กระปรี้กระเปร่า ไม่หิว และไม่เหนื่อยล้า เหล่านี้คือสรรพคุณบางอย่างที่ผู้ที่นำใบกระท่อมมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชา บางคนบอก จากที่พวกเขาต้องเคยต้องแอบทำแบบลับ ๆ ล่อ ๆ ปัจจุบัน พืชกระท่อมได้รับการปลดออกจากสถานะยาเสพติด มาเป็นพืชที่ประชาชนปลูกเพื่อการบริโภคและขายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
“ในแต่ละวันก็คิดถึงแต่เรื่องนี้ตลอด เช้า เที่ยง เย็น” ชายหนุ่มวัย 30 ปี ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เล่าให้บีบีซีไทยฟัง
เขาบอกว่าถ้าวันไหนยังไม่ได้ดื่มน้ำกระท่อม ก็จะต้องขวนขวายหามาดื่มจนได้ แต่เขาไม่ใช่คนเดียว คนอื่น ๆ อีกหลายคนในหมู่บ้าน ทั้งที่รุ่นราวคราวเดียวกัน หรืออายุน้อยกว่า และมากกว่า บางคนที่ดูทรงภูมิ น่าจะเคร่งครัดในทางศาสนา ก็ดื่มน้ำกระท่อมด้วยเหมือนกัน
ทุกวันนี้ชายหนุ่มเสียเงินราว 200-300 บาท ต่อวัน ไปกับการซื้อใบกระท่อมมาต้มดื่ม
“ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะหยุดเหมือนกัน ถ้าจะให้หยุดได้ ก็จะต้องไม่มีคนขายใบกระท่อม” เขาบอก
ชายชราคนหนึ่งในหมู่บ้านเล่าว่าทุกวันนี้วัยรุ่นดื่มน้ำกระท่อมกันอย่างเปิดเผย จากที่เคยหลบ ๆ ซ่อน ๆ
ไม่ผิดกฎหมายจริงหรือ
พืชกระท่อมเคยเป็น 1 ในพืช 4 ชนิดที่อยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ของ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้แก่ กัญชา พืชกระท่อม พืชฝิ่น และเห็ดขี้ควาย
แต่เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2564 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญคือการปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ
ในตอนนั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอธิบายว่า พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 8 นี้ จะส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกและบริโภคกระท่อมตามวิถีชาวบ้าน รวมทั้งยังซื้อหรือขายใบกระท่อมโดยไม่ผิดกฎหมาย แต่หากมีการนำไปผสมยาเสพติดอื่น ๆ เช่น “สี่คูณร้อย” ซึ่งเป็นสารเสพติดที่เกิดจากการนำยาน้ำแก้ไอมาผสมกับใบกระท่อม ยังถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย
เมื่อต้นเดือนกันยายน 2564 สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม กำหนดแนวทางดูแลการปลูก การขาย การนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และกำหนดมาตรการป้องกันการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิด เช่น ห้ามขายใบกระท่อม น้ำต้มใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร
ทว่า ในความเป็นจริงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การออกกฎหมายนี้ ไม่ได้ช่วยลดปัญหาการใช้พืชกระท่อมในทางที่ผิด
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ บอกบีบีซีไทยว่า พืชกระท่อมมีผลกระทบกับเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งยังคงนำไปผสมกับส่วนผสมอื่น เป็นเครื่องดื่ม “สี่คูณร้อย” ซึ่งทำให้เกิดอาการมึนเมา นอกจากนี้ยังพบว่านอกจากการขายใบกระท่อมตามท้องถนนแล้ว ยังมีการค้าขายทางสื่อออนไลน์ ทั้งที่เป็นข้อห้ามในกฎหมาย
ส.ส.พรรคประชาชาติ คิดว่าการกระทำผิดเช่นนี้ เป็นเพราะชาวบ้านเข้าใจผิดว่าสามารถทำได้อย่างเสรีเต็มที่ เขาเห็นว่ารัฐบาลควรจะประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง
- 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพืชกระท่อมในวันพ้นสถานะ “ยาเสพติดให้โทษ”
- กัญชา: พืชร้ายหรือสมุนไพรทางเลือก
- จะเกิดอะไรตามมาเมื่อปลดสารสกัดกัญชา-กัญชง ออกจากบัญชียาเสพติด
- น้ำมันกัญชา : ทำความเข้าใจ ปลดล็อกสารสกัดกัญชา-กัญชง ออกจากบัญชียาเสพติด
ใช้ทางการแพทย์ได้
ไทยออกกฎหมายควบคุมการครอบครอง ปลูก เสพ ซื้อ ขายพืชกระท่อมเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 8 เมื่อมีการตรา พ.ร.บ. พืชกระท่อม พ.ศ. 2486 และเมื่อมีการออก พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 พืชกระท่อมก็ถูกควบคุมอย่างต่อเนื่องในฐานะ “ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5” ซึ่งมีพืชเสพติดจัดอยู่ในประเภทนี้ทั้งหมด 4 ชนิด นอกจากกระท่อมแล้วก็มีกัญชา ฝิ่นและเห็ดขี้ควาย
ต่อมาในปี 2562 มีการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เพื่อปลดล็อกให้มีการใช้กัญชาและพืชกระท่อมในทางการแพทย์ ขณะที่การเสพ ครอบครอง ขาย นำเข้าหรือส่งออกพืชกระท่อมที่นอกเหนือจากนี้ยังถือว่าเป็นความผิด มีโทษทั้งจำคุกและปรับ
ปลดออกจากบัญชียาเสพติด-ยกเลิกบทลงโทษ
สำหรับการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษครั้งล่าสุดนี้ (ฉบับที่ 8) เป็นการปลดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ รวมทั้งยกเลิกบทลงโทษทั้งหมดที่เกี่ยวกับพืชกระท่อม
พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2564 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ส.ค. 2564 โดยระบุถึงเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ว่า :
“โดยที่ปัจจุบันพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่ในหลายประเทศมิได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ประกอบกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 และพิธีสารแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1972 มิได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลและบริบทของสังคมไทยในบางพื้นที่ที่มีการบริโภคพืชกระท่อมตามวิถีชาวบ้าน สมควรยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5”
นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยผู้กระทำความผิดตามกฏหมายพืชกระท่อมจำนวน 1,038 ราย โดยถือว่าไม่เคยกระทำความผิด แต่ผู้ที่ทำผิดในคดีที่เกี่ยวกับสารเสพติด “สี่คูณร้อย” จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายนี้
ยังไม่เสรีทั้งหมด
การนำพืชกระท่อมไปผสมยาเสพติดอื่น ๆ เช่น “สี่คูณร้อย” ยังถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย
สี่คูณร้อย คือสารเสพติดที่เริ่มแพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงปี 2547 เป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมหลัก 4 อย่าง คือ น้ำต้มใบกระท่อม น้ำอัดลมประเภทโคล่า ยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของโคเดอีน และยากันยุง มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้เสพเมามาย
นอกจากนี้ การนำพืชกระท่อมไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 และการนำไปขายเป็นลักษณะแปรรูปเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ก็ยังทำไม่ได้เนื่องจากผิด พ.ร.บ อาหาร พ.ศ. 2522
+++++
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว