เสือตัวที่ 6
การวิสามัญฯ นายอับดุลฮากัม เจะมะ วัย 32 ปี ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงคนสำคัญ มีหมายจับที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) จำนวน 3 หมาย คือ 1. คดีใช้อาวุธปืนยิง นายปกรณ์ ลิแกการวงศ์ เสียชีวิต พื้นที่ สภ.ยี่วอ จ.นราธิวาส เมื่อวัน 10 ก.พ.60 2. คดียิงเจ้าหน้าที่ อส. (อาสารักษาดินแดน) อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.59 และ 3. คดีขว้างระเบิด 3 จุด ใน จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.60 จนกระทั่งล่าสุด เมื่อวันเสาร์ที่ 24 ก.ย.65 กลายเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคงรายล่าสุดที่เสียชีวิตจากเหตุปิดล้อม ตรวจค้น และยิงปะทะ ที่บ้านหลังหนึ่งใน ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส หลังจากที่ฝ่ายความมั่นคงได้ใช้ความพยายามอย่างที่สุดในการเจรจาเกลี้ยกล่อมให้ยอมวางอาวุธและเข้ามอบตัวเพื่อต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมของรัฐต่อไป โดยเจ้าหน้าที่รัฐได้เชิญผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ตลอดจนเครือญาติของผู้ต้องหารายนี้ เข้าร่วมเจรจาเกลี้ยกล่อมเพื่อให้ นายอับดุลฮากัม ซึ่งหลบซ่อนอยู่ในบ้าน ยอมออกมามอบตัว แต่ไม่เป็นผล โดยที่ผู้ต้องหาได้ใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังปิดล้อมอยู่เป็นระยะๆ
การสูญเสียจากการวิสามัญฯ ผู้ต้องหารายนี้ ไม่ได้เป็นรายแรกที่เกิดการสูญเสียในคดีความมั่นคงในพื้นที่ปลายด้ามขวาน การต่อสู้อย่างไม่ลดละแม้จะต้องเสียชีวิตของคนในกองกำลังติดอาวุธของขบวนการแห่งนี้มีให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ตลอดมา นั่นย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนว่า คนกลุ่มนี้ ได้รับการติดอาวุธทางความคิดอย่างเหนียวแน่นจนยากที่จะออกมายอมรับสิ่งใหม่ได้ ด้วยการปฏิเสธการต่อสู้ด้วยสันติวิธีที่รัฐและตัวทนกลุ่มเห็นต่างกำลังพูดคุยและแสวงหาทางออกร่วมกันแบบสันติวิธีโดยยังยึดมั่นกับการต่อสู้ด้วยวิธีการรุนแรงอย่างเข้มข้น คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า คนกลุ่มนี้ได้รับการบ่มเพาะทางความคิด ความเชื่อกันอย่างไร และคนในขบวนการกลุ่มไหนถึงมีศักยภาพในการหล่อหลอมความคิดที่จะปฏิเสธความเห็นต่าง และใช้ความรุนแรงเข้าแก้ปัญหาความเห็นต่างนี้ได้อย่างสุดโต่งเพียงนี้
ในขณะที่แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) ได้พยายามลดกระแสการต่อสู้ด้วยความรุนแรงระหว่างกัน แม้จะเป็นการบังคับใช้กฎหมายของรัฐก็ตาม โดยได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมย้ำว่า การบังคับใช้กฎหมายทุกครั้งรวมทั้ง ครั้งล่าสุดนี้ เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะวิสามัญฆาตกรรม หรือเอาชีวิตของผู้ก่อเหตุรุนแรง แต่ได้ใช้ความอดทนและดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้คนร้ายยอมออกมามอบตัว เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสีย ซึ่งหากยอมมอบตัว ก็จะได้รับการคุ้มครอง และดำเนินการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมตามหลักกฎหมายต่อไป แต่ในกรณีนี้ผู้ต้องหากลับปฏิเสธการดำเนินการของรัฐตามกระบวนการยุติธรรมของรัฐอย่างสิ้นเชิง และเลือกที่จะใช้ความรุนแรงจนเกิดความสูญเสียดังกล่าว
ปรากฏการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการต่อสู้ด้วยความรุนแรงระหว่างคนกลุ่มหนึ่งในขบวนการแบ่งแยกผู้คนกับเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามบังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมของรัฐเพื่อแสดงถึงอำนาจรัฐที่จะต้องดำรงคงอยู่ในทั่วทุกตารางนิ้วในอธิปไตยของรัฐ จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก จากการพูดคุยทำความเข้าใจให้ยอมรับในกระบวนการยุติธรรมของรัฐที่ให้โอกาสทุกคนในผืนแผ่นดินนี้อย่างเท่าเทียมกันเสมอ ที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง หากว่าผู้ถูกกล่าวหาเหล่านั้น ยอมรับในระบบกฎหมายของรัฐอย่างเต็มใจ ในทางตรงข้าม หากผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของรัฐอย่างสิ้นเชิง เจ้าหน้าที่รัฐก็มีความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายจนกระทั่งเกิดการสูญเสียที่อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ตาม
ความหยั่งลึกของความคิดความเชื่อของคนกลุ่มติดอาวุธในลักษณะที่ปฏิเสธระบบยุติธรรมและกฎหมายของรัฐ แม้จะเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ เมื่อเทียบกับประชากรในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ หากแต่คนกลุ่มหัวคิดสุดโต่ง นิยมความรุนแรงเหล่านี้ ย่อมจะสร้างความสูญเสียให้กับผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่ รวมทั้งทำลายทุกระบบของรัฐให้สูญเสียอย่างมหาศาลได้ และการที่คนกลุ่มนี้มีความคิดความเชื่อสุดโต่ง ปฏิเสธระบบยุติธรรมของรัฐย่อมไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือการเล่าสู่กันฟังแบบปากต่อปากของคนในพื้นที่รุ่นแล้วรุ่นเล่า หากแต่กระบวนการคิดและความเชื่อสุดโต่งของคนกลุ่มนี้ ย่อมเกิดจากการะกระทำเพื่อหล่อหลอมกล่อมเกลา เพื่อบ่มเพาะความคิดสุดโต่งอย่างเป็นกระบวนการจนทำให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ตกเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับรัฐอย่างสุดลิ่มขนาดยอมต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐจนตัวตาย
กระบวนการบ่มเพาะสร้างความเห็นต่างของคนในพื้นที่ปลายด้ามขวานจนกระทั่งขยายตัวหยั่งลึกเป็นความเครียดแค้นชิงชังสุดโต่ง จึงชัดเจนว่ามีการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการและต่อเนื่อง นับเป็นยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐที่สำคัญของขบวนการแบ่งแยกผู้คนในพื้นที่อิสระในการดูแลปกครองกันเองตามประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นมาในอดีตกาล ซึ่งความเห็นต่างทางความคิดของผู้คนในพื้นที่ก็มีการดำเนินการตั้งแต่คนในวัยเยาว์ที่ถูกแบ่งแยกผู้คนในพื้นถิ่นตามความเชื่อทางศาสนาออกจากเด็กในวัยเยาว์ที่มีความเชื่อในหลักศาสนาและมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งแกนนำขบวนการร้ายแห่งนี้รู้ดีว่า พวกเขาจะต้องแบ่งแยกผู้คนระหว่างเด็กในพื้นที่กับเด็กต่างพื้นที่ออกจากกันตั้งแต่แรกเริ่มของการเรียนรู้ เพราะนั่น จะสนองตอบยุทธศาสตร์การแบ่งแยกผู้คนให้เห็นต่างได้ง่ายขึ้น ภายใต้สภาพแวดล้อมในชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน จึงอำนวยให้นักสร้างมวลชนสามารถสร้างความเห็นต่างจนปฏิเสธกระบวนการของรัฐในทุกรูปแบบอย่างที่เห็นจนทุกวันนี้
กระบวนการบ่มเพาะแนวคิดรุนแรงอย่างสุดโต่ง สร้างความเกลียดชังต่อเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งการชักจูงเยาวชนให้หลงผิด เข้าร่วมขบวนการฯ ได้เริ่มตั้งแต่ในวัยเยาว์ และกระทำการอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสู่วัยฉกรรจ์ของขบวนการร้ายแห่งนี้นั้น จึงปรากฏออกมาให้เห็นเป็นเหตุรุนแรงในพื้นที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าแม้รัฐจะพยายามสื่อสารทำความเข้าใจและใช้การพัฒนาเพื่อลดช่องว่างระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุดก็ตาม หากแต่รัฐยังเข้าไม่ถึงกระบวนการบ่มเพาะของขบวนการเท่าที่ควร ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ไล่ล่า ปิดล้อมกลุ่มติดอาวุธตลอดจนผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงในพื้นที่ครั้งแล้วครั้งเล่า และมักจะจบลงด้วยการวิสามัญฯ ผู้ต้องหาที่เป็นกลุ่มคนที่เป็นผลผลิตของกระบวนการบ่มเพาะของขบวนการจนกระทั่งเป็นกลุ่มคนที่ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมของรัฐ และพร้อมจะต่อสู้กับรัฐในทุกรูปแบบแม้จะต้องเสียชีวิตลงก็ตาม