ยางราคาร่วงว่าเป็นวิบากกรรมของเกษตรกรชาวสวนยางแล้ว ยังถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ต้องมาเจอกับโรคใบร่วงในพื้นที่ภาคใต้ สาเหตุมาจากเชื้อรากลุ่ม Colletotrichum sp. และ Pestalotiopsis sp.
เริ่มระบาดจากอินโดนีเซียมาก่อน มีสวนยางได้รับความเสียหายกว่า 2.5 ล้านไร่ จากนั้นระบาดเข้าสู่ไทยเมื่อปี 2562 มีสวนยางได้รับผลกระทบกว่า 700,000 ไร่
ครั้งนั้นยังไม่ถือเป็นความเสียหายนัก เพราะต้นยางไทยยังแข็งแรง ยังสามารถให้น้ำยางได้อยู่ อีกปีถัดมาจนปัจจุบัน เชื้อได้ปะทุระบาดอีกครั้ง สวนยางเสียหายไปกว่า 900,000 ไร่
ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสตูล สวนยางพาราใน จ.นราธิวาส พบการระบาดมากที่สุดคือ ราว 720,000 ไร่ รองลงมาคือ จ.ยะลา โดยเฉพาะในเขตอำเภอรามัน และอำเภอบันนังสตา รวมเสียหายกว่า 90,000 ไร่ พื้นที่อื่นพบประปราย
นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตั้งข้อสังเกตถึงการระบาดในปัจจุบัน ครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งก่อน เพราะยอดอ่อนยางโดนทำลาย จนไม่สามารถให้น้ำยางได้ ทำให้น้ำยางสดจาก จ.นราธิวาส ลดลงจากตลาดกว่าครึ่งจากสถานการณ์ปกติ
ที่สำคัญต่างจากครั้งที่แล้ว บริเวณที่แพร่ระบาดหนัก เป็นสวนยางที่ปลูกบนภูเขา และมีความชื้นในอากาศสูง ส่วนสวนยางในพื้นที่ราบ กลับระบาดไม่รุนแรง
กยท. จึงได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนเบื้องต้นสามารถยับยั้งโรคได้ ด้วยวิธีผสมผสานระหว่างสารชีวภัณฑ์ สารเคมี บวกกับกระบวนการจัดการสวนที่ดี
สิ่งที่สำคัญที่สุด พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางต้องหมั่นสังเกตใบยางร่วง ว่ามีร่องรอยของโรคหรือไม่ หากมีแผลที่ใบยาง แสดงว่าต้นยางติดเชื้อแล้ว ให้หยุดกรีดยาง ใส่ปุ๋ยบำรุงต้น แล้วแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ
ช่วงนี้ยางเริ่มผลัดใบ เชื้อหยุดระบาดเนื่องจากไม่มีอาหาร จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะกำราบโรคนี้ให้สิ้น ฉะนั้น กยท.จึงตั้งเป้าภายในเดือนพฤษภาคมต้องควบคุมหรือยับยั้งเชื้อให้ได้…จะเป็นไปได้แค่ไหน รอดูกัน.
สะ–เล–เต