เผยแพร่:
ปรับปรุง:
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – เปิดรายละเอียดโครงการเสริมรั้วแนวชายแดนไทย-มาเลย์ ตามที่ กอ.รมน.เสนอของบกว่า 600 ล้านบาทจาก คปต.ที่มี “บิ๊กป้อม” นั่งเป็นประธาน พบขอสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง 7.5 กม. วงเงิน 467 ล้านบาท รั้วเหล็ก 15 กม. วงเงิน 114 ล้านบาท รั้วความมั่นคงอิเล็กทรอนิกส์ 6 กม. วงเงิน 52.7 ล้านบาท
จากกรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เสนอโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดระเบียบชายแดนกิจกรรมการเสริมสร้างรั้วตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ระยะเร่งด่วน แนวเขตชายแดนพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส งบประมาณเบื้องต้น 642,813,287.13 บาท ต่อที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานนั้น
โครงการดังกล่าวเป็นไปตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในคราวประชุมขับเคลื่อนฯ ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อเดือน พ.ย. 2560 จากนั้น ในการประชุมร่วมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับหน่วยงานล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค. 2563 กอ.รมน.ได้รับความเห็นชอบให้ขอรับสนับสนุนงบกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นกรณีเร่งด่วนในการดำเนินโครงการ เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน และรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ รวมถึงควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับกิจกรรมที่ กอ.รมน.เสนอ ประกอบด้วย (1) การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ริมแม่น้ำสุไหงโก-ลก บริเวณเขต อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ระยะทาง 7.528 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณที่ขอ 467,023,729.84 บาท (2) ก่อสร้างรั้วตาข่ายเหล็กชายแดนสูง 2 เมตร ระยะทาง 15 กิโลเมตร วงเงินที่ขอ 114,687,66.27 บาท
(3) ก่อสร้างรั้วความมั่นคงอิเล็กทรอนิกส์ตามแนวทางชายแดน ระยะทาง 6 กิโลเมตร วงเงินขอ 52,750,400 บาท บริเวณชุมชนบ้านตาบา ต.เจ๊ะเห ต.เกาะสะท้อน ต.โฆษิต และ ต.นานาค (4) การสร้างฐานปฏิบัติการชุดเฝ้าตรวจชายแดนไทย-มาเลเซีย จำนวน 3 ฐาน ในพื้นที่บ้านตะเหลียง ต.เกาะสะท้อน บ้านศรีพงัน ต.เกาะสะท้อน และบ้านตาเซะ ต.นานาค อ.ตากใบ วงเงินขอ 6,051,511.02 บาท และ (5) การอำนวยการและการสร้างความเข้าใจ วงเงินขอ 2,300,000 บาท
กอ.รมน.มีแผนงานก่อสร้างระหว่างเดือน ต.ค. 2564 – ก.ย. 2567 อย่างไรก็ตาม แผนงานที่เสนองบประมาณเพื่อจัดการโควิด-19 ระลอกใหม่ มีการเตรียมเสนอของบประมาณรายจ่ายบูรณาการในปี 2565
ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือถึงสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าว โดยระบุว่า กระทรวงมหาดไทย พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการดังกล่าวมีส่วนในการสนับสนุนภารกิจการป้องกันชายแดนตามยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง และอาจช่วยเสริมศักยภาพในการแก้ไขปัญหาการสูญเสียดินแดนจากน้ำกัดเซาะตลิ่งได้ โดยมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
(1) ควรสร้างความเข้าใจทั้งประชาชนไทยและมาเลเซีย เนื่องจากวิถีชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะริมฝั่งแม่น้ำสุไหงโก-ลก มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงการติดต่อค้าขาย ผ่านการข้ามแดนทางแม่น้ำโก-ลก มาตั้งแต่อดีต
(2) กรณีการดำเนินโครงการฯ ในที่ดินเอกชน เห็นควรดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 ส.ค. 2550 เกี่ยวกับหลักการและแนวทางปฏิบัติที่ทางราชการขอให้ราษฎรอุทิศที่ดินให้ หรือกรณีเข้าไปดำเนินการในที่ดินของเอกชนเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันที่สำคัญ คือ ให้หน่วยงานที่ได้รับอุทิศ หรือให้เข้าไปดำเนินการในที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน จัดทำหนังสือแสดงความประสงค์เกี่ยวกับการอุทิศ หรือยินยอมให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการ หากจดทะเบียนและนิติกรรมรับโอนที่ดินหรือใช้ประโยชน์ ร่วมกันกับสำนักงานที่ดินได้ ให้ดำเนินการด้วย
(3) กรณีงานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งและรั้วชายแดน ขอให้พิจารณาเรื่องสภาพภูมิประเทศ ปฐพีกลศาสตร์ และสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ ในส่วนของงานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งฯ ขอให้มีความพร้อม ในการจัดเตรียมวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะวัสดุหินใหญ่ที่ต้องใช้จำนวนมาก รวมทั้งต้องพิจารณาเรื่องระดับน้ำของแม่น้ำสุไหงโก-ลก ตามฤดูกาลต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งฯ
(4) เห็นควรดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 12 ต.ค. 2542 และ 10 พ.ค. 2548 ที่ระบุไว้ว่า “…หากจะมีการก่อสร้างถนนหรือกระทำกิจการใดๆ ตามบริเวณชายแดน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสันปันน้ำและหลักเขตแดน ให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบได้ประสานกับกองบัญชาการทหารสูงสุด โดยกรมแผนที่ทหาร และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อร่วมกันตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการ” รวมทั้งควรแจ้งประเทศมาเลเซียรับทราบก่อนดำเนินโครงการฯ เนื่องจากงานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งฯ อาจส่งผลต่อ เส้นทางเดินน้ำและผลกระทบต่อตลิ่งของประเทศมาเลเซีย