ในวันจันทร์นี้ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา ประกาศงดกิจกรรมที่มีคนรวมตัวเกิน 50 คนแล้ว รวมถึงกิจกรรมทางศาสนา ในช่วงเดือนรอมฏอนด้วย หลังโควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง ด้าน ศบค. แถลงพบบุคลากรการแพทย์ติดเชื้อ 146 รายแล้ว มีผู้ติดเชื้อใหม่ 1,390 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย
นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า จังหวัดได้ออกคำสั่งงดกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมทางศาสนาเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 แล้ว
“ใช้มาตรการตามประกาศของจุฬาราชมนตรี ฉบับที่ 4/2564 ลงวันที่ 12 เมษายน 2564 และมาตรการที่ออกตามข้อกำหนด ฉบับที่ 20 ลงวันที่ 16 เมษายน 64 ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือและนำเสนอร่วมกันโดยจะยึดตามประกาศจุฬาราชมนตรี และให้งดการออก ดะวะห์ และโยร์ รวมทั้ง งดกิจกรรมที่มีการรวมตัว 50 คนขึ้นไป ซึ่งจะมีการออกคำสั่งจังหวัดและแจ้งมาตรการในพื้นที่ให้ถือปฏิบัติต่อไป” นายเจษฎากล่าว
ด้าน นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ระบุว่า มาตรการของจังหวัดคือ ทุกครั้งที่ออกจากบ้านต้องใส่หน้ากากอนามัย และหากเดินทางมาจากจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ต้องแจ้งราชการ หากฝ่าฝืนมีความผิด
“ไม่ว่าจะเป็นพิธีของทางศาสนาไหน เราไม่ได้มองในกิจกรรมของการประกอบศาสนกิจ แต่มองจำนวนคนที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจะต้องไม่เกิน 50 คน เพื่อเป็นการวางมาตรการร่วมกันในการป้องกันการแพร่ระบาด ส่วนการละหมาด ขณะนี้ยังไม่มีการห้ามละหมาด ไม่ว่าจะละหมาดที่ไหนก็ตาม แต่ต้องใช้มาตรการจำนวนคนห้ามเกิน 50 คนเป็นตัวกำหนด” นายราชิต กล่าว
ขณะเดียวกัน นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า จังหวัดได้กำหนดมาตรการดังนี้ 1. งดการเรียนการสอน ให้เรียนออนไลน์ 2. ห้ามจัดกิจกรรมที่มีคนเกิน 50 คน 3. ปิดสถานบันเทิง 14 วัน 4. สามารถกินอาหารในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 น. และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5. ร้านสะดวกซื้อต้องปิด 23:00 – 04:00 น. 6. ห้างสรรพสินค้าต้องปิด 21:00 น. 7. งานเลี้ยงสังสรรค์ให้งดหรือเลื่อนออกไป 8. บุคคลที่ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดต้องรายงานตัวทางโทรศัพท์ และ 9. บุคคลที่เดินทางเข้าพื้นที่จังหวัดยะลาโดยรถยนต์โดยสารสาธารณะ หรือรถไฟ ต้องสแกนคิวอาร์โค้ต YALA SAFE ALERT ทุกคน
นายชัยสิทธิ์ ระบุว่า หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ถือเป็นความผิดต้องรับโทษตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และหรือ มีโทษตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับและอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันศุกร์ นายศักดิ์กรียา บิลแสละ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดสงขลา ได้ระบุว่า จังหวัดสงขลามีคำสั่งให้มัสยิดทุกแห่งในจังหวัด งดกิจกรรมละหมาดวันศุกร์แล้ว โดยอ้างอิงประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี
ทั้งนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อเดือนเมษายน 2564 ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า จังหวัดนราธิวาสมีผู้ติดเชื้อ 381 ราย สงขลา 236 ราย ปัตตานี 7 ราย และยะลา 7 ราย
ทั้งนี้ นายมาหามะ ยีกะจิ เจ้าของแผงค้าในพื้นที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า การงดกิจกรรมละหมาดที่มัสยิดส่งผลกระทบต่อตนเองอย่างมาก
“ทราบข่าวงดละหมาดตะรอเวี๊ยะ นาทีนั้นเข่าทรุดทันที หมดเลยความหวัง เหมือนคนสูญเสียทุกอย่าง ขายไม่ออกแน่ ของที่พึ่งลงทุนหมื่นกว่าบาทจบลงแล้ว เพราะถ้าไม่มีคนมาละหมาด ก็ไม่มีใครจะมาเดินซื้อของในย่านนี้ ทุกเดือนก็ขายของพอกินไปวัน ๆ แต่เดือนรอมฎอน เป็นฤดูกาลที่จะขายของได้มากกว่าทุกเดือนในรอบปี มีความหวังว่าจะทำยอดขายได้ ทุกอย่างหายวับทันที” นายมาหามะ กล่าวทั้งน้ำตา
“ปีที่แล้วมัสยิดปิด แต่ยังได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล พอบรรเทาค่าใช้จ่ายครอบครัวได้บ้าง แต่คราวนี้ผมยังไม่รู้เลยว่า จะเอาเงินจากไหน ที่สำคัญช่วงใกล้กับเทศกาลอีดิลฟิตรี ผมจะเอาเงินที่ไหนจะซื้อชุดรายอให้ลูกทั้ง 10 คน พวกเขากำลังรอผมอยู่ที่บ้าน รอชุดรายอ แต่ผมไม่มีชุดรายอให้เขาแล้ว เพราะไม่มีใครเข้ามาซื้อของผมแล้ว” นายมาหามะ ระบุ
ขณะเดียวกัน นายอับดุลเลาะ อีซอมะ ชาวบ้านจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า “มัสยิดปิดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เราต้องให้ความร่วมมือ ซึ่งศาสนาก็ได้มีระบุไว้แล้ว หากมีโรคระบาดต้องงดทำการละหมาดให้ละหมาดที่บ้านแทน อันไหนที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลักเลี่ยง”
ศบค. ระบุ บุคลากรการแพทย์ติดโควิด–19 เดือนเมษายนนี้ 146 ราย
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 43,742 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 104 ราย มีผู้ติดเชื้อที่รักษาหายแล้ว 28,787 ราย และอยู่ระหว่างการรักษาตัว 14,851 ราย
“ผู้ป่วยรายใหม่ รายงานตัวเลขวันนี้ 1,390 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่รายงานจากระบบเฝ้าระบบบริการวันนี้ 1,058 ราย และจากการคัดกรองเชิงรุกวันนี้ 326 ราย มีผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ 6 ราย มีผู้เสียชีวิตรายงานวันนี้ 3 คน” พญ. อภิสมัย กล่าว
“การระบาดครั้งนี้ บุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นผู้ติดเชื้อไปด้วย ข้อมูลล่าสุดจาก 1-18 เมษายน เพียงแค่ 18 วัน มีรายงานบุคลากรการแพทย์ติดเชื้อไปแล้ว 146 รายด้วยกัน ส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ พยาบาล ท่านต้องเห็นภาพว่า บุคลากรเหล่านี้ติดเชื้อไปปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เพราะเขากลายเป็นว่า ต้องแยกกัก ต้องเสียบุคลากรทำงานไปเช่นกัน และสิ่งที่สำคัญเราพบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 33 คนจาก 146 มีการติดเชื้อจากการทำงาน ในการสัมผัสกับผู้ป่วยที่อาจจะไม่เปิดเผยไทม์ไลน์ เป็นต้น” พญ. อภิสมัย กล่าวเพิ่มเติม
ศบค. ระบุว่าการระบาดระลอกเดือนเมษายน 2564 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดได้แก่ กรุงเทพ 3,615 ราย เชียงใหม่ 2,250 ราย ชลบุรี 1,280 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 772 ราย และ นนทบุรี 701 ราย ตามลำดับ
ในวันเดียวกัน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า สภาผู้แทนราษฎรยังคงดำเนินงานอยู่ แต่ได้สั่งให้บุคลากรอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ทำงานที่บ้านแล้ว ขณะที่การประชุมอื่นจะประชุมผ่านระบบออนไลน์ ขณะที่สมัยประชุมหน้านั้นจะดำเนินไปภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
และนายชวนยังได้เสนอต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า ให้ชะลอการฉีดวัคซีนให้กับ ส.ส. ไปก่อนเพื่อให้รัฐบาลนำวัคซีนไปฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้าจากกำหนดเดิมที่มีแผนจะฉีดให้ ส.ส. ทั้งหมดภายในเดือนเมษายน 2564 ซึ่งปัจจุบัน มี ส.ส. รับวัคซีนไปแล้วกว่า 200 ราย
ขณะที่ นายคำนูน สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เปิดเผยแก่สื่อมวลชนในวันเดียวกันว่า ที่ประชุมมีมติขอความร่วมมือคณะกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ ส.ว. งดประชุม รวมถึงการลงพื้นที่ของ ส.ว. จนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19