ข่าวภาคค่ำ – ย้อนกลับไป 19 ปี วันนี้คือจุดเริ่มต้นเชิงสัญลักษณ์ที่ไฟใต้คุกรุ่นจนยากดับ จากเหตุปล้นปืนครั้งมโหฬารถึง 413 กระบอก จาก “ค่ายปิเหล็ง” จังหวัดนราธิวาส คุณสุธาทิพย์ ผาสุข ติดตามเรื่องนี้ พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแก้ปัญหา ซึ่งยังมีช่องโหว่ ในขณะที่งบประมาณที่ถูกนำมาใช้ในการดับไฟใต้ มีตัวเลขมากกว่า 500,000 ล้านบาท ติดตามรายละเอียดในคอลัมน์หมายเลข 7
หลังเกิดเหตุปล้นปืนครั้งมโหฬาร จำนวน 413 กระบอก ใน “ค่ายปิเหล็ง” จังหวัดนราธิวาส และคำกล่าวพาดพิงผู้ก่อเหตุจากผู้นำว่าเป็น “โจรกระจอก” ในปี 2544 หรือ 19 ปีที่แล้ว สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเหตุโศกนาฏกรรมที่ตากใบ ซึ่งโหมไฟใต้ให้ลุกโชนมากขึ้น และกลายเป็นจุดกำเนิดของการออกกฎหมายพิเศษ 2 ฉบับ นอกเหนือจากกฎอัยการศึกที่มีอยู่แล้ว คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน ในปี 2548 และพระราชบัญญัติความมั่นคงในปี 2551
ในห้วงเวลา 19 ปี ประเทศไทย มีรัฐบาลที่เข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมแล้ว 7 ชุด ซึ่งในแต่ละชุดต่างปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อหวังแก้ปัญหา
วันที่ 30 เมษายน 2545 รัฐบาลทักษิณ ได้สั่งยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. และต่อมา ศอ.บต. ได้ถูกรื้อฟื้นในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ ก่อนจะยกระดับเป็นนิติบุคคล ขึ้นตรงนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลอภิสิทธิ์
และปัจจุบัน โครงสร้างได้ถูกปรับบทบาทอีกครั้ง โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้รวบอำนาจให้ไปอยู่ที่ กอ.รมน. ใช้ความมั่นคงนำการพัฒนา
เกิดเป็นถามว่าตลอดระยะเวลาปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จริงหรือไม่
มีข้อมูลจากงานวิจัยการใช้งบประมาณในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่างบประมาณได้ถูกนำมาใช้ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภายใต้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีมากกว่า 500,000 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือตัวเลขตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ พบว่า งบประมาณที่ถูกนำมาใช้นั้นสูงกว่าทุกรัฐบาล
ที่น่าสังเกต คือ หากนับจากการที่มีการเริ่มใช้แผนบูรณาการ ตั้งแต่ปี 2560 ตัวเลขของเงินงบประมาณที่ดูเหมือนจะลดลง ในงานวิจัยกลับพบว่ามีการสอดแทรกไปอยู่ในแผนงานอื่น ๆ และเมื่อนำมารวมกันก็พบว่างบประมาณโป่งขึ้นทุกปี อีกทั้งยังยากที่จะตรวจสอบด้วย
งบประมาณจำนวนมากที่ถูกทุ่มลงไป เพื่อใช้ขับเคลื่อนแก้ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากนำมาเปรียบเทียบกับจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบ ที่ผ่านการรับรองจากการเปิดเผยของกลุ่มงานเยียวยา ศอ.บต. ตั้งแต่ปี 2547-2565 ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์นั้นได้ลดลงมา
แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลอีกด้าน กลับพบว่า ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ยังเป็นจังหวัดที่ยากจน โดยเฉพาะ ปัตตานี ที่ติดโผหนึ่งในสิบจังหวัดยากจนต่อเนื่องมานานเกือบ 20 ปี