ครม. เคาะ MOU ฉบับใหม่ คมนาคมร่วมกระทรวงที่ดินญี่ปุ่นทำแผนแก้จราจรระยะ 5 ปี พ่วงทางด่วนอุโมงค์”นราธิวาสฯ-สำโรง” ชี้ฉบับนี้ไม่เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ไม่ต้องเข้าสภา
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 15 ก.พ. 2564 ได้เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ด้านแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจร (Memorandum of Cooperation on the Policy Planning and Technologies of Road Traffic)
ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นกรอบความร่วมมือฉบับใหม่ แทนบันทึกความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนน (Memorandum of Cooperation on Road Safety) ที่รัฐบาล 2 ประเทศดำเนินการในปี 2560-2562 ที่ต่อมาได้เปลี่ยนผู้รับผิดชอบฝ่ายญี่ปุ่นเป็นองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JICA) ภายใต้โครงการ Capacity Improvement for Road Traffic Safety Institution and Implementation in Thailand ดำเนินการระหว่างปี 2563-2565
ผนวกทางด่วนใต้ดิน “นราธิวาส-สำโรง”
ทั้งนี้ MOU ฉบับใหม่จะขยายขอบเขตดำเนินการระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในด้านการพัฒนาแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจร แนวทางการส่งเสริมโครงการในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP) การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการก่อสร้างอุโมงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรของประเทศ ครอบคลุมถึงโครงการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างทางลอดอุโมงค์ทางลอด(นราธิวาส-สำโรง) เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติของญี่ปุ่นในด้านการดำเนินการและเทคโนโลยีการบำรุงรักษาถนนลอดอุโมงค์ ทางหลวงพิเศษและทางพิเศษ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับโดยรูปแบบความร่วมมือนั้น จะให้มีผู้เชี่ยวชาญจากส่วนต่างๆ ที่มีความรู้ ประสบการณ์, เทคโนโลยี หรือผลิตภัณฑ์ด้านการจราจรเข้ามามีส่วนร่วม และจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโดยฝ่ายไทยจะมีผู้แทนระดับอธิบดีจากกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และมีผู้แทนของกระทรวงที่ดินฯ ของญี่ปุ่นเข้าร่วมและให้คำแนะนำ
ทั้งนี้ ภายหลังจากได้รับความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว กระทรวงคมนาคมจะประสานงานกับฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อลงนามร่วมกันต่อไป โดยจะมีระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี นับจากวันที่ลงนาม
ไม่ต้องเข้าสภา
นอกจากนี้ กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าร่างบันทึกความร่วมมือนี้ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 174 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงไม่ต้องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาและเห็นชอบ
ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat