เขียนวันที่
วันจันทร์ ที่ 09 มกราคม 2566 เวลา 00:02 น.
งานแต่งงานลูกสาวของ นายวัชระ ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐ ลูกชายของ นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน นายก อบจ.นราธิวาส ในฐานะ “บ้านใหญ่นราธิวาส” กลายเป็นศูนย์รวมของนักการเมืองน้อยใหญ่ ทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้
วันอาทิตย์ที่ 8 ม.ค.66 ที่ร้านอาหารฮาสานะห์ พรุบาโกย ยะลา ภายในสวนขวัญเมือง จ.ยะลา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ร่วมแสดงความยินดีกับ น.ส.กูมีอา ยาวอหะซัน บุตรสาวของ นายวัชระ ที่ได้เข้าพิธีวิวาห์กับ นายอัลอามีน ตันธนวัฒน์ ลูกชายปลัดอำเภอกาบัง จ.ยะลา
สำหรับพิธีในวันนี้ เป็นการส่งเจ้าสาวจากนราธิวาส ไปบ้านเจ้าบ่าวที่ จ.ยะลา ซึ่งเป็นไปตามประเพณีอิสลาม ในส่วนของพิธีแต่งงาน และงานฉลองมงคลสมรสที่จัดขึ้นโดยทั้งสองครอบครัวนั้น จัดไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.65 วันส่งท้ายปีเก่า
ในงานฉลองมงคลสมรส นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ได้เดินทางไปร่วมงาน และหารือกับ “นายก กูเซ็ง” อย่างใกล้ชิดสนิทสนม จากนั้นได้นำภาพไปโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 2 ม.ค.66 ประหนึ่งส่งนัยทางการเมืองว่า “บ้านใหญ่ยาวอหะซัน” ยังอยู่กับพรรคสร้างอนาคตไทย
ก่อนหน้านั้น พรรคสร้างอนาคตไทยลงไปจัดกิจกรรมใหญ่ที่ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.65 พร้อมเปิดตัว “นายก กูเซ็ง” เป็นผู้สนับสนุนพรรค โดยจะส่งลูกชาย 1 จาก 2 คนลง ส.ส.นราธิวาส สังกัดพรรคสร้างอนาคตไทย คือ นายวัชระ ยาวอหะซัน ซึ่งต้องย้ายจากพรรคพลังประชารัฐ มาสวมเสื้อสร้างอนาคตไทย พร้อมดูแลผู้สมัครเขตอื่นให้ทั้งหวัด
แต่ต่อมามีข่าวช่วงปลายปีว่า พรรคสร้างอนาคตไทยมีแผนควบรวมกับพรรคไทยสร้างไทยของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ทำให้มีข่าว่า “นายก กูเซ็ง” อาจทบทวนการตัดสินใจ เพราะถือว่าข้อตกลงกับพรรคสร้างอนาคตไทยจบไปแล้ว ทำให้นายสนธิรัตน์ ต้องลงพื้นที่ โดยถือโอกาสไปแสดงความยินดีในงานแต่งงานลูกสาวนายวัชระ ยาวอหะซัน และจับเข่าคุยกับ “นายก กูเซ็ง”
@@ สอท.มั่นใจ “นายก กูเซ็ง” เคียงข้างแม้ควบรวมพรรค
หลังกลับจากร่วมงานฉลองมงคลสมรส นายสนธิรัตน์ก็โพสต์ภาพส่งนัยทางการเมือง สร้างความมั่นใจว่า “บ้านใหญ่ยาวอหะซัน” ยังอยู่กับพรรคสร้างอนาคตไทย แม้จะมีการควบรวมกับพรรคไทยสร้างไทยก็ตาม
แหล่งข่าวระดับสูงจากพรรคสร้างอนาคตไทย ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับนายสนธิรัตน์ เผยว่า นายกูเซ็ง ยืนยันยังสนับสนุนพรรคสร้างอนาคตไทย และจะจัดตัวผู้สมัคร ส.ส.ลงสู้ศึกเลือกตั้งนราธิวาส 4 เขตจาก 5 เขต โดยเว้นเอาไว้ 1 เขต เพื่อหลีกทางให้กับ นายกูเฮง ยาวอหะซัน ลูกชายอีกคนของ “นายก กูเซ็ง” ซึ่งเป็น ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ และยังยืนยันจะอยู่กับพรรคประชาชาติต่อไป
@@ ตั้งเป้ากวาด 3 เก้าอี้ – ประเมินประชาชาติไม่เกิน 6
แหล่งข่าวยังแสดงความมั่นใจว่า พรรคสร้างอนาคตไทยจะได้ ส.ส.ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างน้อย 3 เขตจาก 12 เขต โดยทั้ง 3 เขตอาจมาจาก จ.นราธิวาสทั้งหมด และในการเลือกตั้งครั้งต่อไป (หลังจากปี 66) ทางพรรคยังมั่นใจว่าจะดึง นายกูเฮง ให้ย้ายจากพรรคประชาชาติ มาร่วมชายคากับพรรคสร้างอนาคตไทย หรือในชื่อพรรคใหม่หลังจากควบรวมกับพรรคไทยสร้างไทยสำเร็จด้วย
ส่วนภาพรวมของการเลือกตั้งปีนี้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พรรคสร้างอนาคตไทยประเมินว่า พรรคของตนจะได้ 3 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ราวๆ 2-3 ที่นั่ง พลังประชารัฐ 1-2 ที่นั่ง ฉะนั้นพรรคประชาชาติ แชมป์เก่า จะได้ 4-6 ที่นั่ง โดยตัวเลขสูงสุดคาดว่าจะได้ 6 ที่นั่ง เท่ากับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว
@@ ประชาชาติงัดโพลสวน สอท. ชู”วันนอร์”ว่าที่นายกฯ
เมื่อคู่แข่งหน้าใหม่ประเมินออกมาแบบนี้ ทำให้ “แชมป์เก่า” และ “เต็งหนึ่งชายแดนใต้” อย่างพรรคประชาชาติ ที่มั่นใจจะกวาด ส.ส.ไม่น้อยกว่า 10 เก้าอี้จาก 12 เก้าอี้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถึงขั้นยอมไม่ได้
ล่าสุดออกมาเผยแพร่ผลโพล หรือผลสำรวจความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนชายแดนใต้ ที่จัดทำโดยกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมที่ชื่อ “Projek Sama Sama” พร้อมองค์กรเครือข่าย
วิธีการสำรวจ เป็นการให้ตอบแบบสอบถามทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 28 ธ.ค.65 ถึง 3 ม.ค.66 มี 2 คำถามสำคัญ คือ
“คนปาตานี/ชายแดนใต้ อยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี” ในการเลือกตั้ง ปี 2566
ปรากฏว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคพรรคประชาชาติ มาเป็นอันดับ คะแนนนำโด่งร้อยละ 46.1
อันดับ 2 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร้อยละ 21
อันดับ 3 “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ร้อยละ 14
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งถูกระบุในการสำรวจว่าสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ อยู่อันดับ 11 ได้คะแนนร้อยละ 0.5 คะแนนต่ำกว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่อยู่อันดับ 10 ได้คะแนน ร้อยละ 0.5 เสียอีก
คำถามที่ 2 พรรคการเมืองที่จะเลือก
อันดับ 1 ร้อยละ 62.3 ระบุว่าจะเลือกพรรคประชาชาติ
อันดับ 2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 15.9
อันดับ 3 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 10.9
ส่วนพรรคพลังประชารัฐ อยู่อันดับ 7 พรรคประชาธิปัตย์อยู่รั้งท้าย ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติไม่ติดในผลสำรวจ
แม้โพลชิ้นนี้จะทำแบบเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพื้นที่ และเป็นการสำรวจทางออนไลน์ที่น่าจะมีความเบี่ยงเบนสูงพอสมควร แต่ปรากฏว่าทางพรรคประชาชาติ ได้ทำภาพแบนเนอร์รับผลสำรวจทันทีว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา คือนายกฯในดวงใจของคนชายแดนใต้
@@ ประชาชาติเปิดศูนย์ประสานงานพรรคที่สุไหงปาดี
ขณะที่พรรคประชาชาติต้องบอกว่ารุกหนักชายแดนใต้ทุกพื้นที่ ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 6 ม.ค.66 พ.ต.อ.ทวี ได้ลงพื้นที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เพื่อเปิดศูนย์ประสานงานของพรรค ที่ อ.สุไหงปาดี ซึ่งถือว่าเป็นอำเภอห่างไกล แต่พรรคก็ยังไปเปิดศูนย์ เปิดสาขาพรรค พร้อมพบปะรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อ.สุไหงปาดี และใกล้เคียง เช่น อ.เจาะไอร้อง อ.แว้ง อ.สุคิริน
โดยชาวบ้านในพื้นที่มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และราคายางพารา โดยเฉพาะโดน “โรคใบร่วง” ระบาด สร้างความลำบากมาหลายปี
@@ ปชป.ตีปี๊บผลงานช่วยเหลือแรงงาน-ผู้ประกอบการร้านต้มยำ
ด้านความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหมายมั่นปั้นมือจะกวาด ส.ส.ในพื้นที่ชายแดนใต้ให้มากกว่าการเลือกตั้งปี 62 ซึ่งถือว่าผิดฟอร์ม ได้มาเพียง 1 เก้าอี้จาก 11 เก้าอี้นั้น
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ม.ค.66 นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงกรณีที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ดำเนินการช่วยเหลือเเละเเก้ไขปัญหาเเรงงานในประเทศมาเลเซีย (เเรงงานต้มยำกุ้ง) ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองงบประมาณแผนบูรณาการการเเก้ไขปัญหาจังหวัดชายเเดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2567
นายนิพนธ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.65 มีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตนได้เสนอในที่ประชุมว่า ให้มีการเร่งรัดช่วยเหลือกลุ่มเครือข่ายร้านอาหารต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย เพราะถือเป็นคนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ และส่งรายได้กลับมายังพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ ปรากฏว่าผ่านมาจนถึงวันนี้ ข้อเสนอในหลายๆ เรื่องได้รับการแก้ไขดำเนินการแล้ว ได้แก่
1.ให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการวางระบบการจัดการศึกษาให้เเก่เเรงงานไทยในประเทศมาเลเซีย โดยนำหลักสูตรการศึกษา กศน. หรือหลักสูตรอื่นๆ ที่มีความสอดคล้องกับอาชีพเเละสามารถนำไปต่อยอดทางอาชีพได้ เพื่อสนับสนุนให้เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เหมาะสม พร้อมทั้งจัดระบบการเรียนภาษาไทยหรือการเพิ่มทักษะการใช้ภาษาไทยขั้นพื้นฐานให้สามารถสื่อสารได้
2.ให้กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหน่วยงานหลักที่จะผลักดันการทำความตกลงระหว่างประเทศในระดับรัฐบาลกับรัฐบาล (G to G) โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดมาตรฐานเเละการกำหนดราคาค่าธรรมเนียมสำหรับการทำ Working Permit (ใบอนุญาตทำงาน) ในสาขาเเรงงานเเต่ละประเภท เพื่อช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการเเละเเรงงาน รวมทั้งลดปัญหาเเรงงานผิดกฎหมาย
3.ให้กระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่ มีกิจกรรมที่เป็นการดูเเลคุณภาพชีวิตเเละการช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย เช่น การจัดกิจกรรมเพื่อให้ตัวเเทนเครือข่ายของเเรงงานสามารถมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมสำคัญทางศาสนา หรือเทศกาล เพื่อเป็นการสร้างความรู้สึกเป็นคนไทยที่สามารถเข้าถึงเเละสามารถมีสานสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐ
“ต้องขอขอบคุณศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้เร่งรัดดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว” นายนิพนธ์ ระบุ
สำหรับการให้ความช่วยเหลือแรงงานต้มยำกุ้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ข้ามไปทำงานในธุรกิจร้านอาหารไทยในมาเลเซีย หรือ “ร้านต้มยำกุ้ง” โดยมีจำนวนนับแสนคนนั้น มี 2 พรรคการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ คือ พรรคประชาชาติ กับพรรคประชาธิปัตย์ โดยแกนนำทั้ง 2 พรรคเคยเดินทางไปมาเลเซีย และพบปะกับแกนนำเครือข่ายต้มยำกุ้ง พร้อมรับฟังปัญหา และเสนอแนวทางการช่วยเหลือ ซึ่งกลุ่มแรงงานต้มยำถือเป็นคะแนนเสียงสำคัญจำนวนไม่น้อยในการเลือกตั้ง ส.ส.ทุกครั้ง โดยบางครั้งอาจเป็นเสียงชี้ขาดเลยด้วยซ้ำ
(อ่านประกอบ : “ประชาชาติ VS ปชป.” เปิดเกมชิงคะแนน “ร้านต้มยำมาเลย์”)