25 กรกฎาคม 2564 | โดย ทีมคุณภาพชีวิต
1,604
‘วัคซีนโควิด 19’ กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ไทยกำลังประสบอยู่ และเกิดคำถาม ข้อเรียกร้องจากประชาชนมากมาย ให้รัฐบาล จัดหาจัดสรรวัคซีนที่มีคุณภาพฉีดให้ครอบคลุมประชาชนทุกคน
จากการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) (ศบค.) ครั้งที่ 10/2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบถึงแนวทางการจัดสรรวัคซีน แผนการกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ระหว่างวันที่ 19 ก.ค.- 31ส.ค. 2564
- 13 ล้านโดสเร่งกระจายวัคซีนใน 3 กลุ่มจังหวัด
โดยการพิจารณาจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ที่ได้จองฉีดวัคซีนล่วงหน้า คือ กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มจังหวัด ประกอบด้วย
1.กลุ่มจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และจังหวัดควบคุมสูงสุดบางจังหวัด จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และชลบุรี
2.จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภายหลังการระบาด และแผนเปิดการท่องเทียวระยะถัดไป จำนวน 18 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก หนองคาย สระแก้ว บุรีรัมย์ พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาเต่า) ตรัง พังงา และกระบี่
3.จังหวัดอื่น ๆ จำนวน 48 จังหวัด
- เกณฑ์การจัดสรรวัคซีน 15 ก.ค.-31 ส.ค.2564
มีการพิจารณา ดังนี้
1.จำนวนประชากรที่นำมาคำนวณมาจากฐานข้อมูลประชากรจากทะเบียนบ้านและประชากรแฝง
2.เป้าหมายฉีดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรจากทะเบียนบ้านและประชากรแฝงทุกกลุ่มอายุในแต่ละจังหวัด ทั้งผู้มีสัญชาติไทยและ ไม่มีสัญชาติไทย
3.เป้าหมายให้บริการวัคซีน 13,000,000 โดส (จำนวนวัคซีนที่จัดสรรจริงอาจปรับเปลี่ยนตามปริมาณวัคซีนที่ประเทศไทยจัดหาได้)
4.ประเภทการจัดสรรเป็นไปตามมติศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2564 แบ่งเป็น 3 กลุ่มจังหวัดตามที่เสนอ โดยเกณฑ์การจัดสรรจะพิจารณาจากปัจจัย ได้แก่ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ได้ลงทะเบียนจองวัคซีนล่วงหน้าในเดือนก.ค. – ส.ค.2564 การให้วัคซีนเพื่อป้องกันเชิงรุกในพื้นที่ระบาดใหม่ โควตาประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตน (กทม. + 12 จังหวัด) และจำนวนประชากรแต่ละจังหวัด
5.กรณีจัดหาวัคซีนได้ไม่ถึง 13,000,000 โดส จะลดลงตามสัดส่วนวัคซีนที่ได้
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นว่าควรลดระยะเวลาการฉีดวัคซีน AstraZeneca จำนวน 2 โดส เป็น 8 สัปดาห์ ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 สูง และให้ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 เพิ่มเติม
- แนวทางการฉีดวัคซีนในประเทศไทย
แนวทางการฉีดวัคซีนแบบผสมสูตร ตามแนวทางมาตรฐาน ได้แก่
1.กรณีรับวัคซีน Sinovac เข็มที่ 1 และวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 ให้ฉีดห่างกัน 3 – 4 สัปดาห์
2.กรณีรับวัคซีน AstraZeneca จำนวน 2 เข็ม ให้ฉีดห่างกัน 10 – 12 สัปดาห์ โดยทั่วไปผู้รับวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอหลังจากฉีด ครบ 2 เข็ม แล้ว 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ กรณีการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุให้พิจารณารับวัคซีน AstraZeneca จำนวน 2 เข็ม และการฉีดวัคซีน Sinovac จำนวน 2 เข็ม จะฉีดเฉพาะกรณี
แนวทางการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ในบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม โดยสามารถได้รับการฉีดวัคซีน AstraZeneca หรือ Pfizer เป็นเข็มกระตุ้น 1 เข็ม หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ (สูตร Sv-Sv-Az หรือ Sv-Sv-Pf) ทั้งนี้ เมื่อมีวัคซีนเพียงพอและกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนแล้ว จะมีการพิจารณาการฉีดเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปในระยะถัดไป
แนวทางการจัดหาวัคซีน ในปี 2565 การจัดหาวัคซีนในกรอบ 120,000,000 โดส ต้องเร่งรัดการจัดหาวัคซีน โดยพิจารณาดำเนินการกับผู้ผลิตวัคซีนที่มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สองที่สามารถจะครอบคลุมไวรัสที่มีการกลายพันธุ์
โดยให้มีเป้าหมายการส่งมอบได้ภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 รวมทั้งการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบเพื่อรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส การกำหนดแนวทางการขึ้นทะเบียนวัคซีนที่และพัฒนาในประเทศ และสนับสนุนการศึกษาภูมิคุ้มกันระยะยาวของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 ตลอดจนการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ไวรัสกลายพันธุ์ในปี 2565 และความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เพิ่มเติม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ‘แอสตร้าฯ’ รับมีปัญหาผลิตวัคซีนในไทย แม้ห่วงระบาด แต่ส่งได้ 5-6 ล้านโดส/เดือน สิ้น ก.ค.ส่งมอบ 11.3 ล้านโดส
เช็ค! ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ ล็อต 5.5 แสนโดส ในพื้นที่สีแดงเข้ม 13จ.ใครได้ฉีดบ้าง?
‘วัคซีนไฟเซอร์ – แอสตร้าเซนเนก้า’ สองโดส ป้องกันเดลตาสูง
- ไทมไลน์แผนจัดสรรวัคซีนถึงสิ้นเดือนส.ค. 2564
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ส.ว. ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สาธารณสุข วุฒิสภา ได้โพสผ่าน Blockdit ‘ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย’ โดยข้อมูลจากศูนย์ปฎิบัติการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ขณะนี้ได้มีการประกาศไทม์ไลน์การฉีดวัคซีนโควิด ในช่วงตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.ถึงวันที่ 31 ส.ค.แล้ว โดยจะระดมฉีดวัคซีนจำนวน 13 ล้านโดส ภายใน 44 วัน คิดเป็นเฉลี่ยวันละ 2.95 แสนโดส แบ่งเป็นวัคซีน AstraZeneca 8 ล้านโดส Sinovac 5 ล้านโดส ตามพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
1.พื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 33%
2.พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) + ท่องเที่ยว จำนวน 10%
3.พื้นที่ 48 จังหวัดที่เหลือ จำนวน 15%
4.ระบบประกันสังคม จำนวน 15%
5.หน่วยงานของรัฐและสำรองตอบโต้กรณีฉุกเฉิน จำนวน 12%
6.ฉีดเข็มสอง ให้ผู้ที่ได้เข็มหนึ่งของ AstraZeneca แล้วจำนวน 12%
7.ฉีดกระตุ้นให้บุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 3%
โดยจะให้เน้นไปที่ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรังเป็นหลัก
- แผนจัดหาวัคซีน ไม่พอกับเป้าหมาย 100 ล้านโดส
นพ.เฉลิมชัย ระบุต่อว่าเมื่อดูจากตัวเลขดังกล่าว จะพบว่า ได้มีการฉีดวัคซีนมาแล้วจนถึงวันที่ 18 ก.ค.2564 จำนวน 14.22 ล้านโดส เมื่อรวมกับที่จะฉีดภายในสิ้นเดือนส.ค.นี้ อีก 13 ล้านโดส จึงรวมเป็น 27.22 ล้านโดส
เป้าหมายที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมูในการฉีดถึงสิ้นปีนี้ ธ.ค.2564 คือ 100 ล้านโดส จึงจะต้องฉีดเพิ่มอีก 72.78 ล้านโดส ในช่วงเวลาที่เหลือ ตั้งแต่ 1 ก.ย.-31 ธ.ค.2564 รวมเป็นเวลา 122 วัน คงต้องฉีดให้ได้เฉลี่ย 5.96 แสนโดสต่อวัน ซึ่งโดยศักยภาพของโรงพยาบาลรัฐ สามารถฉีดได้วันละ 5-7 แสนโดส จึงไม่ใช่ปัญหาเรื่องความสามารถในการฉีด แต่น่าจะเป็นประเด็นเรื่องปริมาณของวัคซีนที่จะจัดหามาให้ได้ครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้
โดยพบว่า วัคซีนที่จะต้องจัดหามาเพิ่มอีก 72.78 ล้านโดสนั้น ประกอบไปด้วย
1.AstraZeneca 20 ล้านโดส คือเดือนละ 5 ล้านโดส จำนวน 4 เดือน
2.Sinovac 12 ล้านโดส คือ เดือนละ 3 ล้านโดส
3.Pfizer 20 ล้านโดส บวกที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐฯอีก 1.5 ล้านโดส รวมเป็น 21.5 ล้านโดส
4.Moderna 5 ล้านโดส
5.Sinopharm 2 ล้านโดส
รวมเป็น 61.5 ล้านโดส ยังคงขาดวัคซีนที่ต้องเร่งจัดหามาภายในสิ้นปีอีก 11.28 ล้านโดส เฉลี่ยเดือนละ2.82 ล้านโดส ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายวิธี อาทิเช่น เจรจากับ AstraZeneca ให้จัดสรรวัคซีนเพิ่มให้กับไทย หรือนำเข้าวัคซีน Sinopharm เพิ่มขึ้น หรือนำเข้าวัคซีน johnson & Johnson หรือวัคซีน Sputnik V จากรัสเซีย ตลอดจนวัคซีน Novavax เข้ามาเสริม คงจะต้องรอดูแผนและวิธีการดำเนินการต่อไป