สืบสานภูมิปัญญา พัฒนาผ้าชายแดนใต้ ‘ปะลางิง’ กลุ่มศรียะลาบาติก
นายปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ครูภูมิปัญญาผ้าพื้นเมืองปะลางิง ชาว จ.ยะลา เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ กลุ่มศรียะลาบาติกฟื้นฟูและอนุรักษ์ภูมิ “ผ้าปะลางิง” เป็นผ้าทอมือพื้นเมืองลายโบราณ มีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี จากฝีมือภูมิปัญญาชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัด ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ด้วยการใช้เทคนิคการพิมพ์ลายบนผืนผ้าด้วย “บล็อกไม้” และ แกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ ที่สะท้อนเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และศาสนา เกิดเป็นมรดกทางภูมิปัญญาสืบทอดต่อกันมา
นายปิยะ กล่าวว่า ศรียะลาบาติก ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 ด้วยแรงบันดาลใจของพวกเราที่อยากจะร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาและกรรมวิธีการผลิตผ้าพื้นเมืองลายโบราณที่สูญหายไปร่วม 80 ปี และหนึ่งในความตั้งใจที่สำคัญ คือ การได้ต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมและพัฒนารูปแบบให้ทันสมัยเข้ากับตลาดปัจจุบัน โดยเอกลักษณ์ของลายทอผ้าปะลางิง คือ การนำลวดลายโบราณมาประยุกต์ อาทิ ลวดลายมัสยิดโบราณ กระเบื้องโบราณ แม่พิมพ์ขนมโบราณ การละเล่นโบราณ นกเขา นกกรงหัวจุก ขณะที่การแกะแม่พิมพ์ไม้ ก็ใช้ไม้ขาวดำที่ใช้ทำกรงนก เพราะมีคุณสมบัติที่แข็งและเหนียว ทำให้แกะเป็นลายเส้นเล็กๆได้
“กว่าจะได้ผ้าผืนหนึ่งต้องรวมทุกเทคนิคของการทำผ้าบาติกไว้ในผ้าผืนเดียว ซึ่งประกอบด้วย การทอ มัดย้อม การพิมพ์ลายด้วยแม่พิมพ์ไม้ การเขียนเทียน (จันติ้ง)กัดสี ปิดสี และเพ้นท์สี ส่วนเนื้อผ้ามีลักษณะเป็นผ้าทอไหมผสมฝ้าย เส้นยืนคือฝ้าย ส่วนเส้นพุ่งใช้เส้นไหม ทอเป็นลายลูกแก้วซ้อนกัน โดยกระบวนการจะเริ่มจากกระบวนการทอ ต่อด้วยการมัดย้อมดอกลายบางๆ นำมาขึงแล้วเขียนทับสีที่มัดย้อม นำมาล้างสีออก ให้เหลือลายที่เขียนทับด้วยเทียน ตามด้วยการลงสีพื้นทับทั้งหมด เตรียมแม่พิมพ์ไม้สำหรับการพิมพ์ (แกะเอง) ลงสีตามช่องตัวลายที่พิมพ์ลงไป ในส่วนหัวผ้าจะมีการปิดเทียนและลงสีเพิ่มเพื่อเพิ่มมิติให้กับตัวลาย หัวผ้าจะมีการเขียนและโชว์ลายมากกว่าตรงส่วนอื่น เมื่อลงสีทั้งหมดแล้ว จะรอให้ผ้าแห้งแล้วเคลือบทับด้วยโซเดียมซิลิเกต (ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกับการทำผ้าบาติก) ปล่อยให้แห้ง นำไปล้าง ต้มเอาเทียนออก แล้วซักล้างให้สะอาด” นายปิยะ กล่าว
อาจารย์ปิยะ เล่าต่อว่า และเป็นที่น่ายินดีที่ เมื่อปี 2558 กลุ่มศรียะลาบาติก รับการถ่ายทอดความรู้ในการพัฒนาเพิ่มมูลค่า ให้กับผ้า จาก สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ที่ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ร่วมกับดีไซเนอร์ผู้มีชื่อเสียงหลายคนช่วยพัฒนาความรู้ จนสามารถประยุกต์ลวดลายให้เข้ากับยุคสมัย จากนั้น ได้นำมาปรับใช้ในด้านการออกแบบลายผ้า และกำหนดเทรนด์สี จากสีธรรมชาติ จนสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และลวดลายใหม่ๆอยู่ตลอด โดยขณะนี้ มีมากกว่า 200 แบบ ทุกลายมีเรื่องราว เรื่องเล่าทั้งหมด นอกจากนี้ยังได้ถ่ายทอดความรู้ไปสู่ชุมชนต่างๆ อีกด้วย ติดตามผลงานและผลิตภัณฑ์ของ กลุ่มศรียะลาบาติก ได้ทาง เพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/SriYala-Batik-100119233416832/?ref=page_internal , สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย #เล่าเรื่องผ้าไทยร่วมสมัย หรือ โทร 08-4165-2312,08-7837-4007
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่