น้ำท่วมชายแดนใต้เริ่มคลี่คลาย หลายพื้นที่ฝนหยุดตก น้ำลด “มท.2” เดินสายแจกถุงยังชีพช่วยผู้ประสบภัยปัตตานี ด้าน “บิ๊กตู” สั่งระดมกำลังช่วยประชาชน ขณะที่ “รมว.เฮ้ง” ลุยจ้างงานแรงงานรับผลกระทบ ส่วนพาณิชย์เฝ้าระวังสินค้าฉวยโอกาสขึ้นราคา คืบหน้าค้นหาครูสุคิรินขับรถตกคอสะพานขาด ยังไม่พบร่าง
วันจันทร์ที่ 28 ก.พ.65 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงวันที่ 25-28 ก.พ. สรุปสถานการณ์น้ำท่วมและพื้นที่ประสบภัยได้ดังนี้
จ.นราธิวาส เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 8 อำเภอ 32 ตำบล 108 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.รือเสาะ อ.แว้ง อ.ศรีสาคร อ.ยี่งอ อ.สุคิริน อ.จะแนะ อ.ระแงะ และ อ.สุไหงโก-ลก มีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 4,264 ครัวเรือน
จ.ยะลา เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 6 อำเภอ 43 ตำบล 184 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.รามัน อ.เมือง อ.ยะหา อ.กรงปินัง อ.บันนังสตา และ อ.ธารโต มีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 4,810 ครัวเรือน
จ.ปัตตานี เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 6 อำเภอ 27 ตำบล 81 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.เมือง อ.หนองจิก อ.แม่ลาน อ.โคกโพธิ์ อ.ทุ่งยางแดง และ อ.สายบุรี มีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1,730 ครัวเรือน
จ.สงขลา เกิดฝนตกหนักน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย ประชาชนได้รับผลกระทบ 7 ครัวเรือน
ส่วนพื้นที่ความเสี่ยงเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นและไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำหากมีฝนตกเพิ่ม มีดังนี้
จ.ยะลา บริเวณ อ.บันนังสตา อ.ยะลา และ อ.รามัน
จ.ปัตตานี บริเวณ อ.สายบุรี อ.ยะรัง อ.หนองจิก และ อ.เมือง
จ.นราธิวาส บริเวณ อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.ศรีสาคร อ.สุไหงปาดี อ.ตากใบ อ.รือเสาะ อ.จะแนะ และ อ.สุไหงโก-ลก
ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ในพื้นที่หมู่ 1 ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก มีน้ำล้นพนังกั้นน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนจำนวน 500 หลังคาเรือน ล่าสุดทางอำเภอ และสมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และ ชคต. (ชุดคุ้มครองตำบล) ได้เข้าช่วยเหลือประชาชนขนย้ายสิ่งของแล้ว
@@ มท.2 ลุยปัตตานี มอบถุงยังชีพช่วยผู้ประสบภัย
นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ จ.ปัตตานี ทั้ง อ.เมือง และ อ.แม่ลาน พร้อมมอบถุงยังชีพและสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประสบภัย บริเวณ 2 จุด จำนวนกว่า 500 ชุด โดยมี นายนิพันธ์ บุญหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้นำท้องที่ ร่วมลงพื้นที่ด้วย
ภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.ปัตตานี มีฝนตกหนักสะสมตั้งแต่ช่วงวันที่ 23-27 ก.พ.ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 6 อำเภอ 27 ตำบล 81 หมู่บ้าน 3 ชุมชน 1,730 ครัวเรือน 5,598 คน
ในส่วนของอำเภอเมืองปัตตานี ได้รับผลกระทบ จำนวน 3 ตำบล 4 หมู่บ้าน 2 ชุมชน 162 ครัวเรือน 810 คน และ อ.แม่ลาน ได้รับผลกระทบ จำนวน 3 ตำบล 10 หมู่บ้าน 219 ครัวเรือน 913 คน
ส่วนผลกระทบด้านอื่นๆ อาทิ ด้านการเกษตร มีพื้นที่เสียหาย จำนวน 3,167 ไร่ ด้านประมงและปศุสัตว์ มีความเสียหายเล็กน้อย นอกจากนี้ในส่วนของสิ่งสาธารณูปโภค ถนนได้รับความเสียหาย 5 สาย และมัสยิด 1 แห่ง
นายนิพนธ์ กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศในปีนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เกิดฝนนอกฤดูกาลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมจำนวนมาก ตนมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยได้ติดตามประเมินสถานการณ์พร้อมแจ้งเตือนสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารไปสู่พี่น้องประชาชนผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด โดยปัจจุบันกรมอุตุมนิยมวิทยา กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น ทำให้การคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ มีความแม่นยำ สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าและรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น
ส่วนแนวโน้มคาดการณ์ว่า จ.ปัตตานี สถานการณ์ในวันนี้ได้คลี่คลายลงจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนปริมาณน้ำฝนที่ยังคั่งค้างอยู่ตามเทือกเขาต่างๆ ก็จะไหลลงแม่น้ำหลัก อยากจะฝากไปถึงพี่น้องประชาชนให้ติดตามสถานการณ์และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และหากสถานการณ์ทุกอย่างได้คลี่คลายลงแล้ว ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหายอย่างเร่งด่วน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ตามระเบียบของทางราชการต่อไป
@@ น้ำท่วมยะลาเริ่มคลี่คลาย
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ยะลา หลังจังหวัดได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบประสบสาธารณภัย (อุทกภัย) ในพื้นที่ จ.ยะลา จำนวน 5 อำเภอ 40 ตำบล 158 หมู่บ้าน 1 ชุมชน
ล่าสุดระดับน้ำในแม่น้ำสายบุรี เริ่มลดระดับลง แต่ยังคงล้นตลิ่ง ส่วนระดับน้ำที่ต้นน้ำใน อ.ศรีสาคร และ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1-2 เมตร คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วัน
ส่วนแม่น้ำปัตตานี ระดับน้ำที่ต้นน้ำ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ต่ำกว่าตลิ่ง 1.46 เมตร คงเหลือระดับน้ำที่ผ่านเทศบาลนครยะลา สูงกว่าตลิ่งอยู่ที่ระดับ 60 เซนติเมตร คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วันนี้เช่นกัน
บ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ในที่ลุ่มต่ำ หลังจากนี้ก็จะเป็นลักษณะน้ำท่วมขังในพื้นที่ ไม่มีอิทธิพลจากลำน้ำสายหลักมาเติม ต้องหามาตรการในการสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ต่อไป
นายพงษ์ศักดิ์ ยิงชนม์เจริญ นายกเทศมาตรีนครยะลา กล่าวว่า เรื่องของน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครยะลาในครั้งนี้ เราได้รับผลกระทบในย่านขอบเมืองต่างๆ สาเหตุมาจากปีนี้มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมากกว่าปกติ ซึ่งทางเทศบาลมีการเตรียมการมาตลอดตั้งแต่คืนวันที่ 24 ก.พ.ที่ฝนตก ก็ได้สั่งเริ่มเดินเครื่องสูบน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำในบริเวณหมู่บ้านเมืองทอง บริเวณปลายซอยจารูนอก และเริ่มเดินเครื่องในวันที่ 25 ก.พ. จากนั้นก็มีการทยอยติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามจุดต่างๆ เพิ่มเติม
“วันนี้สถานการณ์ถือว่าเริ่มคลี่คลายลงจากปริมาณฝนที่น้อยลง ได้สั่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณหลังโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิอีก 2 เครื่อง เพื่อที่จะเร่งสูบน้ำลงสู่บึงแบเมาะ และออกสู่แม่น้ำปัตตานี” นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าว
@@ นายกฯสั่งระดมกำลังสู้น้ำท่วม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) ได้สั่งการให้หน่วยงานทุกภาคส่วน เช่น กอ.รมน., สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด, หน่วยทหารในพื้นที่, กรมชลประทาน, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันบริหารจัดการน้ำและสถานการณ์อุทกภัยในแต่ละพื้นที่ พร้อมระดมทรัพยากรเข้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน เพื่อคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็วที่สุด พร้อมกำชับให้ข้าราชการ กอ.รมน. ปฏิบัติภารกิจด้วยความปลอดภัย สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างเหมาะสมในการลงพื้นที่ และสอดคล้องตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ ศบค.กำหนดอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือ ผ่านศูนย์รับแจ้งเหตุ กอ.รมน.ในพื้นที่ โทร. 1374 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อ กอ.รมน.ได้ประสานส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าให้การช่วยเหลือ คลี่คลายสถานการณ์สู่สภาวะปกติโดยเร็ว
วันเดียวกันนี้ นายกฯได้เรียกประชุมด่วนรองนายกรัฐมนตรีทุกคน ซึ่งรับผิดชอบงานทุกด้าน เพื่อติดตามสถานการณ์การสู้รบระหว่างยูเคนกับรัสเซีย และสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ โดยรองนายกรัฐมนตรีทุกคนเข้าหารืออย่างพร้อมเพรียง ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, นายวิษณุ เครืองาม, นายดอน ปรมัตถ์วินัย, นายอนุทิน ชาญวีรกูล และ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
@@ พาณิชย์เฝ้าระวังสินค้าฉวยโอกาสขึ้นราคา
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นห่วงสถานการณ์หลังน้ำท่วมภาคใต้ 5 จังหวัด จึงสั่งการพาณิชย์จังหวัดรับมือหากเกิดผลกระทบเกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชน ซึ่งขณะนี้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ติดตามรายงานต่อเนื่องทุกวัน และยังไม่อนุญาตให้ผู้ใดขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค
ดังนั้นราคาปลายทางจะต้องไม่แพงเกินจริงหรือเกินสมควร โดยเฉพาะสินค้าในบัญชีควบคุมและติดตาม ขณะที่ในพื้นที่วิกฤตน้ำท่วมนั้น ก็ให้ดูแลประสานงานหรือทำงานเชิงรุก เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนจากสินค้าขาดเด็ดขาด หากเมื่อมีปัญหาต้องการให้รัฐมนตรีช่วยเหลือ ให้โทรสายตรงสำนักรัฐมนตรีประสานงานแก้ไขทันที หรือใช้บริการสายด่วน กรมการค้าภายใน 1569
@@ “รมว.เฮ้ง” ลุยจ้างงานแรงงาน – จัดหน่วยบริการซ่อมแซม
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของกระทรวงแรงงานว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานจัดเตรียมถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภคของใช้ที่จำเป็นไปสนับสนุน ทั้งจากส่วนกลางและจังหวัดใกล้เคียง ในส่วนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสงขลาเป็นศูนย์อำนวยการให้ความช่วยเหลือ ให้สำนักงานแรงงานจังหวัดในพื้นที่ของบประมาณจัดทำโครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ดำเนินการจ้างงานช่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบภัยให้มีรายได้ สำรวจความเสียหายในสถานประกอบและผลกระทบต่อลูกจ้าง
ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดหน่วยให้บริการซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ และเครื่องยนต์เล็กทางการเกษตร เพื่อลดรายจ่ายของประชาชนที่อุปกรณ์ได้รับความเสียหาย รวมถึงตรวจสอบความปลอดภัยของสายไฟภายในบ้าน พร้อมทั้งให้แรงงานจังหวัดประสานอาสาสมัครแรงงานและบัณฑิตแรงงานลงพื้นที่ สนับสนุนความช่วยเหลือกับอำเภอและจังหวัดอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
@@ ยังไม่พบร่างครูสุคิรินขับรถตกคอสะพาน
ด้านความคืบหน้าในการค้นหาร่าง ครูนพดล มะลิลา พนักงานราชการของโรงเรียนนิคมพัฒนา 10 อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ที่ประสบอุบัติเหตุขับรถตกคอสะพานที่ถูกน้ำเซาะขาด พร้อมสมาชิกครอบครัวเมื่อคืนวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา และวานนี้ (27 ก.พ.) แม้เจ้าหน้าที่ชุดประดาน้ำ และมนุษย์กบ จากหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ กองทัพเรือ ได้ทำการงมหาร่างเป็นเวลา 2 ชั่วโมง แต่ก็ยังไม่เจอ จึงต้องยุติการค้นหาในช่วงเย็น เนื่องจากกระแสน้ำไหลเชี่ยวมาก
ล่าสุดวันจันทร์ที่ 28 ก.พ.65 เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ภูเขาทอง หน่วยกู้ภัย รวมทั้งชาวบ้านในละแวกจุดเกิดเหตุ ได้ร่วมกันนำเรือจำนวน 5 ลำ โดยทุกคนสวมเสื้อชูชีพ ออกพายเรือค้นหาตามแม่น้ำตลอดแนวตลิ่ง ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ป่าไม้ และ อส.จัดกำลังออกเดินตรวจสอบบนบก เลียบริมตลิ่งทั้ง 2 ฟากฝั่ง จนถึงบริเวณสะพานบ้านยาเด๊ะ ต.มาโมง อ.สุคิริน ซึ่งเป็นเขตรอยต่อกับจุดเกิดเหตุ แต่จนถึงขณะนี้เวลาล่วงเลยมาเป็นเวลาเกือบ 48 ชั่วโมงแล้ว ยังไม่ปรากฏร่างของครูนพดลแต่อย่างใด
นายนพพร มะลิลา อายุ 42 ปี น้องชายของครูนพดล กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ครอบครัวยังมีความหวังว่าจะได้เจอพี่ชาย แม้จะเป็นสภาพไหนก็ตาม ซึ่งเจ้าหน้าที่และชาวบ้านยังพยายามค้นหาอย่างเต็มที่ คิดว่าน่าจะไปติดอยู่ที่กอไม้สักแห่ง
นายนพพร ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ก่อนเกิดเหตุพี่ชายพร้อมครอบครัวเดินทางกลับมาจากไปซื้อของที่ อ.แว้ง แต่เนื่องจากเส้นทางที่กลับเป็นประจำ ต้นไม้ใหญ่ล้มขวางทาง พี่ชายเลยต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทางลัด แล้วก็ไปเจอสะพานที่ชำรุดจนเกิดเหตุคอสะพานขาด รถตกลงไปในน้ำ เสียชีวิตยกคัน