เผยแพร่:
ปรับปรุง:
นราธิวาส – ประมงพื้นบ้านนราธิวาสรวมตัวกว่า 150 คนเรียกร้องรัฐ หลังประมงจังหวัดได้ห้ามชาวประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำในระยะใกล้ฝั่ง 3,000 ไมล์ทะเล เผยพิษโควิด-19 ทำเดือดร้อนไปทั่ว ยังมาโดนซ้ำห้ามจับปลาเพื่อเลี้ยงชีพ
วันนี้ (4 ก.พ.) ที่อาคาร 30 คูหา บริเวณหาดนราทัศน์ เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ชาวประมงพื้นบ้านหาดนราทัศน์ เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส บ้านโคกเคียน บ้านอ่าวมะนาว และบ้านทอน อ.เมือง จังหวัดนราธิวาส กว่า 150 คน ได้รวมตัวเพื่อยื่นข้อเรียกร้องหรือการทำมาหากินอาชีพชาวประมงจับสัตว์น้ำ ในทะเลอ่าวไทยฝั่งนราธิวาส หลังประมงจังหวัดได้ห้ามชาวประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำในระยะใกล้ฝั่ง 3,000 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่นำเรือหน่วยประมงเข้มงวดตรวจสอบ เพื่อจับกุมเรือประมงพื้นที่ขัดคำสั่งและทำการลากหรือจับสัตว์น้ำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย
ในการรวมตัวประชุมรับฟังของประมงพื้นบ้านในครั้งนี้มี นายเรวัตร คงประดิษย์ หัวหน้าประมงจังหวัดนราธิวาส นายสมาแอ เจ๊ะมูดอ นายกสมาคมพื้นบ้านแห่งประเทศไทย นายปารมี พิมานแมน สมาชิกสภาจังหวัดนราธิวาส และนายรพี มามะ คณะที่ปรึกษา ศอ.บต./ผู้ช่วยเลขานุการ คณะที่ปรึกษาระดับพื้นที่ กอ.รมน.ภาค 4 เข้าร่วมรับฟังปัญหาและข้อเสนอความประสงค์ของประมงพื้นบ้าน
ด้าน นายเรวัตร คงประดิษย์ หัวหน้าประมงจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า “ประมงพื้นบ้าน” กล่าวคือ การทําการประมงในเขตทะเลชายฝั่งไม่ว่าจะใช้เรือประมง หรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง ทั้งนี้ ที่มิใช่เป็นประมงพาณิชย์ “ประมงพาณิชย์” และการทําการประมงโดยใช้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป หรือเรือประมงที่ใช้เครื่องยนต์มีกําลังแรงม้าถึงขนาดที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด การทำประมงต้องไม่กระทบต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทะเล ซึ่งกรมประมงเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน แต่มีความจำเป็นต้องทำตามกฎหมาย และไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งกับพื้นที่ใดๆ ให้เกิดขึ้น และพร้อมให้ความร่วมมือกับประมงพื้นที่ในการพูดคุยสร้างความเข้าใจ เพื่อให้เกิดการสอดคล้องในการประกอบอาชีพและไม่ทำลายระบบอนุรักษ์ในทะเล
ขณะเดียวกัน ชาวประมงพื้นบ้านได้สะท้อนปัญหาจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทุกคนต่างได้รับผลกระทบ ไม่เว้นชาวประมงพื้นบ้านที่หาเช้ากินค่ำ จับสัตว์น้ำในคลอง ทะเล เพื่อหาเลี้ยงชีพ จุนเจือเลี้ยงดูครอบครัว โดยเรือประมงพื้นที่บ้านพื้นที่จังหวัดนราธิวาสรวมประมาณ 800 กว่าลำ จึงอยากให้กรมประมง หรือหน่วยงานรัฐส่วนเกี่ยวข้องหาทางออกให้ชาวบ้านหรือชาวประมงพื้นที่บ้าน การเข้มงวดต้องทำด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ยืนยันในห้วงที่ผ่านมา ชาวประมงพื้นบ้านไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม และทำการประมงจับสัตว์น้ำและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน เราอยู่กับทะเลมายาวนาน อาชีพของเราคือ ชาวประมง ตั้งแต่ปู่ทวด ตายาย รุ่นต่อรุ่น จึงอยากให้รัฐเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ปัญหาเป็นการเร่งด่วน
ทางด้าน นายปารมี พิมานแมน สมาชิกสภาจังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้รับเลือกเป็นตัวแทนชาวบ้าน และชาวบ้านได้ตั้งเป็นแกนกลางหรือผู้นำของชาวบ้านในการนี้ กล่าวว่า ตนในฐานะผู้แทนอาสามาทำหน้าที่เพื่อประชาชน เมื่อประชาชนเดือดร้อนเราก็ยินดีให้ความร่วมมือช่วยเหลือ และต้องเข้าใจประชาชน อาชีพที่เป็นชาวประมงพื้นที่บ้าน แน่นอนที่สุด ประชาชนเดือดร้อนภายใต้การกวดขัน
แต่ครั้งนี้ทางกลุ่มประมงพื้นบ้านได้ข้อสรุปร่วมกันในเบื้องต้น คือ ให้ผมในฐานะ ส.จ.ของประชาชน เป็นหัวหน้าคณะทำงานติดตามและรับฟังข้อเสนอของประมงพื้นบ้าน เพื่อรวบรวมข้อเสนอต่างๆ โดยคณะชุดนี้จะประกอบด้วย คนของรัฐและชาวประมงในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 15 คน ซึ่งประชาชนหรือชาวประมงพื้นบ้านพอใจ และในเร็ววันนี้จะมีการตั้งคณะทำงานและหาทางออกที่ดีที่สุด เพื่อจะทำให้ทุกฝ่ายลดข้อขัดแย้ง หรือไม่สร้างเงื่อนไข และเกิดข้อพิพาทกับชาวบ้านในพื้นที่ ชาวประมงพื้นบ้านจะได้ประกอบอาชีพ และไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะจะติดตามความคืบหน้าต่อไป