ต้องยอมรับความจริง การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ของไทยตั้งแต่ช่วงปลายปี 63 จนข้ามมาถึง ก.พ. 64 สาเหตุใหญ่มาจากแรงงานเถื่อนจากเมียนมา ที่ลักลอบเข้าเมือง จนมาแจ๊กพอตแตก ที่ตลาดกลางกุ้ง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยขณะนี้ในพื้นที่ อ.เมืองสมุทรสาคร ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) ยังคงยกให้เป็น พื้นที่การควบคุมสูงสุด (สีแดง) พร้อมงัดมาตรการ ตรวจสอบเชิงรุก ในกลุ่มแรงงานเมียนมาทุกวัน ยังคงพบผู้ติดเชื้อยอดสูงถึง 700-800 คน ทุกวัน จึงยังจำเป็นต้องคุมเข้มต่อเนื่อง
ในเมื่อชนวนเหตุใหญ่มาจากแรงงานเถื่อนที่หลบหนีเข้าเมือง ส่วนใหญ่มาทางโซนภาคตะวันตก แต่ในขณะเดียวกันช่วงเวลานี้ในโซนพื้นที่ภาคใต้ ก็ไม่ควรมองข้ามเช่นเดียวกัน !!
โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดตะเข็บชายแดนไทย-มาเลเซีย หลังจากประเทศมาเลเซีย ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศอีกครั้ง ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค. 64 พร้อมสั่งล็อกดาวน์การเดินทางใน 5 รัฐ เพื่อยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 หลังจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3 พันคนต่อวัน (ปัจจุบันมาเลเซีย อยู่อันดับ 3 ของประเทศในอาเซียน ยอดติดเชื้อรวมกว่า 2 แสนคน เสียชีวิต 791)
ตะเข็บชายแดนใต้พื้นที่เสี่ยงสูง
ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด ใน 13 รัฐ ของมาเลเซีย ตั้งแต่ต้นปี 2564 ยังมียอดสูงขึ้นต่อเนื่อง จนทำให้หวั่นวิตกบุคลากรทางการแพทย์มาเลเซียจะรับมือไม่ไหวทำให้ต้องประกาศสภาวะฉุกเฉินทั้งประเทศพร้อมสั่งปิดพรมแดน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น วันนี้ตามตะเข็บของจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เปรียบเป็น พื้นที่อันตราย ซึ่งต้องคุมเข้มมากกว่าปกติ กองทัพภาคที่ 4 ภายใต้การทำหน้าที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องแบกรับความรับผิดชอบ ด้วยการวางมาตรการตรวจสอบแนวชายแดน ไล่ตั้งแต่ อ.เบตง อ.ธารโต จ.ยะลา ที่ติดกับ รัฐเปรัค มาเลเซีย ส่วนชายแดนด้าน จ.นราธิวาส ตั้งแต่ อ.แว้ง อ.สุไหงโก-ลก อ.ตากใบ ติดกับรัฐกลันตัน ส่วนด้าน อ.สะเดา อ.นาทวี อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ที่ติดกับรัฐเคดาห์ และรัฐเปอร์ลิส และ อ.ควนโดน อ.เมือง จ.สตูล ติดกับรัฐเปอร์ลิส
กองทัพภาค 4 ต้องสนธิหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อช่วยกันสกัดกั้นทั้ง แรงงานไทย แรงงานต่างด้าวที่อาจจะหลบหนีจากมาเลเซีย ที่มีการแพร่ระบาดโควิด เข้ามาตามแนวช่องทางธรรมชาติ ที่ทอดยาวหลายจังหวัดจาก อ.เบตง จ.ยะลา จนถึงน่านน้ำฝั่งทะเลอันดามัน ของ จ.สตูล
ภายในประเทศมาเลเซีย มีทั้งแรงงานไทย จากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เข้าปักหลักทำงาน ทั้งแบบถูกต้องและไม่ถูกต้องไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน ซึ่งส่วนหนึ่งได้เดินทางกลับมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จากการระบาดของโควิดรอบแรก แต่ ปี 64 ยังมีแรงงานอีกส่วนหนึ่ง ที่ยังไม่ได้เดินทางกลับยังพักอยู่ในมาเลเซีย หวังจะรอให้สถานการณ์ดีขึ้นเพื่อจะได้ทำงานต่อ เพราะถ้ากลับมาเมืองไทยก็จะมีปัญหาเรื่องว่างงาน รวมทั้งถ้ากลับมาแล้วโอกาสที่จะกลับไปทำงานใหม่อีกครั้งริบหรี่ แต่เมื่อสถานการณ์ไม่ดีขึ้น หนำซ้ำยังมีการล็อกดาวน์ใน 5 รัฐห้ามเดินทางเข้า-ออก ส่งผลทำให้ทั้งแรงงานไทยและต่างด้าวไม่ว่าจะเป็นเมียนมา, สปป.ลาว, กัมพูชา และโรฮีนจา ฯลฯ ต่างกำลังหาช่องทางที่จะเดินทางกลับประเทศตัวเองกันแบบจ้าละหวั่น ด้วยการว่าจ้าง ขบวนการค้ามนุษย์ ให้ช่วยเหลือแอบลักลอบเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ
แม่ทัพภาค 4 วางมาตรการคุมเข้ม
ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้พูดคุยกับ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 กล่าวว่า พรมแดน จ.นราธิวาส เป็นจุดอันตรายที่สุดของแนวชายแดนที่ติดกับประเทศมาเลเซียในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ลงไปติดตามกำกับดูแล และประชุมหน่วยงานของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พลเรือน ตำรวจ ทหาร เพื่อร่วมมือกันในการวางมาตรการคุมเข้มชายแดนทั้งทางบก ทางน้ำ เพื่อป้องกันการลักลอบข้ามแดนจากประเทศมาเลเซียเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ต้องยอมรับว่า ยังมีความพยายามของผู้หลบหนีเข้าเมืองที่ยังใช้ช่องทางธรรมชาติ เพื่อเดินทางมายังฝั่งไทย ซึ่งกำลังของเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่าย ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการสกัดกั้น เพราะวันนี้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในมาเลเซียยังรุนแรงมาก
ในส่วนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านการบูรณาการหน่วยงานทุกฝ่ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่านอกจากปัญหาของการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศมาเลเซียโดยช่องทางธรรมชาติแล้ว ปัญหาหนักของพื้นที่คือ คนที่เดินทางกลับมา ซึ่งมีทั้งชาว จ.นราธิวาส ปัตตานี และ ยะลา กลายเป็นคนที่ว่างงาน ที่ ศอ.บต. ต้องร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานราชการ และเอกชนในการ หางานให้ทำก่อน ประสานกับโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ ส่งแรงงานที่กลับจากมาเลเซีย ไปทำงาน ยังโรงงานต่าง ๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 3,000 คน พร้อมยังพยายามช่วยเหลือเยียวยาในด้านอื่น ๆ
“หลังจากที่มาเลเซีย ประกาศปิดประเทศจนถึงเดือนสิงหาคม 2564 ศอ.บต. ได้ประชุมหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือกับแรงงานที่ตกค้างในมาเลเซีย ซึ่งต้องการเดินทางกลับประเทศ รวมทั้งยานพาหนะของคนไทยที่ตกค้างอยู่ในมาเลเซีย เพื่อการนำกลับมา มีการประชุมและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกงสุลใหญ่ของไทยประจำรัฐปีนัง และรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เพื่อช่วยเหลือคนไทย ที่ต้องการเดินทางกลับประเทศในช่องทางที่ถูกต้อง โดยทั้งหมดต้องผ่านการตรวจเชื้อและการกักตัวตามขั้นตอน”
หวั่นแก๊งค้ามนุษย์พาแรงงานหนีกลับไทย
ทีมข่าว 1/4 Special Report ยังได้พูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังหวั่นวิตกไม่น้อยเช่นกัน เพราะตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสุด หลังจากสถานการณ์ของมาเลเซีย ยังไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้นและยังไม่มีการนำวัคซีนใช้กับประชาชน ในขณะที่แรงงานต่างด้าวซึ่งหลบซ่อนอยู่ในมาเลเซีย ทั้งแรงงานเถื่อน และแรงงานถูกต้อง แต่หนังสือเดินทางหมดอายุ ต่างพยายามติดต่อกับกลุ่มนายหน้า ว่าจ้างขบวนการค้ามนุษย์ให้ช่วยเหลือนำหลบหนีมายังประเทศไทย ชาวบ้านจึงหวั่นวิตกอาจจะสุ่มเสี่ยงถ้าเกิดช่องโหว่ แรงงานเถื่อน ที่หลบหนีเข้ามาได้ซึ่งไม่ผ่านการคัดกรองของเจ้าหน้าที่ก็จะส่งผลทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด
แค่ตอนนี้พื้นที่เมืองเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว อย่าง อ.สะเดา และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ก็แทบจะกลายเป็นเมืองร้างไปเรียบร้อยแล้ว เพราะที่ผ่านมา ได้นักท่องเที่ยวทั้งชาวมาเลเซีย และ สิงคโปร์ เมื่อมาเลเซียปิดประเทศ หมายถึงเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวกว่า 80 เปอร์เซ็นต์หายวับไปด้วย วันนี้สภาพของทั้ง 2 อำเภอของ จ.สงขลา เมื่อไร้นักท่องเที่ยวก็เงียบเหงาจนน่าใจหาย และหากคุมเข้มพื้นที่ชายแดนไม่ได้ มีแรงงานเถื่อนเล็ดลอดกลับเข้ามาไทยได้โดยไม่ผ่านการคัดกรองตรวจเชื้อโควิด ชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่รู้ใครเป็นใครยิ่งจะทำให้กลายเป็นพื้นที่วิกฤติไปกันใหญ่
เมื่อก่อนนายหน้าขบวนการค้ามนุษย์ มีรายได้จากการนำแรงงานเถื่อนหลายประเทศหลบหนีข้ามไปยังมาเลเซีย แต่วันนี้ กำลังกลายเป็นว่า รับจ้างนำแรงงานเถื่อน หนีโควิดออกจากมาเลเซีย เพื่อกลับบ้าน ดังนั้นเป็นเรื่องที่ทางเจ้าหน้าที่ภาครัฐทุกหน่วยวางมาตรการคุมเข้มกันเป็นพิเศษกันแบบจริงจัง อย่าให้ซ้ำรอยแบบเมืองสมุทรสาคร ที่ยังแก้ปัญหากันไม่จบ!!.