เผยแพร่:
ปรับปรุง:
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – นับเป็นข่าวดีในแวดวงอนุรักษ์ธรรมชาติ ล่าสุด “นกชนหิน” ขึ้นทะเบียนเป็น “สัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 20” ของประเทศไทย กฎหมายคุ้มเข้ม “หมายหัวนักล่า” มีโทษหนัก จำคุก 3 – 10 ปี ปรับตั้งแต่ 3 แสน 1 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หลังจากตกเป้า “ขบวนการล่าสัตว์” สังเวยตลาดมืดค้าชิ้นส่วนสัตว์ป่า จนอยู่ในสถานะวิกฤตเสี่ยงสูญพันธุ์”
สำหรับ นกชนหิน (Helmeted hornbill) เป็นนกขนาดใหญ่ในวงศ์นกเงือก 1 ใน 13 ชนิด นับเป็นสายพันธุ์โบราณหายาก มีถิ่นอาศัยกระจายในพื้นที่ป่าดิบชื้นทางตอนใต้ของคาบสมุทรมาเลย์ ไปจนถึงเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว โดยมีเขตกระจายพันธุ์เหนือสุดบริเวณภาคใต้ตอนล่างของไทย พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา จ.นราธิวาส, อุทยานแห่งชาติบางลาง จ.ยะลา อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี และอุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สถานการณ์ของนกชนหินในเมืองไทยเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ เกิดขบวนการลักลอบล่าเพื่อนำ “โหนก” อวัยวะส่วนโหนกบริเวณหัวกะโหลก สีเหลืองแดงตันแข็งเหมือนงาช้าง ซึ่งเป็นลักษณะโดดเด่นของนกชนหิน จนได้รับการขนานนามว่า “งาสีเลือด” นิยมนำไปใช้ในการทำตราประทับ เครื่องตกแต่ง กำไล สร้อย ทดแทนงาช้าง มีความเชื่อกันว่าเป็นสิ่งมงคล ทำให้โหนกของนกชนหินมีมูลค่ามาก เป็นที่ต้องการในตลาดซื้อขายชิ้นส่วนสัตว์ป่าโดยเฉพาะในประเทศจีนและสิงคโปร์
ดังเช่นที่ตกเป็นข่าวครึกโครมช่วงปลายปี 2562 เมื่อพรานป่านายอดีตทหารเก่าอุกอาจล่าหัวนกชนหิน 4 ตัว ในเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เพื่อแลกเงินค่าหัว หัวละ 10,000 บาท ก่อนจะส่งขายให้กับกลุ่มนักสะสมที่มีความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลังทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งเมื่อมีการแปรรูปโหนกของนกชนหินเป็นเครื่องประดับราคาซื้อขายจะพุ่งพรวดไปอยู่ที่ 20,000 – 30,000 บาทเลยทีเดียว
ในระดับสากลนกชนหินจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และอยู่ในบัญชีที่ 1 ของอนุสัญญาไซเตส (CITES) ตั้งแต่ปี 2518 ห้ามค้าชิ้นส่วนของนกชนหินมีความตามผิดกฎหมายทั้งไทยและเทศ ขณะที่สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรรมชาติ (IUCN) จัดให้นกชนิดนี้อยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง
ในประเทศไทยแต่เดิมนกชนหินอยู่ในสถานะสัตว์ป่าคุ้มครอง สถานการณ์นกชนหินในประเทศไทยมีจำนวนไม่เกิน 100 ตัว ความสามารถในการขยายพันธุ์ต่ำ มีแนวโน้มสูญพันธุ์สูง เนื่องจากพื้นที่อาศัยถูกคุกคาม ทำลายแยกเป็นหย่อมป่าขาดความต่อเนื่อง และถูกล่าเพื่อเอาโหนก มีการค้าผิดกฎหมายผ่านช่องทางออนไลน์
อย่างไรก็ตาม การผลักดันสถานะนกชนหินเข้าสู่บัญชีสัตว์ป่าสงวนเป็นผลพวงมากจากกระแสสังคม หลังจาก นายปรีดา เทียนส่งรัศมี เจ้าหน้าที่โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาเปิดเผยกรณีกลุ่มพรานเข้าป่าล่านกชนหินในเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ช่วงปี 2562 สร้างความตระหนักรู้ในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีต่อนกชนิดนี้มาเป็นลำดับ
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เครือข่ายนักอนุรักษ์ เรียกร้องให้ภาครัฐ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “ยกระดับการคุ้มครองนกชนหิน” ให้ “ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์สงวนชนิดใหม่ ลำดับที่ 20” เกิดแคมเปญ “ขอให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนอันดับที่ 20 ของไทย” ผ่านเว็บไซต์ www.change.org ซึ่งที่ผู้ร่วมลงชื่อเป็นจำนวนมาก ตลอดจนเรียกร้องให้รัฐระดมกำลังและทรัพยากรในการเข้าปรามปรามขบวนการล่าค้านกชนหินอย่างเด็ดขาดครบวงจร ทั้งในพื้นที่ตลอดจนเครือข่ายออนไลน์
กระทั่ง ที่ประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ครั้งที่ 1/2564 ที่มี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบกำหนดให้ นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 20 ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เพื่อยกระดับความคุ้มครองนกชนหินและถิ่นอาศัยให้สอดคล้องกับมาตรการนานาชาติ ให้สังคมเพิ่มความตระหนักในการอนุรักษ์มากขึ้น พร้อมกันนี้ มีการประกาศพื้นที่เตรียมกำหนดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่เตรียมการกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 24 แห่ง เนื้อที่รวมกว่า 619,681 ไร่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศด้วย
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 กำหนดโทษการล่าสัตว์ป่า จำแนกเป็น มาตรา 89 สัตว์ป่าคุ้มครอง จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท และมาตรา 89 วรรคสองสัตว์ป่าสงวน จำคุก 3 – 10 ปี ปรับตั้งแต่ 300,000 – 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาวิจัยนกเงือก ให้ความรู้ว่าในจำนวนนกเงือกทั้ง 13 ชนิดในประเทศไทย นกชนหินเป็นนกที่มีอายุโบราณมากที่สุด กล่าวได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของนกเงือกที่ยังมีชีวิตอยู่ บรรพบุรุษของนกเงือกในไทยมี 3 ชนิด เก่าแก่ที่สุดคือนกเงือกหัวหงอกมีอายุ 47 ล้านปี นกชนหิน 45 ล้านปี และนกเงือกคอแดง ซึ่งอยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน
บทบาทสำคัญของนกเงือกในระบบนิเวศคือการกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ การอนุรักษ์นกเงือกไว้ได้เท่ากับจะได้พื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น เพราะนกเงือกเหล่านี้ช่วยปลูกป่าและขยายพื้นที่ป่าให้มากขึ้นจากพฤติกรรมการกินผลไม้ที่หลากหลาย ส่งผลให้ป่าที่นกปลูกมีความหลากหลายตามไปด้วย ขณะเดียวกันผลไม้ที่นกเงือกกินและปลูกยังเป็นผลไม้ประจำถิ่น จึงได้ทั้งปริมาณ คุณภาพ และความหลากหลายที่ทำให้ป่ามีความสมบูรณ์
จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชีววิทยาการสืบพันธุ์ของนกชนหินพบว่า การทำรังของนกชนหินไม่ง่ายเหมือนชนิดอื่น เนื่องจากจะพิถีพิถันในการเลือกทำรังอย่างมาก โดยรังต้องมีลักษณะพิเศษที่จะต้องมีปุ่ม หรือมีชานชาลายื่นออกมาเพื่อให้นกเกาะเมื่อโผเข้ารัง ซึ่งโพรงลักษณะนี้ในธรรมชาติมีอยู่น้อย ไม่เหมือนนกเงือกชนิดอื่นที่ไม่พิถีพิถันในการเลือกรัง อีกทั้งวงจรชีวิตของนกชนหินยาวกว่าชนิดอื่นๆ โดยถือว่ายาวที่สุดในบรรดานกเงือกเอเชีย
ทว่า เมื่อป่าลดลง ขาดป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะไม้วงศ์ยาง ไม้ตะเคียน ไม้กาลอ เป็นต้น ซึ่งเป็นไม้เศรษฐกิจถูกลักลอบตัดมากขึ้น เป็นภัยคุกคามอันดับแรกๆ ของนกชนหินและนกเงือกชนิดอื่นๆ ในประเทศไทย เป็นการทำลายและรบกวนถิ่นอาศัยของนก ทั้งการเข้าไปหาของป่า เข้าไปตัดไม้ หรือกิจกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงการล่า เมื่อมีการรบกวนหรือทำกิจกรรมในป่านกก็จะตื่น และจะไม่ทำรัง เมื่อไม่ทำรังก็ไม่ออกลูกตามมา
จากการศึกษาวิจัยในผืนป่าเทือกเขาบูโดฯ กว่า 30 ปี ของ ทีม ศ.ดร.พิไล ระบุว่า พบรังนกสะสมทั้งหมด จำนวน 22 รัง ที่มีนกเข้ามาใช้ซ้ำๆ ราว 40 คู่ แต่เกิดการเสียหายไป 19 รัง เพราะต้นไม้หัก ถ้าไม่มีการเฝ้าระวังและมีการซ่อมแซมเมื่อต้นรังหักนกเงือกก็ต้องหารังใหม่ เท่ากับปีนั้นแม่นกจะไม่ออกลูก
คาดว่าปัจจุบัน มีนกชนหินในพื้นที่เทือกเขาบูโดฯ ประมาณ 100 ตัว หรืออาจไม่ถึง 100 ตัว เพราะในระยะหลังแต่ละปีพบนกทำรังแค่ 1 – 2 คู่ และออกลูกเพียงตัวเดียว ส่วนพื้นที่อื่นนั้นไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด แต่นกชนหินสามารถพบได้ในพื้นที่ป่าดิบทางภาคใต้ ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไป
ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ เปิดเผยถึงข้อดีของการขึ้นทะเบียนนกชนหินเป็นสัตว์สงวน กฎหมายในการดูแลคุ้มครองมีความเข้มข้นขึ้น แต่การบังคับใช้ต้องเข้มงวดขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนข้อเสียเมื่อนกชนหินถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวน กระทบต่อการทำวิจัยจะยุ่งยากขึ้น เพราะมีการกำหนดเขตหวงห้าม ซึ่งอาจจะเป็นการปิดกั้นนักวิจัยจากภายนอก ขณะเดียวกันหากไม่มีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ นกชนหินอาจจะหายไปโดยธรรมชาติ เพราะไม่สามารถเจาะโพรงเองได้ และยังต้องเป็นโพรงลักษณะพิเศษอีกด้วย ดังนั้นการจัดอันดับให้เป็นสัตว์ป่าสงวน แต่ไม่มีการเฝ้าระวังที่ดี ในที่สุดนกชนหินอาจค่อย ๆ ลดลง หรือหายไปเพราะไม่มีที่ทำรัง
นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากังวลสำหรับการยกสถานะนกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนก็คือ อาจเป็นการเพิ่มค่าหัวสร้างแรงจูงใจของนักล่ามากยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้นภาครัฐโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมศึกษาพัฒนาแนวทางในการอนุรักษ์นกชนหินอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาไซเตส (CITES) ได้ร่วมลงนามรับรองอนุสัญญาในปี พ.ศ. 2518 มีกลุ่มประเทศภาคี 178 ประเทศ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติ ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศดังกล่าว เพื่อจัดให้มีมาตรการในการควบคุมการครอบครอง การค้า การนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า
มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสัตว์ป่าหลายฉบับ แต่เดิมมีการคุ้มครองสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าที่หายาก ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 จำนวน 9 ชนิด แต่ด้วยสถานการณ์ของสัตว์ป่าในไทยหลายชนิดมีแนวโน้มถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น จึงได้มีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งกำหนดให้เปลี่ยนแปลงชนิดสัตว์ป่าสงวนได้โดยสะดวก โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น ไม่ต้องแก้ไข พ.ร.บ. อย่างฉบับเดิม
ต่อมา มีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงใหม่ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ฉบับล่าสุด พร้อมทั้ง บรรจุบัญชีชื่อสัตว์ทะเลเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดใหม่อีก 4 ชนิดในรอบ 27 ปี ได้แก่ วาฬบรูด้า, วาฬโอมูระ, ปลาฉลามวาฬ และ เต่ามะเฟือง เนื่องจาก พ.ร.บ. ฉบับเดิมบังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางมาตรการ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่จะใช้เป็นเครื่องมือหรือเอื้ออำนวยต่อการสงวน อนุรักษ์คุ้มครอง ดูแลรักษา ฟื้นฟูสัตว์ป่าและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันประเทศไทยมีสัตว์ป่าสงวนมีทั้งสิ้น 20 ชนิด ได้แก่ 1. นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร 2. แรดชวา 3. กระซู่ 4. กูปรี หรือโคไพร 5. ควายป่า 6. ละอง หรือ ละมั่ง 7. สมัน 8. เลียงผา 9. กวางผา 10. นกแต้วแล้วท้องดำ 11. นกกระเรียนไทย 12. แมวลายหินอ่อน 13. สมเสร็จ 14. เก้งหม้อ 15. พะยูน หรือ หมูน้ำ 16. วาฬบรูด้า 17. วาฬโอมูระ 18. เต่ามะเฟือง 19. ปลาฉลามวาฬ และล่าสุด 20. นกชนหิน