ผ้าบาติก หรือผ้าปาเต๊ะ มาจากภูมิปัญญาที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี สงขลา นราธิวาส เป็นแหล่งผลิตผ้าบาติกแหล่งใหญ่ ด้วยกรรมวิธีการทำที่เรียกว่า “แฮนด์เมด” เริ่มจากการพิมพ์เทียนและย้อมผ้าออกมาเป็นผลงานสีสันสดใส ส่วนลวดลายก็เป็นกุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของ “คนเล” ที่อาศัยริมทะเล ทำอาชีพประมง ช่วยสร้างบรรยากาศการเดินชายทะเลได้อย่างดี
แต่ด้วยเทรนด์แฟชั่นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้มีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าของผู้คน ทำให้ชาวบ้านที่ทำผ้าบาติกต้องปรับตัว มีการนำนักออกแบบหรือดีไซเนอร์เข้ามาช่วยพัฒนาลวดลายบนผ้าบาติกให้ร่วมสมัยมากขึ้น และมีหน่วยงานรัฐอย่างสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้ออกมาช่วยอีกแรง โดยจัดทำโครงการผ้าไทยร่วมสมัยพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และ 4 อำเภอของสงขลา (จะนะ, เทพา, นาทวี และสะบ้าย้อย) จนมีการพัฒนาผ้าบาติก และมีผลงานผ้าบาติกต่อเนื่องถึงปัจจุบันกว่า 200 ผลงาน ทั้งในส่วนของเสื้อผ้า เครื่องประดับ รองเท้า หรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ
เท่านั้นไม่พอ วธ.ยังได้ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนใต้ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) จัดโครงการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกาย “ผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้” (Contemporary Southern Batik) ภายใต้แนวคิด Batik City เปิดเวทีให้กับนิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสในการนำผ้าไทยมาใช้ในการออกแบบเครื่องแต่งกาย สามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้-22 มีนาคม 2564 ที่ www.ocsc.go.th
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี วธ. กล่าวว่า จากความสำเร็จของโครงการผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ที่จัดมาอย่างต่อเนื่อง ที่มีองค์ความรู้และฝีมือศิลปวัฒนธรรมชุมชนในการสร้างสรรค์ผ้าบาติกซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ด้วยการนำดีไซเนอร์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนในการพัฒนาลวดลายผ้า และการนำนักออกแบบผลิตภัณฑ์ไปร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้า โดยสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบและจัด Workshop ให้คนในพื้นที่ได้ลงมือผลิตชิ้นงานเองมาอย่างต่อเนื่อง
“การประกวดครั้งนี้เป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้ภูมิปัญญายังคงดำรงอยู่ ในปีนี้จึงอยากที่จะขยายเวทีไปถึงนิสิตนักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่ในการนำเสนอไอเดียการดีไซน์ผ้าบาติก เพื่อตอบโจทย์การสวมใส่สำหรับคนหนุ่มสาวมากยิ่งขึ้น โดยมีแฟชั่นดีไซเนอร์ที่ลงไปพัฒนาลายผ้าร่วมกับชุมชน จะเป็นที่ปรึกษาและคณะกรรมการตัดสิน อาทิ ศิริชัย ทหรานนท์, ธีระ ฉันทสวัสดิ์, เอก ทองประเสริฐ, หิรัญกฤษฏิ์ ภัทรบริบูรณ์กุล และบัญชา ชูดวง ก่อนที่ผลงานทั้งหมดจะได้รับการนำไปจัดแสดงนิทรรศการเพื่อแผยแพร่สู่สาธารณชนต่อไป” ปรเมศวร์ กล่าว
ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี วธ.
ด้านดีไซเนอร์ ธีระ ฉันทสวัสดิ์ เจ้าของแบรนด์ T-ra บอกว่า จากการลงไปทำงานกับชาวบ้าน ถือว่าต้องใช้การเรียนรู้ทั้งตัวเราและชาวบ้าน ซึ่งการเข้าไปบอกให้เขาเปลี่ยนเลยอาจจะยาก ดังนั้นจะต้องให้เขาได้ลองทำ โดยตนก็ได้เพิ่มเทคนิคการบิดผ้าและย้อมสีลงไป มีการบอกเทรนด์สีที่กำลังนิยม ซึ่งก็ได้สีสันที่กลมกล่อมมากยิ่งขึ้น และทำให้งานขายดีมากยิ่งขึ้น โดยที่วิธีการทำดั้งเดิมก็ยังคงอยู่ทั้งการเขียนสีหรือพิมพ์เทียน เพียงแต่เราเข้าไปเสริมหรือพัฒนาในส่วนของลวดลาย หรือสีให้ตอบโจทย์คนยุคใหม่และใส่ได้จริง
“ ในส่วนของการประกวดออกแบบผ้าติกจริงๆ นั้นไม่ได้ยาก แต่อยู่ที่ว่าเราจะแปรความสวยงามของผ้าให้ออกมาเป็นเสื้อผ้าได้อย่างไร เราต้องเน้นการใส่ใช้งานได้จริงๆ ไม่ใช่การออกแบบสวยแต่ไม่สามารถใส่ได้จริง ส่วนสีสันที่ฉูดฉาดก็ต้องลงตัวด้วยเช่นกัน และคณะกรรมการทุกคนก็จะดูดีเทลทั้งการตัดเย็บ ปัก ทอ ความคิดสร้างสรรค์ การนำเสนอมุมมองใหม่ๆ หรือการนำผ้าอื่นๆ มาผสมผสาน ก็ขอให้ผ้าบาติกยังคงเอกลักษณ์ไว้” เจ้าของแบรนด์ T-ra กล่าว
ธีระ ฉันทสวัสดิ์ และ เอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์ชื่อดัง
เอก ทองประเสริฐ เจ้าของแบรนด์ Ek Thongprasert เสริมว่า ผ้าบาติกของทางภาคใต้นั้น แม้อาจจะไม่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายเมื่อเทียบกับผ้าไหมจากภาคอีสาน แต่อย่างไรก็ดี ผ้าบาติกนั้นมีศักยภาพที่น่าจับตาในการพัฒนาเข้าสู่ตลาด ด้วยราคาและคุณลักษณะที่ร่วมสมัย และการดูแลที่ง่าย สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน เพราะในส่วนของตนที่ได้ลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้าน ที่เน้นการใช้บล็อกซึ่งเป็นเทคนิคปาเต๊ะที่สืบทอดมาทางมาเลเซีย ทำให้ภาพลักษณ์ขยายวงกว้างในการสวมใส่มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ใส่ไปทะเล ทั้งนี้ แพตเทิร์นหรือลวดลายทั้งหมดนี้ที่ปรากฏอยู่บนผืนผ้า ก็มาจากลวดลายผ้าที่เขาใส่ในชีวิตประจำวัน เพียงแค่เราหยิบมาปรับลายและสีให้ร่วมสมัย ใส่ง่าย ซึ่งจริงๆ แล้วผ้าบาติกที่ภาคใต้จะเป็นผ้าคอตตอนส่วนใหญ่ ถ้ามีการผสมผ้าอื่นก็เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมและมุมมองใหม่ๆ ได้ด้วย
ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 7 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อพัฒนางานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมกัน
ผู้ที่สนใจสามารถส่งแฟ้มผลงานได้ตั้งแต่วันนี้-22 มีนาคม 2564 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2204-3753 หรือติดตามรายละเอียดได้ที่ www.ocsc.go.th.