ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยล่าสุด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ด้วยการสนับสนุนจากยูนิเซฟ ชี้ให้เห็นว่าเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้เผชิญปัญหาโภชนาการ ขาดภูมิคุ้มกันโรค และขาดทักษะเรียนรู้
ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
31 มี.ค. 2564 ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยล่าสุด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยได้รับการสนับสนุนจากยูนิเซฟ ชี้ให้เห็นว่า แม้การพัฒนาเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีความก้าวหน้าในหลายด้าน แต่ยังคงมีเด็กอีกจำนวนมากที่ขาดแคลนและเข้าไม่ถึงการพัฒนาในอีกหลายมิติ อาทิ ขาดโภชนาการ ขาดภูมิคุ้มกันโรค ขาดแคลนหนังสือ ขาดทักษะการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน และไม่ได้เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษา
การสำรวจครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีทั่วประเทศไทย หรือ MICS 6 (Multiple Indicator Cluster Survey) ซึ่งได้มีการเผยแพร่ผลสำรวจระดับชาติไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคมปี 2563 ทั้งนี้ ผลสำรวจล่าสุดในวันนี้เป็นการสำรวจแบบเจาะลึกใน 17 จังหวัดที่มีอัตราความยากจนสูงสุดตามรายงานประจำปี 2560 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งรวมถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสตูล
นางคิม คยองซัน ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ฉันขอถือโอกาสนี้ขอบคุณสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ทำให้เราได้มีข้อมูลสำคัญในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเด็ก และฉันรู้สึกยินดีที่ได้เห็นว่าความเป็นอยู่ของเด็กในจังหวัดชายแดนใต้มีความก้าวหน้าขึ้นในหลายมิติ แต่ในขณะเดียวกัน ผลสำรวจนี้ก็ได้ชี้ให้เราเห็นว่า ยังมีเด็กอีกจำนวนมากในจังหวัดชายแดนใต้ที่กำลังเผชิญกับภาวะขาดสารอาหารซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายตามมา อีกทั้งยังเข้าไม่ถึงการศึกษา ขาดทักษะและทรัพยากร ซึ่งฉุดรั้งให้พวกเขาตามไม่ทันเด็ก ๆ ในพื้นที่อื่น นี่ไม่ได้เป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น แต่อาจส่งผลไปตลอดช่วงชีวิตของพวกเขา การสำรวจนี้จัดทำขึ้นตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้น สถานการณ์ตอนนี้จึงน่าเป็นห่วงยิ่งขึ้น เราต้องใช้วิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสให้เราร่วมมือกันเร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้เด็ก ๆ ที่เปราะบางที่สุดได้เติบโตขึ้นและมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้า ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากที่ใด”
นางสาววันเพ็ญ พูลวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า “ผลการสำรวจในระดับจังหวัดนำร่อง 17 จังหวัด ซึ่งรวมถึง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการเข้าถึงสิทธิและบริการสาธารณะได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้ง ยังเป็นข้อมูลพื้นฐานของตัวชี้วัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ในเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและสตรี สำหรับการนำไปใช้กำหนดนโยบายเพื่อความอยู่ดีมีสุขของเด็กและสตรีในประเทศไทย”
ผลสำรวจได้แสดงแนวโน้มเชิงบวกด้านความเป็นอยู่ของเด็กในชายแดนภาคใต้ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งสำคัญมากต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กเล็ก โดยพบว่า ครัวเรือนที่มีเด็กในจังหวัดสตูล ยะลา และนราธิวาส มากกว่าร้อยละ 90 บริโภคเกลือเสริมไอโอดีน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 85
แนวโน้มเชิงบวกที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ เด็กในจังหวัดชายแดนใต้อยู่อาศัยกับพ่อแม่มากกว่าเด็กในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย ผลสำรวจพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีในห้าจังหวัดชายแดนใต้ เพียงร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 15 เท่านั้นที่ไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่ ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยประเทศที่ร้อยละ 24
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กในบางด้านก็มีแนวโน้มดีขึ้น เช่น อัตราการมีบุตรของวัยรุ่น ซึ่งลดลงในทั้งห้าจังหวัดชายแดนใต้ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ในจังหวัดสงขลา สตูล และยะลา การอบรมเด็กด้วยวิธีรุนแรงที่บ้านมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวแตกต่างกันอย่างมากในจังหวัดใกล้เคียง โดย ในจังหวัดยะลา มีเด็กที่ถูกอบรมโดยวิธีรุนแรงร้อยละ 25 ขณะที่ในจังหวัดนราธิวาส อัตรานี้สูงถึงร้อยละ 89
ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่าตกใจในอีกหลายด้านที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น เด็ก ๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้นับเป็นกลุ่มที่มีปัญหาทุพโภชนาการมากที่สุดในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กในระยะยาว ผลสำรวจพบว่า ประมาณร้อยละ 23 ของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กำลังเผชิญกับภาวะเตี้ยแคระแกร็น (มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์อายุ) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 13 เกือบสองเท่า
จังหวัดนราธิวาสมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีภาวะผอมแห้งสูงสุดใน 17 จังหวัดที่ทำการสำรวจแบบเจาะลึก โดยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยประเทศที่ไม่ถึงร้อยละ 8 ขณะเดียวกัน ภาวะผอมแห้งของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในจังหวัดปัตตานีก็เป็นที่น่ากังวลเช่นกัน โดยอยู่ที่ร้อยละ 10
การได้รับวัคซีนของเด็กยังคงเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงในพื้นที่ชายแดนใต้ ในขณะที่ทั่วประเทศ มีเด็กอายุ 1 ปีร้อยละ 82 ได้รับภูมิคุ้มกันครบ แต่ในจังหวัดนราธิวาส เด็กอายุ 1 ปีเกือบครึ่งหนึ่งไม่ได้รับภูมิคุ้มกันครบ
นอกจากนี้ ขณะที่เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ในประเทศไทย ร้อยละ 34 มีหนังสือที่บ้านอย่างน้อยสามเล่ม แต่ในจังหวัดชายแดนใต้ อัตรานี้ไม่ถึงร้อยละ 27 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดนราธิวาส แทบจะไม่มีเด็กคนไหนมีหนังสืออยู่ที่บ้านเลย โดยมีเพียงเด็กเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่มีหนังสือที่บ้าน
นอกจากนี้ ในขณะที่เด็กในจังหวัดชายแดนใต้เกือบทุกคนเข้าเรียนระดับชั้นประถมศึกษา แต่เด็กจำนวนมากกลับยังคงขาดทักษะขั้นพื้นฐานที่จำเป็น เด็กอายุ 7-8 ปีเพียงร้อยละ 18 ถึงร้อยละ 36 ในจังหวัดนราธิวาส สงขลา ปัตตานี และยะลา เท่านั้นที่มีทักษะการอ่านขั้นพื้นฐาน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศที่ร้อยละ 52 ในด้านการคำนวณขั้นพื้นฐานก็เช่นกัน มีเด็กอายุ 7-8 ปีเพียงร้อยละ 32 ในจังหวัดยะลา และเพียงร้อยละ 12 ในจังหวัดปัตตานี เท่านั้นที่มีทักษะการคำนวณขั้นพื้นฐาน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 47
จังหวัดชายแดนใต้ยังมีสัดส่วนของเด็กที่ไม่ได้เรียนในระดับมัธยมสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศมาก ในจังหวัดนราธิวาส สงขลา ปัตตานี และสตูล มีเด็กวัยมัธยมศึกษาตอนต้นประมาณ ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 8 ที่ไม่ได้เข้าเรียน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 3 ปัญหานี้รุนแรงขึ้นในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีเด็กวัยมัธยมปลายถึงร้อยละ 19 ในจังหวัดปัตตานี, ร้อยละ 22 ในจังหวัดสงขลา และร้อยละ 36 ในจังหวัดนราธิวาส ที่ไม่ได้เข้าเรียน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 18
ดาวน์โหลดรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีใน 17 จังหวัดของประเทศไทยได้ที่ https://uni.cf/31Bo5n7
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MICS การสำรวจ MICS ทั่วโลก ได้รับการพัฒนาโดยองค์การยูนิเซฟในปี ค.ศ. 1990 ซึ่งเป็นโครงการสำรวจครัวเรือนในระดับนานาชาติ โดยจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของเด็กและสตรีในระดับประเทศ เพื่อการจัดทำตัวชี้วัดที่เป็นสากลและสามารถเปรียบเทียบระหว่างประเทศได้ นับตั้งแต่เริ่มโครงการ มีการสำรวจทั้งหมดเกือบ 330 ครั้งในกว่า 115 ประเทศ ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้ประเทศมีข้อมูลสำหรับใช้ประกอบในการกำหนดนโยบายและโครงการต่าง ๆ รวมทั้งใช้ติดตามความก้าวหน้าของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศอื่น ๆ |