เคสแรกในไทย “ปลัดอำเภอหญิง” ป่วยดับ หลังติดเชื้อโควิดรักษาหายโดยไม่แสดงอาการ ขณะที่ “โควิดไทย” ยังวิกฤติ เสียชีวิต 30 ราย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 3,129 ราย พบคลัสเตอร์ใหม่กทม.-สมุทรปราการ-สมุทร สาคร 4 จุด “ฮู” จับตาเข้ม! มหาภัย 2โควิดสายพันธุ์ใหม่ “เดลตาพลัส” และ “แลมบ์ดา” เผยระบาดเร็ว ทำคนติดเชื้อป่วยรุนแรง
ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.)เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.64 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 3,129 ราย โดยเป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,106 ราย (แยกเป็นจากระบบเฝ้าระวังและบริการสุขภาพ 1,991 ราย จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 658 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 457 ราย) และเดินทางมาจากต่างประเทศอีก 23 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 207,724 ราย วันนี้มีผู้เสียชีวิตอีก 30 ราย ทำให้ยอดเสียชีวิตขยับไปที่ 1,555 ราย รักษาหายเพิ่มอีก 4,651 ราย รวมยอดรักษาหาย 172,316 ราย ยังรักษาอยู่จำนวน 33,853 ราย เป็นการรักษาอยู่ในรพ.8,590 ราย รพ.สนาม 25,263 ราย ทั้งนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 1,313 ราย ในจำนวนผู้ป่วยหนักนี้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจถึง 376 ราย
สำหรัยบรายละเอียดผู้เสียชีวิต 30 ราย เป็นเพศชาย 18 ราย เพศหญิง 12 ราย อายุ 38-89 ปี อยู่ในพื้นที่ กทม.มากที่สุด 22 ราย เพชรบุรี 3 ราย สมุทรปราการ สมุทรสงคราม อุดรธานี สระแก้ว นราธิวาส จังหวัดละ 1 ราย โดยมีโรคประจำตัว เป็นโรคความดันโลหิต เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หัวใจ โรคไต มะเร็ง ติดเตียงโรคปอด ซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น โดยในจำนวนนี้ เป็นการติดเชื้อจากคนในครอบครัว และคนอื่นๆ มากสุดเช่นเดิม เช่น เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน อาศัยและเดินทางเข้าไปในสถานที่ระบาด เข้าไปในสถานที่แออัดพลุกพล่าน ทั้งนี้พบว่า 2 ราย เสียชีวิตระหว่างการสอบสวนโรค
ส่วน 10 อันดับที่พบผู้ป่วยภายในประเทศสูงสุด อันดับ 1 ยังเป็นกรุงเทพฯ 1,032 ราย อันดับ 2 สมุทรปรา การ 390 ราย อันดับ 3 สมุทรสาคร 171 ราย อันดับ 4 นครปฐม 130 ราย อันดับ 5 นนทบุรี 105 ราย อันดับ 6 ชล บุรี 75 ราย อันดับ 7 ปทุมธานี 71 ราย อันดับ 8 นราธิวาส 67 ราย อันดับ 9 ปัตตานี 58 ราย อันดับ 10 พระนครศรี อยุธยา 43 ราย
ด้าน นายศราวุธ จิระพิทักษ์กุล นายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาล ประจวบคีรีขันธ์ ว่า น.ส.วรรณี คงทอง อายุ 58 ปี ชาวสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียน ได้เสียชีวิต หลังรักษาตัวนานกว่า 1 สัปดาห์ จากอาการปอดติดเชื้อรุนแรงและมีประวัติติดเชื้อโควิด-19 แต่รักษาหายกลับมาทำงาน ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ กระทั่งมีอาการเหนื่อยหายใจติดขัด ทำงานไม่ไหว จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลประจวบ แต่ไม่พบเชื้อโควิด
นายแพทย์สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า กรณีการเสียชีวิตของปลัดอำเภอหญิงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจทางการแพทย์ และญาตินำไปบำเพ็ญกุศลได้ตามปกติ เพราะไม่ได้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด ขณะที่เดิมมีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง ต่อมาติดเชื้อโควิด เข้ารักษาระหว่างวันที่ 14 – 30 เม.ย.64 จากนั้นหายป่วยกลับบ้านโดยไม่มีอาการ ต่อมาวันที่ 27 พ.ค.มีอาการหายใจไม่สะดวก จุกแน่นใต้ลิ้นปี่ ไม่มีอาการไอหรือเสมหะ ไม่เจ็บคอรับประทานอาหารได้ ไม่มีอาการอาเจียนหรือถ่ายเหลว แต่มีไข้ ตรวจพบไม่เจอเชื้อโควิด นอนรักษาที่ตึกอายุรกรรม 2 จากอาการปอดอักเสบรุนแรง
“ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น จึงใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ยาฆ่าเชื้อ พบว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือด ระบบหายใจล้มเหลว ไตวายเฉียบพลัน ก่อนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ได้ตรวจหาเชื้อโควิดแต่ไม่เจอ ถ้าสงสัยว่าเป็นปัญหามาจาการติดเชื้อโควิดรอบแรกหรือไม่ ขอเรียนว่าไม่มีรายงานแบบนี้ในประเทศไทยว่าหายแล้วยังติดเชื้ออีก และการติดเชื้อรอบแรกไม่มีอาการบ่งชี้ทำให้ปอดเสื่อม หากญาติจะทราบข้อมูล จะต้องนำชิ้นเนื้อไปตรวจสอบ เพื่อหาผลข้างเคียง
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า องค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ (ฮู) แถลงกำลังจับตาเฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ะระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์เดลตาพลัส ซึ่งกลายพันธุ์จากสายพันธุ์เดลตา ซึ่งพบการแพร่ระบาดครั้งแรกในประเทศอินเดีย สายพันธุ์แลมบ์ดา หรือชื่อเป็นทางการ “ซี.37 (C.37)” ซึ่งพบการแพร่ระบาดครั้งแรกในประเทศเปรู ก่อนลุกลามไปในพื้นที่ต่างๆ ของภูมิภาคละตินอเมริกา และทั่วโลก รวมแล้ว 29 ประเทศ
ทั้งนี้ ดับเบิลยูเอชโอ เปิดเผยว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ รวมถึงทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยหนักกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ ทั่วโลกยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมจำนวน 177,816,485 ราย ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวน 3,848,938 ราย และผู้ป่วยที่รักษามีจำนวนสะสม 162,323,287 ราย
โดยสหรัฐฯ พบผู้ป่วยติดเชื้อสะสมมากที่สุดในโลกจำนวน 34,365,985 ราย ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวน 616,150 ราย มากเป็นอันดับ 1 ของโลกเช่นกัน และผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 28,616,495 ราย