โดย.. เมือง ไม้ขม
ภาพแห่งความเป็นจริงสำหรับแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และหลายอำเภอของ จ.สงขลา โดยเฉพาะ อ.จะนะ ซึ่งส่วนใหญ่ในยามที่บ้านเมืองเป็นปกติ คือการเดินทางไปขายแรง หรือทำงานในประเทศมาเลเซีย และส่งเงินกลับบ้านเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ค่าเทอมให้แก่ครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง
แต่หลังการมาเยือนของ “โควิด-19” ภาพใหม่ที่ปรากฏแทนคือ คนเหล่านี้เดินทางกลับมายัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แบบ “สิ้นหวัง” ตกงาน ไร้เงิน ครอบครัวได้รับความลำบาก ไม่มีเงินส่งเสียให้ลูกหลานเรียนหนังสือ หลายครอบครัวถึงขั้นที่เรียกว่า “ไม่มีกิน”
ภาพต่อมาซึ่งเป็นภาพแห่งความเป็นจริง คือภาพของ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่จับไมโครโฟน เพื่อพบปะพูดคุยกับแรงงานที่ตกงานจากประเทศมาเลเซีย และได้งานใหม่ในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ ศอ.บต เป็นผู้ประสานงานในการส่งแรงงานที่เดือดร้อนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหล่านี้ไปทำงาน
ทั้งใน จ.เพชรบุรีในรอบแรก และรอบที่ 2 ของโควิด-19 และใน จ.กาญจนบุรี และจังหวัดอื่นๆ ในการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 3 และภาพเช่นนี้ยังจะปรากฏให้เห็นอีกเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังควบคุม “โควิด 19” ไม่ได้ ยังมีการระบาดเพิ่ม และประเทศมาเลเซียยังไม่เปิดรับแรงงานจากต่างชาติไปทำงาน
นี่ถือภาพแห่งความเป็นจริงที่แรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องอาศัยโรงงานอุตสาหกรรมเป็นสถานที่ทำงาน เพื่อให้ได้เงินเดือนมาใช้ในการเลี้ยงตนเองและเลี้ยงดูครอบครัว
ดังนั้น หากต้องการที่จะแก้ปัญหาแรงงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา อย่างถาวร พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อรองรับแรงงานเหล่านี้ เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องเดินทางไปทำงานยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งบางครั้งถูกหลอกลวง ถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมทั้งไม่ต้องเดินทางไปยังภาคอื่นๆ ของประเทศไทยที่ไม่คุ้นเคยกับวิถีวัฒนธรรมของตนเอง
การลงทุนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา จึงเป็นหนทางหนึ่งในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแก้ปัญหาคนว่างงาน ที่ได้ผลอย่างแน่นอน
วันนี้ รัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันให้ทั้ง 4 จังหวัดมีโครงการ ”เมืองต้นแบบมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน” ให้เป็นเมือง “ปลอดภาษี” ตามมติของ ครม.ไปแล้ว นั่นหมายถึงในอนาคต พื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา พื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา และพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จะเป็นเมืองปลอดภาษี ที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยว การลงทุนและธุรกิจการค้าขาย
และต่อมา รัฐบาลชุดนี้ก็ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้พื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลาเป็นพื้นที่ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการขออนุญาตก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเวลา 5 ปี เพื่อเป็นการจูงใจให้มีการลงทุนสร้างโรงงานในพื้นที่ดังกล่าว
แน่นอน ทั้งหมดคือการอำนวยประโยชน์ให้ “กลุ่มทุน” เพราะในยามที่เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ที่เศรษฐกิจของประเทศต้องใช้เวลาฟื้นตัว 2-3 ปีข้างหน้า ถ้าการพัฒนาประเทศไม่พึ่งพากลุ่มทุน รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาเพื่อพัฒนาประเทศ
แต่สิ่งที่จะติดมาจากกลุ่มทุนที่เข้ามาลงทุน คือคนในพื้นที่ได้ประโยชน์ แรงงานที่ตกงานได้ทำงานใกล้บ้าน มีวิถีวัฒนธรรมที่ไม่แปลกแยก นักเรียนนักศึกษาจบใหม่มีงานทำ นักเรียนนักศึกษาที่ยังศึกษาอยู่มีความหวัง มีอนาคตว่าจะไม่ตกงาน ท้องถิ่นที่มีการลงทุน มีความเจริญขึ้น คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
เพราะเป็นไปไม่ได้ที่การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ที่ประชาชนจะไม่ได้รับประโยชน์ตามที่เอ็นจีโอกล่าวอ้าง เพราะที่เป็นประจักษ์ โรงงานทุกโรงที่เกิดขึ้นคือ แหล่งรองรับแรงงานในพื้นที่ ยกเว้นคนในพื้นที่ไม่สนใจที่ทำจะงานในโรงงาน จนต้องนำแรงงานต่างชาติ เช่น พม่า กัมพูชา สปป.ลาว และอื่นๆ เข้ามาแทนที่
เห็นชัดเจนคือ โรงงานแปรรูปทุเรียนที่ อ.เทพา จ.สงขลา โรงงานแปรรูปมะพร้าว ที่ อ.หนองจิก โรงงานปาล์ม และอื่นๆ ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งใน จ.สงขลา ต่างเป็นแหล่งในการสร้างงาน สร้างเงินให้แก่คนในพื้นที่ทั้งสิ้น
แม้แต่โรงงานไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 10 กว่าโรงที่เกิดขึ้นใน จ.สงขลา จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี ผู้ที่ได้ทำงานในโรงงานและผู้ที่ได้ประโยชน์จากการขายไม้ ขายวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าชีวมวล ล้วนแต่เป็นคนในท้องถิ่นมากกว่าคนต่างถิ่น ยกเว้นคนในท้องถิ่นไม่ทำ
ดังนั้น การที่คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ที่สนับสนุนให้เมืองต้นแบบที่ 4 เกิดขึ้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะภาพที่เห็นอยู่ใน 2 ปีที่ผ่านมา ที่พี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และคนใน อ.จะนะ อ.เทพา จ.สงขลา ส่วนหนึ่งที่ตกงานจากประเทศมาเลเซียและต้องเดินทางไปทำงานในโรงงานต่างถิ่น ต่างภาค ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.เพชรบุรี กาญจนบุรี ระยอง และอื่นๆ เป็นภาพที่ฟ้องให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ทนโท่ ว่า เป็นเพราะบ้านเราไม่มีโครงการใหญ่ ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม แรงงานในพื้นที่จึงต้อง “พลัดที่นาคาที่ไร่” เพื่อไปทำงานต่างถิ่น ที่ ศอ.บต.เป็นผู้จัดหาให้
แต่ถ้าเราช่วยกันสนับสนุนให้กลุ่มทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ 4 จังหวัดของเรามากขึ้น ภาพของการเดินทางไปทำงานยังต่างถิ่น ที่ต่างวิถีวัฒนธรรมก็จะไม่เกิดขึ้น ในการเดินทางไปทำงานยัง “ต่างบ้านต่างเมือง” ที่ญาติพี่น้องมาส่งด้วยสีหน้าแสดงความห่วงใยก็จะไม่ปรากฏให้เห็น อย่างที่เห็นกันทุกครั้งที่ ศอ.บต.ส่งแรงงานเหล่านี้เพื่อเดินทางทางไกล
ก็ได้แต่คาดหวังว่า หลังการชะลอตัวของโควิด-19 ในทุกประเทศ กลุ่มทุนที่นอกเหนือจากโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เช่น กลุ่มทุนจากประเทศเกาหลีใต้ ที่เคยมาดำเนินการเรื่อง อุตสาหกรรมถ่านชีวมวล ที่ผลิตจากไม้ไผ่ และอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เคยประสานงานกับ ศอ.บต.จะได้กลับมาสานต่อโครงการเหล่านั้นอีกครั้ง หลังจากที่ทุกประเทศเดินทางสัญจรได้ตามปกติ
รวมทั้งโครงการ “ไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะมีการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่
ถ้าต้องการให้จังหวัดชายแดนภาคใต้พ้นจากความยากจน คนมีการงาน เพื่อพ้นจากความยากจน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้นจึงจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ มิฉะนั้น ภาพทั้งหมดที่กล่าวมาก็จะเป็นอย่างที่เห็นและเป็นเช่นนี้ตลอดไป เพราะทั้งหมดคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุทั้งสิ้น