ศอ.บต. ร่วมแก้ปัญหา โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2 ปีรุนแรงต่อเนื่อง ขยายวงกว้างไป 5 จว.ด้ามขวาน ผลผลิตน้อยลง เร่งหาสาเหตุ และวิธียับยั้ง พบ 5 ประเทศได้รับผลกระทบหนัก
ศุกร์ที่ 29 มกราคม 2564 เวลา 16.02 น.
ที่ห้องประชุมน้อมเกล้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จ.ยะลา พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานการประชุมพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นายอิสระ ละอองสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ตลอดจน ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันวิจัยยาง ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาอาพืช สถานีพัฒนาที่ดิน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม รวมทั้งได้มีการประชุมผ่านระบบ Zoom กับหน่วยงานในสังกัดซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและเกี่ยวข้องในเรื่องยางได้ร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการระบาดของโรคใบร่วงยางพารา เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อคอลเลตโตริกัม (Colletotrichum Leaf Disease) ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ยิ่งเพิ่มทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากผลผลิตยางพาราน้อยลง เกษตรกรไม่สามารถป้องกันรักษาการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราด้วยตนเอง ศอ.บต. จึงได้จัดการประชุมหารือในครั้งนี้ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางในการแก้ไขปัญหา และหาสาเหตุของการเกิดโรคระบาดตลอดจนหาวิธีการยับยั้งไม่ให้โรคระบาดนี้กระจายเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ศอ.บต. จะเป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
พลเรือตรี สมเกียรติ เลขาธิการ ศอ.บต. เผยว่า ศอ.บต. ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดใบร่วงในยางพารา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการระบาดอย่างหนักและรุนแรง เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2562 และปลาย 2563 ทั้งปี ขณะนี้ในพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส เข้ามาแล้ว 80% พื้นที่การทำสวนยางได้รับผลกระทบ 770,000 ไร่ จาก 900,000 ไร่ของยางพาราในจังหวัดนราธิวาส เพราะฉะนั้น ผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ในขณะนี้พื้นที่ของการระบาด ปริมาณน้ำยางลดลงประมาณ 40-50% ซึ่งประชาชนในพื้นที่ 70-80% เป็นพี่น้องเกษตรกรที่ทำสวนยางหรือกรีดยาง
นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย เผยว่า โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมาและเกิดการร่วงอย่างรุนแรง พื้นที่การแพร่ระบาดขณะนี้เกิดขึ้นใน 5 ประเทศ โดยประเทศอินโดนีเซียหนักที่สุด ประเทศไทยอยู่อันดับ 2 ในส่วนของด้านการยางแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการ 3 มาตรการหลักเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบด้วยมาตรการป้องกัน โดยได้ให้ความรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ รวมทั้งจะอบรมพนักงาน เกษตรกร และผู้เกี่ยวข้อง จัดทำและแจกจ่ายเอกสารแผ่นพับ ด้านการศึกษาวิจัย ได้มีการสำรวจและติดตามพื้นที่เกิดโรค ศึกษาหาเชื้อสาเหตุ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มาตรการเผชิญเหตุและการยับยั้งเชื้อและมาตรการแก้ไขหรือฟื้นฟู ได้มีการปรับปรุงพันธุ์ยางพาราต้านทานโรคใบร่วงชนิดใหม่อีกด้วย.
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
-
เห็นด้วย
0%
-
ไม่เห็นด้วย
0%