วันเสาร์ ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
การจักสานข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นสิ่งที่ปู่ยาตายายทำมาตั้งแต่โบร่ำโบราณในทุกภูมิภาคของไทย แม้ลูกหลานจะไม่ได้ทำจักสานต่อ แต่เมื่อได้รับการฝึกฝนก็สามารถทำงานจักสานได้ดี อาจเป็นเพราะมีความเป็นช่างศิลป์สั่งสมอยู่ในสายเลือด
ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย ชวนคุณไปชมและซื้อหาสินค้าจักสานในงาน เพียรสาน งานศิลป์ ณ หอศิลป์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง และสนทนากับช่างจักสานฝีมือดีจากทุกภูมิภาคของไทย
กลุ่มที่ 1 กลุ่มสตรีศิลปาชีพพิเศษ ป่านศรนารายณ์ จังหวัดเพชรบุรี
l สวัสดีครับ เรียนถามว่าผลิตผลสำคัญของกลุ่มมีอะไรบ้างครับ
สมาชิกกลุ่มสตรีฯ : กลุ่มของเราผลิตสินค้าจากเส้นใยป่านศรนารายณ์ค่ะ มีหลากหลายรูปแบบเช่น กระเป๋าถือแบบต่างๆ สำหรับสุภาพสตรี กระเป๋าใส่ธนบัตรและเหรียญ กระเป๋าใส่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค และหมวกของสุภาพบุรุษ และสุภาพสตรีค่ะ
l สมาชิกของกลุ่มมีจำนวนมากกี่ร้อยคนครับ แบ่งงานกันทำอย่างไรครับ
สมาชิกกลุ่มสตรีฯ มีประมาณ 70 คนค่ะแบ่งงานกันคือกลุ่มนำใบป่านศรนารายณ์ไปทำความสะอาดแล้วทำเป็นเส้นใยตากแห้ง จากนั้นก็นำไปถักเปียความยาวประมาณ 20 เมตร และอีกกลุ่มนำเปียที่ถักแล้วไปย้อมสีให้เรียบร้อย พร้อมนำไปขึ้นรูปเป็นกระเป๋าและหมวก พร้อมตรวจคุณภาพสินค้าที่ผลิตแล้ว
l กระเป๋าและหมวกราคาเท่าไรครับ ผลิตแต่ละอย่างใช้เวลาประมาณกี่วันครับ
กลุ่มสมาชิกสตรีฯ : กระเป๋ามีหลายราคาค่ะขึ้นอยู่กับแบบและขนาด มีตั้งแต่ราคา 400 กว่าบาทถึงประมาณ 1 พันบาท ส่วนหมวกมีราคาเดียวคือ 300 บาทกระเป๋าใบหนึ่งใช้เวลาทำตั้งแต่เริ่มคือประมาณ 2 วันส่วนหมวกก็หนึ่งวันค่ะ
น้องเฟิร์น : ระยะเวลาน่าจะ 2 วันได้ค่ะ
l ฝึกทำนานกี่เดือนครับจึงสามารถผลิตสินค้าได้สวยงามแบบนี้ แล้วปกติทำงานอื่นด้วยไหมครับ
กลุ่มสมาชิกสตรีฯ : ฝึกประมาณ 1 เดือนค่ะแล้วก็ทำงานนี้มาเรื่อยๆ โดยทำงานสานบ้างแล้วก็ทำสวนผักบ้างค่ะ ก่อนมาทำอาชีพสานก็ปลูกผักมาก่อน ส่วนน้องอีกคนก็เคยเป็นพนักงานโรงแรมมาก่อนค่ะ น้องเขาตกงานจึงมาทำอาชีพสานกระเป๋าและหมวก ส่วนหนูก็ยังคงทำสวนผักและสานป่านศรนารายณ์ด้วยค่ะ สานมา
ห้าปีแล้วค่ะ มีการฝึกอบรมวิชาชีพนี้ให้ที่กลุ่มสตรีป่านศรนารายณ์ เพชรบุรีค่ะ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงค่ะ
l สินค้าวางจำหน่ายที่ไหนครับ
สมาชิกกลุ่มสตรีฯ : ที่ศูนย์ศิลปาชีพหุบกะพง เพชรบุรี และมีจำหน่ายที่ศูนย์ศิลปาชีพอื่นๆ ด้วย และสามารถสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ชื่อกลุ่มสตรีศิลปาชีพพิเศษป่านศรนารายณ์ หุบกะพง
น้องเฟิร์น : มีหน้าร้านค่ะ ดูได้จากเฟซบุ๊คพิมพ์คำว่า กลุ่มสตรีศิลปาชีพพิเศษ ป่านศรนารายณ์ลองเข้าไปดูเว็บไซต์นะคะ มีสินค้าให้เลือกมากมายค่ะ สั่งซื้อได้ค่ะ สั่งจำนวนมากก็ได้นะคะ เราทำตามแบบที่ต้องการได้ค่ะ
กลุ่มที่ 2 กลุ่มช่างทอกระจูด จากนราธิวาส
l สวัสดีครับ ขอเรียนถามนิ (นิแปลว่าพี่สาวของกลุ่มมุสลิม) ว่าสานกระจูดมานานกี่ปีแล้วครับ แล้วทำอาชีพอื่นอีกด้วยไหมครับ
สมาชิกกลุ่มทอกระจูดฯ : สวัสดีค่ะ ถักทอและสานกระจูดมากกว่า 30 ปีแล้ว เพราะได้รับการฝึกสอนจากโครงการศิลปาชีพฯ ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปนราธิวาส ทรงบอกว่างานสานกระจูดในหมู่บ้านที่เราอยู่นั้นสวย ขอให้ช่วยกันรักษาไว้ และทรงให้ตั้งหน่วยการสอนอบรมให้ด้วย เดี๋ยวนี้เราสองคนกลายเป็นครูสอนวิชานี้ให้กับคนรุ่นหลังในหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียง สอนให้ตามโรงเรียนต่างๆ ด้วยค่ะ ดีใจค่ะ ดีใจที่ทรงเห็นความสำคัญของงานสานกระจูด ทำให้เรามีอาชีพ มีรายได้ และอนุรักษ์งานของท้องถิ่นไว้ด้วย
l ผมเห็นเสื่อกระจูดที่นำมาแสดงมีลวดลายงดงามมาก เสื่อนี้ใช้สำหรับทำละหมาดหรือครับ
สมาชิกกลุ่มทอกระจูดฯ : เป็นเสื่อที่ทอเพื่อประกวดกัน เน้นลวดลายโบราณของชุมชนของเรามีลวดลายแบบนี้มาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ใช้สำหรับปูนอนก็ได้ และใช้ปูในการทำละหมาดก็ได้ แต่ลวดลายแบบนี้ทำยาก ต้องเก็บรักษาลวดลายไว้ให้ดี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อและทำตาม งานที่นำมาโชว์นี้ไม่จำหน่ายค่ะ แต่เอามาอวดให้เห็นว่ามีของสวยงาม ส่วนของที่จำหน่ายก็มีหลายชนิด ทั้งกระเป๋าถือของสุภาพสตรี กระบุงขนาดต่างๆสำหรับใส่ผ้า ใส่ของใช้อื่นๆ และกระบุงเล็กสำหรับใส่ผลไม้และเครื่องประดับ
l ผมเห็นว่ามีการทำลวดลายสวยงามด้วย ลวดลายนี้เป็นของเดิมหรือครับ
สมาชิกกลุ่มทอกระจูดฯ : บางลวดลายเป็นของเดิม แต่บางลวดลายเป็นของประยุกต์เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ ทรงแนะนำให้เก็บไว้ทั้งลวดลายเดิมและลวดลายประยุกต์ เพื่อให้สามารถเพิ่มราคาของสินค้าได้มากขึ้น และทรงส่งครูไปสอนเพิ่มเติมให้เรียนรู้เทคนิคการทอการถักการสานแบบใหม่ๆ ด้วย เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด ทรงรับสินค้าของพวกเราไปจำหน่ายให้ด้วย โดยจำหน่ายตามศูนย์ศิลปาชีพต่างๆ
l ราคาที่จำหน่ายมีกี่ราคาครับ
สมาชิกกลุ่มทอกระจูดฯ : กระบุงขนาดกลางขายประมาณ 200-300 บาท ถ้าขนาดใหญ่ก็ประมาณ 400-600 บาท ขึ้นกับขนาดค่ะ ส่วนกระเป๋าถือก็ราคาประมาณ 700-1,000 บาท แล้วแต่แบบด้วยค่ะ
l ใช้เวลาผลิตนานไหมครับกว่าจะเสร็จเรียบร้อย
สมาชิกกลุ่มทอกระจูดฯ : สำหรับกระบุงขนาดกลางใช้เวลาสองวัน ถ้าใหญ่มากๆ ก็ประมาณ 3 วัน ส่วนกระเป๋าก็ประมาณ 2-3 วัน แล้วแต่แบบและขนาดและลวดลายค่ะ
l กระจูดที่ใช้นี้ต้องซื้อหามาจากท้องถิ่นอื่น หรือหาได้จากหมู่บ้านครับ
สมาชิกกลุ่มทอกระจูดฯ : หาได้ในหมู่บ้านค่ะ มีมากมาย เป็นของในชุมชนของเราเอง โดยเฉพาะที่บาเจาะมีเยอะมาก แต่ระยะหลังนี้มีการผลิตกระจูดเพื่อขายให้กลุ่มผู้ผลิตสินค้าจากกระจูดด้วยค่ะ เป็นการสร้างอาชีพใหม่ และระยะหลังๆ นี้ มีผู้ทำการฝีมือนี้จำนวนมากขึ้น น่าดีใจที่มีผู้ร่วมอนุรักษ์งานนี้ไว้ ก็ต้องกราบขอบพระคุณในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงด้วยที่ทรงอนุรักษ์งานนี้ไว้ให้อยู่กับเรา พระราชทานคำแนะนำให้ตลอดเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพดีได้ราคาดี และทำให้คนในหมู่บ้านมีงานทำควบคู่ไปกับการทำไร่ทำสวนและทำการเกษตรอื่นๆ ไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานไปทำงานที่อื่น ทำให้ครอบครัวมีความอบอุ่นมากขึ้น
กลุ่มที่ 3 กลุ่มสานย่านลิเภา จังหวัดนราธิวาส
l สวัสดีครับนิและบัง (บังคือสรรพนามเรียกพี่ชายมุสลิม) ขอเรียนถามงานสานย่านลิเภาว่าทั้งสองท่านทำงานนี้มากี่ปีแล้วครับ จึงสร้างงานที่งดงามละเอียดมากได้เช่นนี้
สมาชิกกลุ่มสานย่านลิเภาฯ : เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2525 ก็ประมาณ 40 ปีแล้วครับ
l ก่อนทำงานสานย่านลิเภา บังกับนิทำอาชีพอะไรมาก่อนครับ
สมาชิกกลุ่มสานย่านลิเภาฯ : ทำไร่ทำสวนอยู่ในตำบลลาโละ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส จนวันหนึ่งสมเด็จท่าน (สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง) เสด็จฯที่หมู่บ้านแล้วทรงเห็นงานจักสานย่านลิเภา จึงทรงแนะนำให้ชาวบ้านร่วมกันเก็บรักษางานศิลป์นี้ไว้ แล้วทรงส่งครูไปช่วยฝึกสอนชาวบ้านด้วย โดยทรงให้ผู้ที่มีความรู้ในหมู่บ้านเป็นครูสอนก่อน แล้วพระราชทานความรู้อื่นๆ ให้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับงานสานย่านลิเภา ทรงเห็นว่าเป็นงานศิลป์ที่มีความงดงามแสดงภูมิปัญญาของชุมชน และทรงเห็นว่ามีต้นย่านลิเภามากมายในชุมชนจึงทรงสนับสนุนให้ร่วมกันสืบสานงานฝีมือนี้ สำหรับผมนั้น แรกๆ ก็สานไม่สวยหรอก แต่ก็พยายามฝึกไปเรื่อยๆ แล้วก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ฝึกเพิ่ม จนเดี๋ยวนี้เป็นครูสอนจักสานให้คนอื่นๆ แล้วครับ
l แล้วนิเล่าครับ ฝึกนานกี่เดือนครับ
สมาชิกกลุ่มสานย่านลิเภาฯ : หลายเดือนเหมือนกันค่ะ แรกๆ ก็ทำไม่สวย แต่ก็ตั้งใจฝึก จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นครูสอนจักสานย่านลิเภา พระราชทานคำชมด้วยว่า งานสวยมาก เป็นครูสอนมาตั้งแต่ปี 2535 แล้วค่ะ ภูมิใจมาก
l ย่านลิเภาที่ผมเห็นนี้มีสองชนิด ต่างกันอย่างไรครับ
สมาชิกกลุ่มสานย่านลิเภาฯ : ชนิดสีน้ำตาลมีอยู่ในสวนของบ้านเราเองครับ ส่วนสีดำมาจากตากใบ ปัจจุบันมีการปลูกย่านลิเภาจำหน่ายด้วยครับ
l ผมเห็นว่าตอกสำหรับสานเส้นเล็ก ละเอียดมากเส้นเล็กเหมือนเส้นผม ต้องเหลาให้เล็กและบางมากต้องใช้ความพยายามมากกว่าจะจักตอกได้แต่ละเส้น และต้องสานด้วยความใจเย็นมากๆ ใช้เวลาสานงานแต่ละใบนานแค่ไหนกว่าจะสำเร็จหนึ่งชิ้นครับ
สมาชิกกลุ่มสานย่านลิเภาฯ : ถ้าใบขนาดเล็กมากๆ ใช้ตอกเล็กมากๆ ก็ยิ่งใช้เวลานานครับ อาจจะนานเป็นปี แต่ถ้าใบใหญ่ แล้วต้องใช้ตอกเส้นละเอียดมากๆ ก็ใช้เวลานานกว่าปี แต่โดยเฉลี่ยก็ใช้เวลาตั้งแต่5-6 เดือนขึ้นไปต่องานหนึ่งชิ้น ถ้างานละเอียดมากๆก็เฉลี่ยชิ้นละเป็นปีครับ เหตุผลที่ต้องเหลาตอกให้เส้นบางมากๆ ก็เพราะว่างานจะสวยและละเอียด หากเส้นใหญ่เกินไปไม่เสมอกันก็จะทำให้ผิวภาชนะที่สานไม่เรียบ และไม่ประณีต ดังนั้นจึงต้องทำให้ตอกทุกเส้นมีขนาดเท่ากันทั้งหมด แล้วยิ่งถ้ามีลวดลายยิ่งต้องใช้เวลาและความประณีตมากขึ้นอีกหลายเท่า
l เด็กรุ่นใหม่สนใจงานนี้มากไหมครับ
สมาชิกกลุ่มสานย่านลิเภาฯ : เด็กๆ ไม่ค่อยสนใจทำงานนี้ เพราะว่าต้องใช้เวลานานมาก มีขั้นตอนเยอะแยะ แต่ก็ยังโชคดีที่มีคนรุ่นอื่นๆ สนใจสืบสานงานนี้ อย่างน้อยเราก็มั่นใจว่างานศิลป์นี้ไม่สูญหายไปจากสังคมของเรา ดิฉันเชิญชวนคนไทยในภาคอื่นๆ ที่สนใจงานสานย่านลิเภาให้ไปเรียนรู้งานนี้ด้วยกัน ดิฉันยินดีสอนให้ด้วยความเต็มใจค่ะ
กลุ่มที่ 4 กลุ่มหัตถศิลป์ ศูนย์ศิลปาชีพ จังหวัดราชบุรี
l สวัสดีครับ เรียนถามว่าลวดลายที่กำลังทำนี้มีชื่อว่าอะไรครับ เป็นลวดลายประจำของชุมชนหรือครับ
สมาชิกกลุ่มหัตถศิลป์ฯ : สวัสดีค่ะ ลายนี้คือลายดอกพิกุล เป็นลายพื้นถิ่นของอำเภอปากท่อ ราชบุรีค่ะเราทำเป็นลายนูนใช้ตอกเส้นเล็กสลับสีด้วยค่ะ
l ลายที่กำลังจักสานนี้ นำไปประดับกระเป๋า หรือตะกร้า หรือภาชนะใดครับ
สมาชิกกลุ่มหัตถศิลป์ฯ : ส่วนใหญ่ใช้ประดับได้ทั้งหมดทุกภาชนะค่ะ โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องการเน้นให้เห็นถึงลายดอกพิกุลที่ชัดเจนและสวยงาม เช่น ตะกร้าใส่ขันข้าวสำหรับตักบาตรพระสงฆ์ หรือกระเป๋าสำหรับงานราตรีของสุภาพสตรี เป็นต้น
l ตอกที่ใช้สานมีขนาดเล็กมาก ต้องสั่งทำพิเศษหรือจักตอกเองครับ
สมาชิกกลุ่มหัตถศิลป์ฯ : จักตอกเองค่ะ แต่ก็มีผู้ช่วยจักตอกให้ด้วย คือใช้ทั้งที่ทำเองและมีผู้ทำให้
l ปกติทำอาชีพอื่นด้วยไหมครับ หรือทำงานจักสานเพียงอย่างเดียว
สมาชิกกลุ่มหัตถศิลป์ฯ : ก่อนนี้ทำงานในสวน และงานที่ต้องใช้แรงงานมาก่อน แต่มาระยะหลังนี้ทำงานจักสานควบคู่ไปด้วยค่ะ
l ต้องฝึกนานไม่ครับ กว่าจะทำงานสวยงามและละเอียดแบบนี้ได้
สมาชิกกลุ่มหัตถศิลป์ฯ : ฝึกเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้นค่ะ ฝึกไม่นาน ฝึกที่ศูนย์ศิลปาชีพฯ ที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงพระราชทานไว้
l ที่บ้านของพี่ๆ มีปู่ยาตายายหรือญาติพี่น้องทำงานจักสานมาก่อนไหมครับ
สมาชิกกลุ่มหัตถศิลป์ฯ : ไม่มีเลยค่ะ มีแต่ทำไร่ทำนา และใช้แรงงาน ที่พวกเราสามารถทำงานฝีมือที่มีความละเอียดประณีตแบบนี้ได้ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านพระราชทาน เพื่อให้มีความรู้ติดตัวในยามว่างจากงานไร่งานนา หรือในยามที่นาแล้ง นาล่ม มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง เกิดภัยพิบัติจนไม่สามารถทำงานประจำได้ เราก็มีอาชีพเสริมติดตัว สร้างรายได้ให้กับครอบครัวเป็นอย่างดี และทำให้หลายคนมีความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก พวกเรานั้นจับจอบจับเสียมมาก่อน แต่ก็มีอาชีพนี้เสริม ทำให้มีเงินมีทองใช้เพิ่มเติม และมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม
l สินค้าที่ผลิตได้นี้ พี่ๆ นำไปวางจำหน่ายที่ไหนครับ
สมาชิกกลุ่มหัตถศิลป์ฯ : ไม่วางจำหน่ายค่ะ เราผลิตเพื่อให้กับศูนย์ศิลปาชีพฯ เท่านั้น พระองค์ท่านทรงรับซื้อทั้งหมด ทรงให้นำไปจำหน่ายให้ เราไม่ต้อง
หาตลาด เราแค่เพียงผลิตเท่านั้น ทรงให้เงินทุนเพื่อผลิตด้วย และทรงส่งครูไปสอนให้ความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา ทรงให้คำแนะนำเพื่อให้งานออกมาดีขึ้น ขายได้ราคาสูงขึ้นด้วย นี่คือพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานให้ชาวไร่ชาวนาคนจับจอบจับเสียมอย่างพวกเรา พวกเราทุกคนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณตลอดเวลา ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ทรงเป็นมิ่งขวัญของพวกเราทุกคนตราบนานเท่านาน
คุณจะได้พบรายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความรู้ รายการ ไลฟ์ วาไรตี ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.00-16.25 น. ทางโทรทัศน์ NBTกดหมายเลข 2 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTubeไลฟ์ วาไรตี