะทั่วประเทศก็เป็นสายพันธุ์นี้กันเกือบหมด ที่ห่วงคือสายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น และมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน โดยการเปิดประเทศให้มีการท่องเที่ยวเกิดขึ้น เข้าใจว่าน่าจะเป็นการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาของเศรษฐกิจ แต่อยากให้นำบทเรียนของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มาประกอบการพิจารณาด้วย เพราะแม้ฉีดวัคซีนครบหมดแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อ และหากยกเลิกมาตรการกักตัวหรือ Quarantine ก็น่าเป็นห่วง เพราะการทำแซนด์บ็อกซ์ หมายถึงการพิสูจน์ การทดลองในการจำลองเหตุการณ์บางพื้นที่เท่านั้น ไม่ใช่พื้นที่ทั้งหมด ไม่เกิดผลกระทบวงกว้าง และสามารถยกเลิกหรือแก้ไขได้
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ในการเปิดประเทศที่ไทยกำลังจะทำนี้ ต้องถือว่าเปิดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ อันนี้มองในทางวิชาการ เพราะการเปิดประเทศในต่างประเทศหมายความว่าประเทศนั้นๆ มีการฉีดวัคซีนเกิน 70% แต่สำหรับประเทศไทย ขณะนี้การฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ยังแค่ 38% เข็ม 2 เพียง 18% เท่านั้น หากต้องการความชัวร์ว่าเปิดจริงมีความปลอดภัย ต้องฉีดวัคซีนเข็ม 1 ให้ได้ 60% และเข็ม 2 ต้องได้ 40-50% แต่จะเร่งฉีดตอนนี้ก็คงไม่ได้ ความจริงหากจะเปิดประเทศ รออีกสัก 1 เดือนก็ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างพร้อมจริงๆ ดังนั้นใครทำอะไรต้องรับผิดชอบด้วย
“ต่อจากนี้การทำงานของแพทย์ก็คงต้องกลับมาเหนื่อยกันอีก ยังแทบไม่ได้พักกันเลย ตอนนี้สิ่งที่ห่วงคือ หากมีการกลับมาระบาดอีก เตียงผู้ป่วย เตียงไอซียูต้องเพียงพอ ไม่ควรต้องเผชิญกับเตียงไม่พออีก และหวังว่าจะไม่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่มีผลต่อวัคซีน” คณบดีแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลกล่าว
กทม.รับนักท่องเที่ยว 15 ต.ค.
วันเดียวกัน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวภายหลังการหารือกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการเตรียมความพร้อมเปิดกรุงเทพฯ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติว่า จากการหารือได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะเปิดกรุงเทพฯ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาได้ล่าช้า จากกำหนดเดิมคือ 1 ต.ค.64 ไปประมาณ 2 สัปดาห์ หรือจะเริ่มเปิดรับได้ในวันที่ 15 ต.ค.64 เป็นต้นไป เพราะคนกรุงเทพฯ ยังได้รับวัคซีนไม่ครบกำหนด 2 เข็ม เกิน 70% ของประชากร และการเปิดกรุงเทพฯ ครั้งนี้ จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้ทั่วทั้งกรุงเทพฯ ไม่เหมือนพื้นที่นำร่องอื่นๆ ที่เปิดเฉพาะพื้นที่เมืองท่องเที่ยวสำคัญเท่านั้น เพราะหากเปิดเป็นบางเขตหรือบางพื้นที่จะทำให้ยากต่อการควบคุม
“ในพื้นที่อื่นๆ ที่เตรียมเปิดอีก 4 จังหวัด คือ ชลบุรี (พัทยา) อ.บางละมุง อ.สัตหีบ, เชียงใหม่ อ.เมือง อ.แม่แตง อ.แม่ริม อ.ดอยเต่า, เพชรบุรี อ.ชะอำ และประจวบคีรีขันธ์ อ.หัวหินนั้น ยังยืนยันว่ามีความพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยพื้นที่ใดมีความพร้อมก็ดำเนินการได้ตามแผน โดยจะเสนอที่ประชุม ศปก.ศบค.ใน 1-2 วันนี้ และเสนอที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ศบศ.อีกครั้งในเดือน ก.ย.นี้เห็นชอบ โดยคาดว่าทั้งปี 64 หากเป็นไปตามแผน จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 1 ล้านคน” รมว.การท่องเที่ยวฯ กล่าว
ที่รัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรส่งเจ้าหน้าที่เข้าทำความสะอาด เช็ดถูและพ่นยาฆ่าเชื้อห้องทำงานสื่อมวลชนประจำรัฐสภา หลังพบผู้สื่อข่าวติดเชื้อโควิด-19 และเข้ามาทำงานที่รัฐสภา รวมถึงทำความสะอาดห้องแถลงข่าว ซึ่งเป็นไปตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ขณะเดียวกันก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะมีการตรวจ ATK ให้กับ ส.ส.และเจ้าหน้าที่ รวมถึงสื่อมวลชนด้วย ทั้งนี้ จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 15-16 ก.ย. และจะมีการประชุมร่วมรัฐสภา 17 ก.ย. จากนั้นจะปิดสมัยประชุมรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.เป็นต้นไป
ที่ทำเนียบรัฐบาลมีรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 3 ราย หลังจากพบเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา 1 ราย รวมแล้วขณะนี้ 4 ราย.