โควิดยังหนัก! พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 16,031 ราย เสียชีวิต 220 ราย “สธ.” ชง ศบค. ขยับพื้นที่สี คงเคอร์ฟิวถึงสิ้นก.ย. เผยต.ค.ต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 24 ล้านโดส ยันไฟเซอร์ให้เด็ก 12 ปี “อนามัยโลก” วอนชาติร่ำรวยระงับฉีดวัคซีนเข็ม 3 ถึงสิ้นปีนี้ พร้อมจี้เร่งบริจาควัคซีนแก่ชาติยากจนให้มากกว่าที่เป็นอยู่
เมื่อวันที่ 9ก.ย.64 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16,031 ราย จำแนกเป็น ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 12, 436 ราย จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 2,955 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 631 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 9 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่าย ATK 1,904 ราย รวมยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,338,550 ราย โดยพบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 220 ราย รวมยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 13,731 ราย สำหรับจังหวัดที่พบการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 10 อันดับแรกของวันนี้ อันดับแรก กรุงเทพฯ 3,736 ราย รองลงมา ชลบุรี 1,594 ราย สมุทรปราการ 1,197 ราย สมุทรสาคร 643 ราย ระยอง 549 ราย ราชบุรี 466 ราย นราธิวาส 455 ราย นนทบุรี 433 ราย สงขลา 374 ราย และสระบุรี 362 ราย
ด้าน นายโอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ประเมินสถานการณ์หลังผ่อนคลายมาตรการเมื่อวันที่ 1 ก.ย.64 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันที่ 10 ก.ย. จะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ โดย สธ. จะเสนอในที่ประชุมหลักๆ เช่น 1.แผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 เดือน ต.ค. ที่วางแผนจะฉีดขั้นต่ำ 24 ล้านโดส เนื่องจากแผนที่จะได้รับวัคซีนเดือนหน้า ประกอบด้วยวัคซีนซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านโดส และไฟเซอร์ 8 ล้านโดส ทั้งนี้ บริษัท ไฟเซอร์ แจ้งว่าล็อตแรกจะเข้ามาปลายเดือน ก.ย.จำนวน 2 ล้านโดส และเข้ากระบวนการตรวจสอบ 2จะ.เสนอการผ่อนคลายมาตรการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังคงเดิมไว้ ไม่ได้ผ่อนคลายอะไรมาก เช่น อนุญาตให้เนอสซิ่งโฮมรับผู้เข้าไปอยู่ใหม่ได้แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมกำกับอย่างใกล้ชิด ส่วนเรื่องการประกาศเคอร์ฟิวก็จะกำหนดตามพื้นที่สี หากเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดก็จะคงมาตรการไว้ คาดว่าจะใช้ถึงสิ้นเดือน ก.ย.64 แต่การปรับจังหวัดตามพื้นที่สีต้องรอความเห็นชอบจาก ศบค.พรุ่งนี้อีกครั้งเพื่อความชัดเจน
เมื่อถามว่า วัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรกจะมีการฉีดให้กลุ่มอื่น นอกจากเด็กอายุ 12-18 ปี หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับกลุ่มอื่นมีวัคซีนอยู่แล้วเช่น สูตรไขว้ซิโนแวคกับแอสตร้าฯ ที่เป็นสูตรหลัก เมื่อถามถึงการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุน้อย ที่มีข้อมูลต่างประเทศว่าพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ดังนั้น สธ.จะมีการปรับแผนฉีดใหม่หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า จริงๆ มีการพูดถึงอาการไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้นได้ภายหลังการรับวัคซีน แต่เจอไม่มาก พบเพียงไม่กี่รายต่อล้านรายที่ฉีด ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ยอมรับได้ และส่วนใหญ่อาการน้อย ดังนั้น สธ.ก็ยังถือหลักการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 12-18 ปี เนื่องจากขณะนี้มีวัคซีนเพียง 2 ยี่ห้อที่ฉีดในผู้อายุมากกว่า 12 ปี ลงมาได้ คือ ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ส่วนตัวอื่นยังอยู่ในขั้นตอนการขออนุญาต
เมื่อถามถึงการฉีดวัคซีนเข็ม 3 หรือบูสเตอร์โดสให้ประชาชนทั่วไปว่าจะกำหนดอย่างไร เรียกมาฉีดอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า การฉีดบูสเตอร์ต้องคุยกันหลายหน่วย แต่ที่ประชุมเห็นชอบแล้ว ทาง สธ. ได้กำหนดนโยบาย และบอกแนวทางไป หลังจากนั้นคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จะเป็นผู้ดำเนินการ ขณะนี้ก็เหลือขั้นตอนการปฏิบัติ จำนวนวัคซีนที่มี และความพร้อมของพื้นที่ว่าจะจัดการอย่างไร เช่น อาจจะประกาศให้มาฉีด นัดมาฉีด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่จะดำเนินการ
“หากมีความพร้อม มีวัคซีนเพียงพอก็จะเริ่มฉีดได้ อาจมีการนำร่องบางจังหวัดก่อน ซึ่งกำลังหารือในรายละเอียดอยู่ แต่เบื้องต้นบูสเตอร์เราจะพิจารณาการฉีดเป็นแอสตร้าฯ ก่อนตามด้วยไฟเซอร์ ซึ่งจะมีลำดับการพิจารณาตามความเหมาะสมของวัคซีนที่มีอยู่ในมือขณะนั้นด้วย”
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผอ.องค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ (ฮู) ออกมาวิงวอนอีกครั้งต่อบรรดาประเทศร่ำรวยให้ระงับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 เข็มที่ 3 หรือบูสเตอร์ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย เพื่อให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้มีโอกาสฉีดวัคซีป้องกันไวรัสโควิด-19 แก่ประชาชนของพวกเขาให้มากขึ้น
โดย ดร.กีบรีเยซุส แถลงว่า องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าให้ทุกประเทศมีอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 เฉลี่ยแล้วให้ได้ร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดแต่ละประเทศภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งบรรดาประเทศที่มีรายได้สูงเกือบร้อยละ 90 ต่างบรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้ว แต่ทว่า ยังไม่มีประเทศรายได้ต่ำแม้แต่เพียงประเทศเดียว ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนถึงร้อยละ 10 ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้
พร้อมกันนี้ ผอ.องค์การอนามัยโลก ยังได้เรียกร้องให้บรรดาประเทศที่มีรายได้สูง บริจาควัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยในเวลานี้กลุ่มประเทศดังกล่าว บริจาควัคซีนไม่ถึงร้อยละ 15 จากปริมาณวัคซีนที่ประเทศเหล่านี้ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับโครงการโคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลก
นอกจากนี้ ผู้นำดับเบิลยูเอชโอ ยังกล่าวย้ำด้วยว่า องค์การอนามัยโลกไม่อยากได้คำมั่นสัญญาอีกต่อไป แต่ต้องการเพียงวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 เท่านั้น
ด้าน รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนการขยายระยะเวลาการบังคับใช้มาตการเข้มงวดภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงโตเกียว และอีก 18 จังหวัด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่ยังลุกลามอย่างรุนแรง และเพื่อป้องกันมิให้มีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล
โดย นายยาสุโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะดูแลการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยังเร็วเกินไปที่รัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการความเข้มงวด โดยมีแผนที่จะขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวออกไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ พร้อมกันนั้น ทางรัฐบาลก็จะเพิ่มศักยภาพของระบบทางการแพทย์ใหเข้มแข็งยิ่งขึ้น ด้วยการลดจำนวนผู้ป่วยโควิดลง
สำหรับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในญี่ปุ่น ในรอบ 24 ชั่วโมงของวันพุธที่ผ่านมา พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่จำนวน 10,603 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,590,994 ราย มากเป็นอันดับที่ 26 ของโลก ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวน 16,436 ราย และผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 1,404,535 ราย
ขณะที่ สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ ในพื้นที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ปรากฏว่า ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ล่าสุด มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 223,437,059 ราย ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวน 4,610,335 ราย และผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 199,952,414 ราย
โดยประเทศสหรัฐอเมริกา สถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงที่สุด จากการที่มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมมากที่สุดในโลกจำนวน 41,397,587 ราย และมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตมากที่สุดในโลกจำนวน 671,183 ราย ส่วนผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 31,667,507 ราย