อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี นำคลิปจากกล้องดักถ่ายพฤติกรรมสัตว์มาเผยแพร่ เป็นคลิป “ลูกนกเงือกหัวหงอก” ออกมายืนเล่นหน้าโพรง หลังจากที่ก่อนหน้านี้มันต้องคอยรับอาหารจากครอบครัวอยู่ภายในโพรง
วันนี้ (2 ต.ค.2564) เฟซบุ๊กเพจ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี Budo Su ngai Padi National Park โพสต์คลิปลูกนกเงือกหัวหงอก ที่เพิ่งออกมาจากโพรงเมื่อ 8 วันที่แล้ว
โดยระบุว่า เนื่องในเป็นวันคล้ายวันสถาปนา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ครบรอบ 19 ปี ขอโพสต์ภาพความน่ารักของลูกนกเงือกหัวหงอก ซึ่งได้ออกมาจากโพรงเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา เวลา 08.59 น.
โดยคลิปมีความยาว 29 วินาที เป็นภาพลูกนกเงือกหัวหงอก ออกมายืนเกาะเถาวัลย์ที่หน้าโพรงตัวเดียว แล้วหันมองซ้าย มองขวา
ก่อนหน้านี้ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ได้โพสต์อัปเดตความน่ารักของครอบครัวนกเงือกหัวหงอกมาโดยตลอด
8 ส.ค.2564 ระบุว่า วันนี้ชุดลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ขอนำทุกท่านมาเที่ยวทิพย์…พร้อมแล้วมากันเลย มาส่องนกป้อนอาหารกัน….จากเฝ้าสังเกตและติดตามพฤติกรรมของพ่อนกตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-16.00.น. พ่อนกได้บินเข้าออกไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 3 ครั้ง พร้อมอาหารมาป้อนให้กับลูกและแม่นกที่อยู่ในโพรง โดยมีญาติมาช่วยด้วย แสดงถึงความมีน้ำใจของพวกมัน
ไม่มีคำว่าเหนื่อย หากได้ทำเพื่อสิ่งที่รัก
16 ส.ค.2564 ระบุว่า หลังจากทีมลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ได้พบโพรงนกเงือกหัวหงอก วันนี้ชุดลาดตระเวนได้เข้าไปสังเกตุการณ์ พร้อมตรวจสอบและเก็บภาพจากกล้องดักถ่ายที่ได้ติดตั้งไว้ เพื่อป้องกันการถูกพรานล้วงโพรง เพื่อเอาลูกนก ปรากฏลูกนก แม่นก และ พ่อนก ยังปลอดภัยและในบริเวณโพรง
23 ส.ค.2564 ระบุว่า วันนี้ชุดลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ได้เข้าสังเกตการณ์และเก็บภาพจากกล้องดักถ่าย ที่ได้ติดตั้งบริเวณโพรง เพื่อสังเกตุพฤติกรรมและป้องกันมิให้กลุ่มล่าลูกนก มาล้วงลูกนกไปจากโพรง วันนี้ครบ 1 เดือน นับจากวันที่พบโพรง ทุกชีวิตยังปลอดภัย
23 ก.ย.2564 ระบุว่า มาอัปเดตความน่ารักกับครอบครัวของนกเงือกหัวหงอก โดยอุทยานแห่งชาติบูโด – สุไหงปาดี
“นกเงือกหัวหงอก” สัตว์ป่าคุ้มครอง ประจำถิ่นของไทย
นกเงือกหัวหงอก White-Crowned Hornbill เป็นนกเงืกที่พบทางตอนใต้ของพม่า ภาคใต้ของไทย มาเลเซียเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว นกเงือกหัวหงอกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง อยู่ในบัญชี 2 ไซเตส และเป็นนกประจำถิ่นของไทย
เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ (90 ชม. ) ตัวเต็มวัยบริเวณหัวมีขนยาวเป็นพุ่ม สีขาวลักษณะคล้ายหงอน ปากสีดำ โหนกแข็งขนาดเล็ก หางยาวสีขาว มีแถบสีขาวบริเวณขอบปีก จะเห็นได้ชัดขณะที่นกกางปีกหรือบิน
บริเวณคอและด้านล่างลำตัวสีขาวในตัวผู้ แต่ในตัวเมียบริเวณดังกล่าวจะเป็นสีดำ ตัวที่ยังไม่เต็มวัยลักษณะคล้ายตัวเมีย แต่สีสันของลำตัวจะเป็นสีน้ำตาล หางสีดำ ปลายปีกมีแถบกว้างสีขาว ปลายขนปกคลุมปีกสีขาว
ในประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด แต่ละชนิดมีนิเวศวิทยาและถิ่นอาศัยเฉพาะตัวที่ต่างกัน นกเงือกเป็นนกที่มีพฤติกรรมการเลือกกินอาหารที่หลากหลาย ทั้งชนิดและขนาดนกเงือก จึงสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์พืช และควบคุมสัตว์เล็กที่จะทำลายเมล็ดไม้ ทำให้นกเงือกมีบทบาทที่สำคัญต่อระบบนิเวศ นกเงือกจึงสมควรได้รับการขนานนามว่าเป็น “ดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าไม้”
ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 96 ของไทย มีเนื้อที่ประมาณ 213,125 ไร่ หรือ 341 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่ อ.บาเจาะ อ.รือเสาะ อ.ยี่งอ อ.เจาะไอร้อง อ.ระแงะ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส อ.รามัน จ.ยะลา และ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีพันธุ์ไม้ที่มีค่านานาชนิด โดยเฉพาะปาล์มบังสูรย์และใบไม้สีทอง มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง