กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเปิดเผยรายงานด้านสิทธิมนุษชนในประเทศไทยประจำปี ค.ศ. 2020 โดยระบุถึงสถานการณ์ในหมวดหมู่ต่างๆ และชี้ถึงเหตุการณ์ที่เป็นข่าวใหญ่ในไทยเมื่อปีที่แล้ว เช่น ความพยายามของรัฐบาลไทยที่ให้เฟสบุ๊คปิดเพจ “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” เมื่อเดือนสิงหาคม
ทางการสหรัฐฯ จัดหมวดหมู่ในรายงานฉบับนี้ เเยกตามประเภทเช่น เสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็น การเลือกตั้ง การหายสาบสูญของบุคคลและคอร์รัปชั่น ตามข้อมูลของหน่วยงานเก็บข้อมูลด้านกฎหมาย กลุ่มสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคสังคมอื่นๆ
ในรายงานฉบับล่าสุดนี้ ได้กล่าวถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนหลายกรณีในประเทศไทย ในตัวอย่างของการ จับกุมตัวโดยพลการ สวัสดิภาพของนักโทษการเมือง กฎรุนแรงซึ่งขัดขวางเสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็นเเละเสรีภาพสื่อ รวมถึงการบล็อคเว็บไซต์
กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันระบุว่าเจ้าหน้าที่ไทย ดำเนินการสอบสวนและลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องการกระทำผิดโดยเจ้าหน้าที่โดยไม่มีการรับโทษยังคงเป็นปัญหาในประเทศไทยโดยเฉพาะในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งเกือบทุกอำเภอของจังหวัดเหล่านี้อยู่ภายใต้กฎหมายมาตรการฉุกเฉิน
รายงานฉบับนี้ระบุด้วยว่ากลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำร้ายเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและประชาชนโดยทั่วไปด้วย
ตัวอย่างบางส่วนของกรณีที่ถูกกล่าวถึงรายงานฉบับนี้ภายใต้ชื่อ 2020 Country Reports on Human Rights Practices: Thailand ที่เป็นข่าวดังในประเทศไทยก่อนหน้านี้ประกอบด้วย:
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องเรียนต่อตำรวจเพื่อให้ดำเนินการต่อ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการและผู้ลี้ภัยทางการเมืองชื่อดัง จากข้อหาสร้างเฟซบุ๊กเพจ”รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” เมื่อเดือนสิงหาคม
การหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยที่ถูกลักพาตัวในกรุงพนมเปญ เมื่อเดือนมิถุนายน กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯกล่าวในรายงานว่า ตามข้อมูลกลุ่มเอ็นจีโอหลายหน่วยงาน มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยอย่างน้อยเเปดคนหายตัวไปในลักษณะเดียวกันตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อเจ็ดปีก่อน
ในประเด็นปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทย รายงานฉบับนี้ยกตัวอย่างถึง การดำเนินการของตำรวจและอัยการเมื่อปีที่แล้ว สืบเนื่องเหตุ นายวรยุทธ “บอส” อยู่วิทยา ขับรถเฟอร์รารีชนเจ้าหน้าตำรวจรายหนึ่งเสียชีวิต เมื่อปี พ.ศ. 2555
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่มิได้เป็นข่าวใหญ่ในประเทศไทยแต่ถูกระบุในรายงาน 2020 Country Reports on Human Rights Practices: Thailand เช่นกัน อย่างเช่นเมื่อสองปีก่อนที่เจ้าหน้าที่ส่งนักเขียนออนไลน์ชาวเวียดนาม ตรอง ดุย นัท ออกจากไทยไปยังเวียดนามหลังจากที่เขาขอลี้ภัยในไทย เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เขาถูกศาลเวียดนามตัดสินจำคุก 10 ปีในข้อกล่าวหา “ใช้อำนาจในหน้าที่ในทางที่ผิด” ทั้งนี้นายตรอง ดุย นัท สังกัดสำนักข่าว Radio Free Asia ซึ่งอยู่ในสื่อภายได้องค์กรแม่เดียวกับ VOA
สำหรับสถิติตัวเลขเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในรายงานฉบับนี้ ประกอบด้วย:
มีผู้ประท้วง 175 รายในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาในการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล ตามข้อมูลของกลุ่ม Thai Lawyers for Human Rights
กว่า 30 คนของผู้ประท้วง ซึ่งรวมถึงนักเรียนมัธยมปลายวัย 16 ปีถูกหมายเรียกรับฟังข้อกล่าวหาทำผิดมาตรา 112
กว่า 10 ที่เป็นเเกนนำผุ้ประท้วงถูกตั้งข้อหาอย่างน้อยสองข้อหาว่าทำผิดมาตรา 112
ผู้ประท้วงอย่างน้อย 45 คน ซึ่งรวมถึงนักเรียนมัธยมปลายอายุ 17 ปี ถูกกล่าวหายุยงปลุกปั่น