ควันหลงจากงานเสวนาออนไลน์ “SCENARIO PATANI” ภาพอนาคตปาตานี / ชายแดนใต้ ที่จัดขึ้นโดย THE MOTIVE องค์กรด้านสื่อและภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้จะผ่านไปกว่า 2 สัปดาห์แล้ว
โดยเฉพาะข้อเสนอจากวิทยากรที่เป็นไฮไลต์ของงานอย่าง อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่วันนี้อยู่ในสถานะ “คนแดนไกล” กลับไทยไม่ได้ ก็มีข้อเสนอแตะๆ ไปที่รูปแบบการปกครอง เช่น “เขตปกครองพิเศษ” ที่พัฒนาเป็น “เขตปกครองตนเอง”
ขณะที่กระแสความเคลื่อนไหวของกลุ่มปัญญาชนในพื้นที่ และคนที่ทำงานด้านประชาสังคม ตลอดจนนักเคลื่อนไหวต่างๆ เริ่มพูดถึง “ข้อเสนอดันเพดาน” ว่าด้วย “ประชามติเอกราช” กันมากขึ้น
เมื่อนำเรื่องนี้ไปต่อจิ๊กซอว์กับ “โต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่มีตัวจริงอย่าง “บีอาร์เอ็น” เข้าร่วม และบรรลุข้อตกลงหยุดยิง หรือลดความรุนแรงในบางห้วงเวลาไประดับหนึ่งแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการเริ่มแสวงหาทางออกทางการเมือง
คำถามคือ “เขตปกครองพิเศษ” หรือ “เขตปกครองตนเอง” ที่พูดถึงกัน ยังเป็นข้อเสนอใต้เพเดาน นั่นก็คือ ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทยที่รับรองการเป็น “รัฐเดี่ยว” แต่ข้อเสนอดันเพดานว่าด้วย “ประชามติเอกราช” น่าคิดว่าจะเป็นไปได้ในบริบทการเมืองการปกครองแบบนี้หรือไม่
คำถามนี้อาจพอจะหาคำตอบได้จากทัศนะของบรรดานักการเมืองที่ยังอยู่ในเวที เพราะพวกเขาคือผู้นำทางความคิด และมีพลังในสภาที่จะกำหนดทิศทางของเรื่องนี้ได้ เนื่องจากเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากตัวแทนประชาชน ซึ่งก็คือ “รัฐสภา” จึงจะเกิดขึ้นได้
และโอกาสของการถูกตีตก ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน…
ในงานเสวนาออนไลน์ของ THE MOTIVE ก็ยังมี “คนการเมือง” อีกหลายคนร่วมแสดงวิสัยทัศน์ และคำตอบของพวกเขาเหล่านั้น ก็ทำให้พอมองเห็นทิศทางของเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน
@@ กระจายอำนาจ ทลายข้อจำกัด พูดให้ชัดปกครองพิเศษคืออะไร
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เล่าย้อนถึงสิ่งที่ได้ทำสมัยเป็นหัวหน้ารัฐบาล ระหว่างปี 2551-2554 นั่นก็คือการฟื้นกฎหมาย ศอ.บต.กลับมา การเริ่มยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อำเภอแรก และใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน
และที่สำคัญคือการสานต่อกระบวนการพูดคุยเจรจา ซึ่งมีมาก่อนแล้วตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
“การพูดคุยเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นการพูดคุยในทางลับ และมาจบลงที่รัฐบาลของ นายกฯสมัคร สุนทรเวช จากนั้น นายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็รื้อฟื้นให้มีการคุยที่สำคัญ กระทั่งมาถึงรัฐบาลของผม คณะที่มอบหมายให้พูดคุย ในส่วนของฝ่ายรัฐบาลจะนำโดยนักวิชาการ และภาคประชาสังคม ไม่ใช่เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคง เพราะเห็นว่าจะเริ่มลดช่องว่างและสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ที่คิดเห็นต่างได้ดีกว่า ทดลองหยุดยุติเหตุรุนแรง จนหมดอายุรัฐบาล”
“ต่อมารัฐบาลภายใต้นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการเดินหน้าเจรจาผ่านรัฐบาลมาเลเซีย และเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยการพูดคุย และการพูดคุยก็เดินมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน” นายอภิสิทธิ์ ลำดับภาพการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
และว่า เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเป็นกุญแจในการแก้ปัญหา เริ่มมีการพูดคุยในเนื้อหาสาระที่จะเป็นคำตอบในระยะยาว เริ่มมีเรื่องการเมืองการปกครองที่สอดรับอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ภายใต้กรอบกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ สอดรับกับความหลากหลายที่มีอยู่ในพื้นที่ เริ่มตกลงหลักการเบื้องต้น ซึ่งหัวใจตรงนี้มี 2 ส่วนที่จะต้องรีบทำและผลักดันต่อไป
หนึ่ง คือ ยังอยู่ภายใต้หลักคิดที่ยังเป็นรัฐเดียว ที่สามารถมีความพิเศษในพื้นที่ในด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อสนองหรือตอบโจทย์ของพื้นที่
กับอีกด้านหนึ่ง การเคารพอัตลักษณ์ของคนปาตานี สิ่งที่อยากเห็นตรงนี้คือการเริ่มลงไปสู่รายละเอียดขอบเขตพื้นที่ หมายถึงอะไร อย่างไร ต้องคุยกัน แต่ต้องคำนึ่งถึงสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ ต้องพูดไปถึงพื้นที่ตรงนี้ จะมีอำนาจพิเศษอะไรบ้าง รูปแบบการปกครองที่จะออกแบบมา สามารถตอบสนองได้หรือไม่
“ผมสนับสนุนที่จะมีการกระจายอำนาจมากขึ้น จริงๆ การปกครองท้องถิ่นที่เป็นอยู่ เราจะเห็นได้ชัดว่ายังมีข้อจำกัดอยู่มาก รูปแบบที่จะทำสำหรับพื้นที่นี้ ต้องทลายข้อจำกัดเหล่านั้น”
“เช่น ด้านภาษา อัตลักษณ์ในพื้นที่ ปลายทางที่เราอยากเห็นความสงบในพื้นที่ที่ยังมีความหลากหลาย ก็จะต้องคุ้มครองคนที่เป็นคนส่วนน้อย คือชุมชนพุทธ กฎเกณฑ์กติกาที่ออกมาต้องไม่ทำให้คนพุทธมีปัญหาในการใช้ชีวิตตามวิถี ตามความเชื่อของเขาด้วย เราสามารถสร้างข้อยกเว้นได้อย่างไร ด้านหนึ่งให้พี่น้องในพื้นที่มีความสบายใจ ไม่ได้ถูกยัดเยียดบางอย่างที่ขัดกับหลักความเชื่อ แต่สำหรับคนที่มีความหลากหลายในพื้นที่ ชุมชนพุทธ หรือสมรสเท่าเทียม เขาไม่ควรที่จะถูกจำกัดสิทธิ์มากกว่าคนอื่น แต่จะยู่ร่วมกันภายใต้กติกา คือพูดให้ชัดว่าการปกครองพิเศษคืออะไร”
@@ ทางออกการเมือง คำตอบสุดท้าย แต่อย่าฝันว่าจะง่าย
นายอภิสิทธิ์ บอกด้วยว่า ท่าที่ของการพูดคุย แน่นอนว่าต้องคุยด้วยเหตุและผล คุยในลักษณะที่เป็นจุดศูนย์รวมของประชาชน หรือประชาชนเป็นศูนย์กลาง
“สุดท้ายปลายทาง ถ้าไม่มีการพูดคุยเพื่อหาคำตอบทางการเมือง เรื่องจะไม่จบ ไม่หาคำตอบทางการเมืองมันไม่มีทางออก แต่คำตอบทางการเมืองอย่าไปฝันว่ามันง่าย เราต้องร่วมกันทำให้ดีที่สุด และคำนึงในความละเอียดอ่อนในทุกมิติ แต่ถ้าเรามีเจตจำนงร่วมกัน ผมมั่นใจว่าต้องทำได้ ต้องคุย ต้องจริงใจ และรู้ว่าเรากำลังจะเดินไปสู่อะไร” อดีตนายกฯอภิสิทธิ์ กล่าว
@@ ลดบทบาทกองทัพ ให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมแสดงวิสัยทัศน์อนาคตปัตตานีผ่านการเสวนาออนไลน์เช่นกัน โดยบอกว่า แนวทางแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องใช้มาตรการทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และมาตรการทางสังคมวัฒนธรรม ทั้ง 3 มาตรการไปพร้อมๆกัน ซึ่งวิธีการแก้ไขที่นำไปสู่สันติภาพและปลายทางที่เราอยากเห็น
ในข้อที่ 1 ในด้านการเมือง ก็คือต้องลดบทบาทกองทัพ ใช้การพูดคุยและการเมืองเป็นตัวนำในการแก้ไขปัญหา และควรทยอยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยกเลิกกฎอัยการศึก และยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคง ลดระดับการปฏิบัติการทหารให้เหมือนพื้นที่อื่นๆ และใช้การเจรจาทางการทูตเป็นตัวนำ โดยที่สภาผู้แทนราษฎรติดตามตรวจสอบได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้นำกองทัพเป็นตัวแทนในการเจรจาไปหมด
ข้อที่ 2 ต้องสร้างความเป็นธรรมในสังคม ยกเลิกการเลือกปฏิบัติเพราะชาติพันธุ์ เพราะสีผิว เพราะความเชื่อทางศาสนา ทุกคนต้องเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเสมอภาคกัน ต้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ เช่น ในกรณีที่มีการซ้อมทรมานในค่ายทหาร
และสุดท้ายต้องมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง มีการจัดสรรภาษีอย่างเป็นธรรม กระจายอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่นได้จัดการทรัพยากรในพื้นที่ของตนเอง เปิดโอกาสทุกคนได้กำหนดอนาคตของชุมชน ของเมืองตัวเองได้
เรื่องนี้สำคัญเพราะตราบใดที่ไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีทางที่จะสร้างสันติภาพได้ สันติภาพต้องตั้งอยู่บนความยุติธรรม ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีสันติภาพ ยกตัวอย่าง กรณีตากใบและกรือเซะ จนถึงวันนี้ผ่านมาหลายปีแล้ว ยังไม่มีการชำระความจริง คนที่เกี่ยวข้องยังไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สิ่งต่างๆ เหล่านี้เมื่อสะสมกันไปแล้ว รังแต่จะสร้างความเกลียดชัง ความไม่ไว้วางใจ ถ้าอยากจะได้สันติภาพอยากให้ทุกคนหันมาพุดคุยกัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะลดบทบาทกองทัพ สร้างความเป็นธรรมในสังคม และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง ซึ่งเป็นนโยบายทางด้านการเมือง
@@ เศรษฐกิจตกต่ำถาวร อาจทำให้คนอยากได้เอกราช
นายธนาธร กล่าวต่อว่า ส่วนนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ ต้องเริ่มที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจก่อน รายได้โดยเฉลี่ยของคนไทยทั้งประเทศ 67 ล้านคน เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 18,000 บาท แต่รายได้ของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา 8,500 บาทต่อเดือน ปัตตานี 6,200 บาทต่อเดือน และนราธิวาส 4,500 บาทต่อเดือน
มาจัดลำดับของประเทศ ยะลาอยู่ลำดับที่ 43 ปัตตานีอยู่ลำดับที่ 64 และนราธิวาสอยู่ลำดับที่ 76 ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเมื่อคนไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและต้องดิ้นรนหาทางออกทางเศรษฐกิจ ผ่านมาหลายสิบปีก็เป็นแบบเดิม ไม่ต้องแปลกใจที่เขาอาจจะมีความลังเลในทางเลือกในอนาคตที่อยากจะให้สามจังหวัดนี้มีเอกราชเป็นของตัวเอง
ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ต้องเปิดพื้นที่การเรียนรู้และการส่งต่อวัฒนธรรม สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออก ซึ่งเอกลักษณ์ เช่น พิพิธภัณฑ์ สถาปัตยกรรม พื้นที่กลางแจ้ง ศูนย์เยาวชน โอบรับวัฒนธรรมที่หลากหลาย คืนความเป็นธรรม ยอมรับคุณค่าที่แตกต่าง ไม่ยัดเยียดอัตลักษณ์จากส่วนกลาง และสุดท้ายสร้างเศรษฐกิจจากวัฒนธรรม นำอัตลักษณ์ในพื้นที่มาสร้างงานและรายได้ให้ชุมชน
@@ ปกครองพิเศษ ต้องไม่พิเศษ ทุกพื้นที่ทั่วไทยต้องได้รับเท่าเทียม
ในช่วงที่เปิดให้ซักถาม นายธนาธร ตอบข้อซักถามในเรื่องการปกครองพิเศษ โดยบอกว่า “การปกครองพิเศษ มันต้องไม่พิเศษ มันต้องเป็นรูปแบบการปกครองปกติของทุกจังหวัด ของทุกตำบล ซึ่งเมื่อเราพูดถึงพิเศษ ก็หมายถึงข้อจำกัดมันเยอะมาก เพราะคุณต้องทำให้สิ่งที่มันควรจะเป็นมันพิเศษไป ถ้าคุณไปคุยกับคนล้านนาในแบบเดียวกัน เขามีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีความเชื่อของตัวเอง ป่าไม้ภูเขาแม่น้ำลำธารของเขา ทรัพยากรของเขา ก็ถูกเอารัดเอาเปรียบจากรัฐส่วนกลางเหมือนกัน ถ้าไปคุยกับคนภาคอื่นก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เหมือนกัน”
“ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาร่วมสมัยของคนทั้งประเทศ ประเทศไทยไม่ได้ประกอบด้วยคนไทยอย่างเดียว มันควรจะเหมือนกันทั่วประเทศทุกที่ทั้งประเทศไทยว่า อำนาจและทรัพยากรในพื้นที่นั้นเป็นของคนในพื้นที่ ทุกพื้นที่ไม่ใช่เฉพาะปัตตานีที่จะต้องได้รับสิทธินี้ ควรเป็นทั้งหมด”
@@ ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยพูดเรื่องเอกราช สุดท้ายอาจจบที่ประชามติ
หัวหน้าคณะก้าวหน้า ยังตอบข้อซักถามเรื่องการแยกปาตานีเป็นเอกราชว่า “การพูดถึงเรื่องเอกราชสำหรับปาตานีมันอันตรายเหลือเกิน พื้นฐานแรกคือต้องทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องปลอดภัย การทำให้เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการคิด เป็นไปอย่างปลอดภัย ผมคิดว่าถ้าเราเปิดพื้นที่ให้กับการพุดคุยกัน การสนทนากันอย่างมากพอและกว้างขว้างพอ มันจะไปสู่จุดหนึ่งที่จะให้ประชาชนตัดสินใจได้ ผมคิดว่าถ้าถึงที่สุดแล้วคงต้องทำประชามติกัน แต่จะไปถึงวันนั้นได้ต้องสร้างความปลอดภัยในพื้นที่ ต้องการันตีสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลให้ได้ ผมไม่ใช่คนตัดสิน”
@@ ปลายอุโมงค์สันติภาพคือรัฐสภา แต่วันนี้ รธน.ยังไม่แก้เปิดทาง
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.เขต 4 นราธิวาส พรรคประชาชาติ กล่าวในงานเสวนาเดียวกัน แต่ละคนวาระ ถึงกระบวนการสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยบอกว่า แม้ประชาชนในพื้นที่ ภาคประชาสังคมหลายๆ องค์กรส่วนใหญ่เห็นว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ในมุมมองของนักการเมืองอย่างตน กระบวนการต่างๆ ที่จะจบเป็นข้อยุติของประเทศนี้ สุดท้ายจะไปจบที่รัฐสภา
“สมมุติกระบวนการพูดคุยตกลงว่า จะต้องเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง รัฐสภาจะมีส่วนร่วมอย่างไร คนทั้งประเทศมองอย่างไร เมื่อไปถึงรัฐสภามันเป็นเรื่องของ ส.ส.ทั้งประเทศ ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมเพียงใด แล้วคนทั้งประเทศหรือคนใต้ คนสงขลาขึ้นไปว่าอย่างไร แต่การพูดถึงกระบวนการสันติภาพในสื่อโซเชียลฯยังต่อต้านอยู่ ไปคุยทำไมกับโจร สุดท้ายถ้าคุยจบแล้ว รัฐสภาจะรับลูกได้ไหม”
นายกมลศักดิ์ กล่าวอีกว่า กฎหมายที่ไปรองรับกระบวนการพูดคุย กระบวนการสันติภาพ ในรัฐธรรมนูญยังไม่มีเลย วันนี้นายกรัฐมนตรีพูดถึงกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้กี่คำ ให้สัมภาษณ์กี่ครั้ง ในสภาแทบไม่มีการพูดถึงเลย อยากให้รัฐสภามามีส่วนร่วมตรงนี้ เมื่อรัฐสภาไม่เคยมีส่วนร่วม เปลี่ยนรัฐบาลทีก็ล้มโต๊ะเจรจา มันสะท้อนให้เห็นว่า ส่วนกลางจริงใจแค่ไหนกับเรื่องเหล่านี้
“ถ้าหากจะให้เรื่องนี้มันจบที่ปลายอุโมงค์เห็นแสงสว่าง คุณต้องแก้รัฐธรรมนูญ สมมุติโต๊ะเจรจาได้ข้อสรุปว่าต้องการปกครองแบบพิเศษ ประชาชนก็ต้องการปกครองแบบพิเศษ มันต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ สุดท้ายมันก็ต้องไปสู่ระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นผู้แทนของคนทั้งประเทศ นั่นหมายความว่าคุณต้องให้คนทั้งประเทศเข้าใจสิ่งนี้ด้วย เข้าใจสภาพปัญหาของคนสามจังหวัด เข้าใจความต้องการของพี่น้องสามจังหวัด เขาต้องการอะไรคุณต้องรับได้นะ ต้องสร้างความเข้าใจคนทั้งประเทศด้วย หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้มันยังไม่มี และมันก็ต้องเป็นนโยบายของพรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาล” นายกมลศักดิ์ กล่าว