ศปก.ศบค.ชงชุดใหญ่ลดจังหวัดแดงเข้ม แต่ยังคงเคอร์ฟิว พร้อมประเมินผลผ่อนคลายมาตรการ “อนุทิน” หารือฉีดไฟเซอร์เด็ก 12 ปีขึ้นไป เข็มสามต้น ต.ค. ขณะที่ติดเชื้อใหม่กลับมาสูง 1.6 หมื่น ดับ 220 ราย พบ 3 จังหวัดเจอผู้ป่วยเกินพัน “วิษณุ” อุบโครงสร้างหน่วยงานแทน ศบค. ขอดู พรบ.โรคติดต่อฉบับใหม่ก่อน ยันนายกฯ ยังต้องนั่งเป็นประธาน “บิ๊กตู่” ตรวจเยี่ยม ICU สนามผู้ป่วยสีแดง ขอทุกคนเป็น “ลมหายใจเดียวกัน” ฝ่าวิกฤตโควิด
เมื่อวันที่ 9 กันยายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16,031 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 15,391 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 12,436 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 2,955 ราย และมาจากเรือนจำ 631 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,338,550 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 15,417 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,181,781 ราย อยู่ระหว่างรักษา 143,038 ราย อาการหนัก 4,363 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 940 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 220 ราย เป็นชาย 108 ราย หญิง 112 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 159 ราย มีโรคเรื้อรัง 45 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย ที่ จ.ชลบุรี เสียชีวิตที่บ้าน 2 ราย ที่ จ.ชลบุรีและระยอง พบผู้เสียชีวิตมากสุดใน กทม. 43 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 13,731 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 3,736 ราย ชลบุรี 1,594 ราย สมุทรปราการ 1,197 ราย สมุทรสาคร 643 ราย ระยอง 549 ราย ราชบุรี 466 ราย นราธิวาส 455 ราย นนทบุรี 433 ราย สงขลา 374 ราย สระบุรี 362 ราย
รายงานข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) เปิดเผยภายหลังประชุมว่า ศปก.ศบค.มีความเห็นร่วมกันที่จะนำเสนอเรื่องลดจำนวนจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ศบค.ที่จะมีการประชุมในวันศุกร์ที่ 10 ก.ย. โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธาน โดยปัจจุบันจังหวัดสีแดงเข้มมี 29 จังหวัด ส่วนจะลดลงกี่จังหวัดนั้นขึ้นอยู่กับที่ประชุมใหญ่ของ ศบค.
สำหรับรายละเอียดของมาตรการต่างๆ ยังคงมาตรการเดิมทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการกำหนดช่วงเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ยังมีอยู่ต่อไปตามระยะเวลาเดิม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในภาพรวมยังเป็นลักษณะเดิม และจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มมีมากขึ้นกว่าจำนวนผู้หายป่วยเพิ่ม อีกทั้งก่อนหน้านี้ได้มีการผ่อนคลายมาตรการบางส่วนแล้ว อาทิ การอนุญาตให้นั่งรับประทานในร้านอาหาร การเปิดห้างสรรพสินค้า ร้านทำผม เป็นต้น ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวจะมีการประเมินผลหลังการผ่อนคลายมาตรการเหล่านี้ด้วย
ส่วนการเตรียมยกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) นั้น ที่ประชุม ศปก.ศบค.ไม่ได้นำมาหารือ แต่จะรอให้เป็นการพิจารณาของที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งจะนำความคืบหน้าเรื่องการจัดทำร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) มาพิจารณาประกอบกัน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจะยกเลิก ศบค.ในอนาคต
นายกฯ ยังเป็น ปธ.ศูนย์ใหม่
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีหากไม่มีการขยายประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วมีการยุบ ศบค. หน่วยงานที่จะตั้งขึ้นมาแทนจะมีโครงสร้างอย่างไรว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อที่กำลังแก้ไข แต่เอาเป็นว่าเราจะมีกฎหมายใหม่ ซึ่งมีหมวดที่พูดถึงสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเฉพาะ แยกออกมาจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อไม่ยุ่งกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศบค.ก็อยู่ไม่ได้ แต่จะมีหน่วยงานใหม่เป็น ศ.อะไรก็ช่างเขา ตนไม่รู้และยังไม่ถึงเวลาที่จะจัดตั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือเป็นการมอบอำนาจให้กระทรวงสาธารณสุขไปจัดการเรื่องโควิด-19 เลยใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าไม่ถึงขนาดนั้น เพราะเวลาไม่มีอะไรและเวลาที่มีโรคติดต่อธรรมดาเกิดขึ้นจะมี รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน แต่เมื่อมีโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงเกิดขึ้นและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข นายกรัฐมนตรีจะต้องเข้ามาเป็นประธานแทน รมว.สาธารณสุข และ รมว.สาธารณสุขอาจไปเป็นรองประธาน จะเรียกว่าคืนอำนาจให้กระทรวงสาธารณสุขก็คืนได้ส่วนหนึ่ง แต่นายกฯ จะเข้าไปมีส่วนอยู่ โดยเป็นประธานแต่จะนั่งหรือไม่ หรือมอบรองนายกฯ ก็ได้
นายวิษณุกล่าวว่า เราเรียนรู้มาตลอดหนึ่งปีเศษว่าเมื่อเกิดโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง เช่น โควิด-19 ขึ้นมา จะมีความเป็นเชิงวิชาการขัดแย้งแตกต่างกัน นี่เป็นเหตุผลที่ ศบค.จะต้องใช้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) การที่สภาบอกว่าไปเอานักการทหาร นักความมั่นคงเข้ามาแต่ไม่ใช้หมอ เป็นเพราะใช้หมอไม่ได้หมอทะเลาะกันหมด ระหว่างแพทย์มหาวิทยาลัย แพทย์กระทรวงสาธารณสุขก็มีความเห็นคนละอย่างกัน ระหว่างแพทย์ของรัฐกับแพทย์ของเอกชน ระหว่าง กทม.กับกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างจังหวัดหนึ่งกับอีกจังหวัดหนึ่ง เพราะมีผู้ว่าราชการจังหวัดคนละคนกัน จึงใช้คนละมาตรฐานกัน เวลาที่เกิดโรคระบาดร้ายแรงจำเป็นต้องใช้กำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร ต้องใช้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต้องใช้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่เช่นนั้นใครจะมาตั้งด่าน ถึงเวลาทุกคนหนีหมด ใส่ชุดพีพีอีหมด ตรงนี้เพราะหมอไหนๆ ก็ไม่มีปัญญาที่จะทำ
เมื่อถามว่าจะมีการเร่งรัดออกกฎหมายใหม่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องรอฟังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดูว่ามีกี่มาตรา
ที่โรงพยาบาลปิยะเวท เวลา 15.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อมคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามสําหรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีแดง (ICU) โครงการลมหายใจเดียวกัน ของกลุ่ม ปตท.บนพื้นที่ 4 ไร่ หน้าโรงพยาบาลปิยะเวท โดยมีนายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ปตท., นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมคณะผู้บริหารโรงพยาบาลในเครือบางปะกอก-ปิยะเวทให้การต้อนรับ
โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตื่นเต้น ขอชมเชยคนที่ตั้งชื่อโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” ซึ่งไม่ว่านายกฯ หรือใคร คนทำงานต่างๆ ล้วนมีลมหายใจ จึงขอให้เป็นลมหายใจเดียวกัน ช่วยกันและกันให้ฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ ยืนยันจะทำอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ปกติระบบสาธารณสุขของเรารองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ ยืนยันถ้าเราทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ต่อไปจะดีกว่าเดิม และได้พยายามปรับรูปแบบการทำงานมาโดยตลอด วันนี้ต้องชื่นชมหมอ แพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครทั้งหมด ถ้าไม่มีคนเหล่านี้เราคงมาไม่ถึงวันนี้ ส่วนมาตรการต่างๆ ยังคงต้องทำต่อไปทั้งหมด และได้พยายามผ่อนคลายแต่อย่าประมาท หากกลับมาอีกก็จะมีปัญหา ซึ่งตนในฐานะกำกับดูแลจะรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่การจะเปิดหรือปิดต้องฟังหมอทั้งนั้น
“วันนี้ถือเป็นแห่งแรกที่ออกนอกที่ทำงาน ที่ผ่านมากักตัวบ้าง ประชุมออนไลน์บ้าง ได้ออกมาวันนี้สถานที่แรก ซึ่งเราให้เกียรติซึ่งกันและกัน ลมหายใจเดียวกัน สุขก็สุขด้วยกัน ทุกข์ก็ต้องทุกข์ด้วยกัน แต่ถ้าท่านทุกข์ ผมทุกข์กว่าท่าน สิ่งที่ทำวันนี้อาจไม่ได้อะไร แต่เราได้กุศลในการช่วยเหลือคน จึงฝากสื่อดูด้วยอย่าดูแค่ว่าแต่ละปี ปตท.ได้กำไรเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้คือคนไทย อัตลักษณ์ความเป็นไทย ใครเดือดร้อนถึงเวลาช่วยกันอยู่แล้ว เวลานี้ต้องรวมพลังแก้ปัญหาไปด้วยกัน เราต้องพลิกโฉมประเทศไทยในโลกหลังโควิด ต้องเตรียมการวันนี้เพื่อวันหน้า บางทีอาจทำงานลำบากเพราะติดระเบียบ อะไรผ่อนได้ก็จะผ่อนให้ เห็นรอยยิ้มทุกคนมีความสุข ใครจะติจะว่าขอบคุณจากหัวใจของรัฐบาล” นายกฯ ระบุ
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมว่า วันนี้สถานการณ์วัคซีนเราไม่น่าเป็นห่วง ยอดผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วเพิ่มขึ้นทุกวัน คิดว่าคงไม่มีปัญหาในช่วงนี้จนถึงปลายปี และปีหน้ามีแผนการจัดหาวัคซีนไว้ด้วย ถ้าฉีดกันครบแล้วก็มีเข็มต่อไปกันอีก และมีการเตรียมการที่จะฉีดเข็ม 3 รวมถึงจะฉีดให้เด็กก็ต้องไปดูว่าปลอดภัยหรือไม่ ผู้ปกครองยินยอมหรือไม่ เห็นหลายคนอยากฉีดอันนั้นอยากกินอันนี้ก็แล้วแต่ ให้หมอไปพิจารณามา
ชง ศบค.ฉีดไฟเซอร์เด็ก 12 ปี
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. เปิดเผยว่า ขณะนี้แนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลง แต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังสูง โดยเฉพาะกลุ่ม 608 พบอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 70-80 จึงได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคเร่งกระจายวัคซีนในต่างจังหวัด พร้อมกำชับเน้นฉีดวัคซีนให้กลุ่ม 608 ก่อน เพื่อลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต ส่วนในเขต กทม.ได้ฉีดกลุ่ม 608 เกือบครบ 100% แล้ว
สำหรับการประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 10 ก.ย.นี้ สธ.ได้เตรียมเสนอการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติอย่างปลอดภัย โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้คณะแพทย์เป็นผู้พิจารณา นอกจากนี้ ได้เตรียมหารือฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 3 ให้แก่กลุ่มที่ต้องทำงานสัมผัสกับชาวต่างชาติ/นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย ในโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” และเพื่อใช้เป็นเข็มกระตุ้นสำหรับผู้ที่ได้รับซิโนแวคครบ 2 เข็ม คาดจะเริ่มฉีดต้นเดือน ต.ค.นี้ ยืนยันปลายปีนี้มีวัคซีนเพียงพอสำหรับทุกคน
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงว่า การฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น 713,454 โดส สะสม 38,174,738 ราย เป็นเข็มแรกจำนวน 26,292,211 ราย ครอบคลุม 36.5% เข็มที่สองจำนวน 11,272,593 ราย ครอบคลุม 15.6% และเข็มที่สามจำนวน 609,934 ราย ทั้งนี้ในส่วนของ 29 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือสีแดงเข้ม ในส่วนของกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดครอบคลุมเข็มที่ 1 แล้ว 59% ส่วนอีก 48 จังหวัด ครอบคลุมแล้ว 42.9%
เมื่อถามว่า วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสที่เข้ามา มีตัวเลขฉีดไปแล้ว 9 แสนโดส แล้วอีก 6 แสนโดสที่เหลือไปไหน แล้วเสี่ยงจะหมดอายุหรือไม่ นพ.เฉวตสรรยืนยันว่า วัคซีนไฟเซอร์ไม่มีการสูญหายไปไหน โดยเมื่อส่งวัคซีนไปในพื้นที่แล้ว วัคซีนจะไปอยู่ในตู้เย็นปกติ ไม่ใช่แบบอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส จะมีอายุเหลือแค่ 30 วันเท่านั้น นั่นเป็นเหตุผล วัคซีนที่เหลืออีก 6 แสนโดสจึงต้องมีการทยอยส่งไปในพื้นที่
วันเดียวกัน นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ได้เตรียมความพร้อมที่จะฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มให้เด็กนักเรียนที่มีอายุ 10-18 ปี หากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับรอง อบจ.จะนำเสนอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครให้มีมติเห็นชอบ โดยมีวัคซีนซิโนฟาร์มอยู่แล้วจำนวนหนึ่งที่พร้อมจะฉีดให้เด็กๆ แต่หากไม่พอ อบจ.พร้อมที่จะสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้เด็กได้กลับมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้ตามปกติ.