กล้าเปลี่ยน ‘บาติก’ นอกกรอบ สุดปัง! สู่ตลาดแฟชั่นโลก
สวยแบบตะโกนไปเลย กับ “ผ้าบาติก” ที่ออกจากกรอบเดิมๆ จากมีเพียงลายกุ้ง หอย ปู ปลา ปะการัง ใช้เทคนิคเขียนเทียน สีสด เปลี่ยนมาเป็นใช้เทคนิคการเพนต์ ฟรีแฮนด์ ทำลายกราฟิก ลายเส้น สีเอิร์ธโทน สีพาสเทล ตามเทรนด์แฟชั่น
เป็นความกล้าคิด กล้าเปลี่ยน ไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ
นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้ “ผ้าบาติก” ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสงขลา ที่ดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ ประจำปี 2565 จัดโดย สํานักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) หนึ่งในโครงการขับเคลื่อนนโยบาย “ซอฟเพาเวอร์” สร้างรายได้ให้กับประเทศ
ในการลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และ สงขลา เพื่อส่งเสริมให้ความรู้การออกแบบลายผ้าร่วมสมัยและผลิตภัณฑ์จากผ้า โกวิท ผกามาศ ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เรามาพร้อมกับ 2 ดีไซเนอร์ชื่อดังของประเทศ ธีระ ฉันทสวัสดิ์ และเอก ทองประเสริฐ มุ่งเน้นให้ความรู้ความเข้าใจในอัตลักษณ์ของท้องถิ่น นำมาสู่การสร้างสรรค์ผลงาน ศิลปะลายผ้าบาติกรูปแบบใหม่และหลากหลาย เน้นให้เกิดการผลิตผลงานที่สามารถนําออกจำหน่ายสู่ตลาดได้จริง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ให้ฟื้นคืนชีพ จากภาวะเศรษฐกิจซบเซาอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เทรนด์โลกเปลี่ยน บาติกต้องเปลี่ยน
ธีระ ฉันทสวัสดิ์ ดีไซเนอร์ชื่อดัง หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า อ.ต่าย กล่าวว่า งานของเราคือลงไปช่วยเหลือชุมชนเพื่อทำให้ชาวบ้านขายของได้ เพราะปัจจุบันนี้ เทรนด์เปลี่ยนไปแล้ว ถ้ายังทำแบบเดิมจะขายไม่ได้ และชาวบ้านร้อยละ 95 ยังมีทำผ้าบาติกแบบดั้งเดิม แต่ยุคนี้ “นวัตกรรม” กับ “วัฒนธรรมดั้งเดิม” ต้องเดินไปด้วยกัน ไม่ผิดที่จะทำลวดลายบาติกเป็นลายพญานาค กุ้ง หอย ปู ปลา ปะการัง แต่โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว
“ซึ่งจริงๆ ผ้าบาติกไม่ต้องมานั่งเขียนเทียน ลวดลายกุ้ง หอย ปะการัง หรือใช้โทนสีสด ไม่มีใครอยากใส่สีเสื้อสดตลอดเวลา ยังมีสีอื่นๆ ที่เป็นโทน ออน โทน โทนเทาน้ำตาล พาสเทล อีกทั้งไม่ต้องเขียนเทียน แต่สามารถใช้เทคนิคอื่นๆ มาทำได้ เช่น การเพนต์”
นอกจาก พัฒนาลายผ้าให้ทันสมัยแล้ว การตัดเย็บก็สำคัญไม่น้อย อ.ต่าย จึงเสริมการตัดเย็บด้วยการทำแพตเทิร์นให้ในรูปแบบที่ตัดเย็บง่ายๆ แต่ดีไซน์ทันสมัย เพราะ “การทำผ้าบาติก ถ้าผ้าสวย ทำอะไรก็สวย”
“มีลุงคนหนึ่ง ให้เขาลองทำบาติกดอกไม้ เขาบอกวาดดอกไม้ไม่ได้ เพราะเป็นผู้ชาย แต่เราอยากเห็น จึงให้วาดแล้ววาดอีก จนในที่สุดกลายเป็นดอกไม้ในแนวของเขา สวยมาก และกลายมาเป็นลายที่ขายดีมาก เพราะผู้บริโภคอยากได้ความต่าง ถามลุงตอนนี้เป็นยังไงบ้าง ก็บอกกำลังทุบบ้านอยู่ ซื้อบ้านข้างๆ เรียบร้อยแล้ว คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น เราฟังแล้วก็ปลื้มใจ”
“ตลอด 7 ปีของโครงการ ที่ลงไปช่วยชาวบ้านพัฒนาลายผ้าบาติก จากที่เคยขายผ้าบาติกเมตรละ 150-200 บาท ตอนนี้กลุ่มที่เราพัฒนา บางกลุ่มขายได้เมตรละ 850 บาท บางเจ้าส่งออกไปขายที่ญี่ปุ่น เพื่อทำชุดกิโมโน”
อ.ต่าย ทิ้งท้ายว่า ตอนนี้การทำผ้าบาติกของไทยพัฒนาไปไกลแล้ว ในขณะที่ผ้าบาติกทั่วเอเชีย ยังใช้จันติ้งเขียนเทียนบาติก ลวดลายเป็นเป็นวัฒนธรรมมากๆ แต่สำหรับประเทศไทยบอกได้เลยว่า กระโดดออกมาแล้ว เป็นลายแอบสแตรกต์เป็นที่เรียบร้อย
ชิ้นเดียวในโลก ไม่ซ้ำใคร
เอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์ชื่อดัง กล่าวว่า จากที่มีประสบการณ์ทำเสื้อผ้าแบรนด์ ทำให้เห็นว่างานฝีมือท้องถิ่นเป็นที่ต้องการของตลาด จึงพบว่า ถ้าเราทยอยอินพุตเข้าไป มันจะสร้างตลาดอีกอันหนึ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น คือ ตลาดของคนเมือง
“จากเมื่อก่อนเราจะคิดว่าสินค้าเหล่านี้มีอยู่ตลาดเดียวคือ ข้าราชการ หรือตลาดผู้สูงอายุ อันนี้คือตลาดใหม่ที่สร้างขึ้นมา เพื่อเจน z ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นฟิวเจอร์มาร์เก็ต ซึ่งเจน z เหล่านี้ มีมายด์เซตที่เปลี่ยนไป โดยมีมายด์เซตในการเข้าไปพัฒนาชุมชน พัฒนารากแก้ว ซึ่งเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศ เรื่องของจริยธรรม การที่มีสตอรี่แบบนี้ ทำให้คอนเน็กคนเจน z มากขึ้น”
สำหรับการลงมาพัฒนาลายผ้าในปีนี้ เอก กำหนดธีมโดยพูดถึง 2 ประเด็น 1.ต้องการสร้างบาติกให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของเสื้อผ้ามือ 2 ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้มีเงินหมุนเวียนมากกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
บวกกับมองเห็นจุดอ่อนของผู้ประกอบการที่ไม่สามารถแปรรูปเสื้อผ้าได้ จึงเป็นจังหวะที่ดีที่จะนำวัฒนธรรมผ้าบาติก เข้าไปสู่โปรดักต์อื่นๆ ได้ ผ่านการผสมผสานเรื่องของสินค้ามือ 2 เข้ามา ให้สอดคล้องกับเทรนด์ใหญ่ของโลก
“ผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนการทำแพตเทิร์น หรือการตัดเย็บที่ไม่ถนัด ให้โฟกัสในเรื่องของการทำผ้าอย่างเดียว แต่เราหาวิธีการแปรรูปบาติก ให้มีรูปแบบใหม่มากขึ้น”
ส่วนแนวคิดการออกแบบ ได้อินสไปร์มาจาก “ตัวตลก” ในหนังตะลุง โดยสื่อออกมาให้เข้ากับพฤติกรรมของคนในปัจจุบัน โดยทำเป็นร่างเงาของกิจกรรมต่างๆ เช่น การเล่นสเก๊ตบอร์ด การเซลพี่ การไปร้านกาแฟ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะคอนเน็กกับคนได้มากกว่า
“เราพยายามออกจากบริบทเดิมที่เป็นลายดอกไม้ เป็นลายที่ทันสมัย เพื่อหามุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับผ้าบาติก”
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการ มุ่งหวังที่จะให้เกิดการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับสินค้าอันเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ เกิดการสร้างรายได้หมุนเวียนกับชุมชน”
นอกจากนี้ ยังได้นำผลงานที่ได้รับการสร้างสรรค์ไปเผยแพร่ อาทิ การจัดแสดงแฟชั่นโชว์ การจัดทำหนังสือรวบรวมผลงาน การจัดทำวีดิทัศน์ เป็นต้น โดยธีระ ฉันทสวัสดิ์ นำผลงานบาติกไปจัดทำแฟชั่นเสื้อผ้าผู้หญิง 14 ชุด ขณะที่เอก ทองประเสริฐ จัดทำแฟชั่นเสื้อผ้าผู้ชาย 14 ชุด
“จากที่ลองกับแบรนด์ของเราแล้ว เมื่อก่อนจะคิดว่าขายไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วขายได้ ด้วยราคาที่โอเค ตลาดนี้เป็นตลาดที่มีศักยภาพ ราคาที่ขายก็ไม่ลดลง เช่น เสื้อราคา 200 บาท เมื่อนำมาทำก็สามารถขายได้ในราคา 350 บาท หรือมากกว่านั้น ในแง่ของความสวยงาม มันเป็นราคาที่จับต้องได้ง่ายๆ”
“ยกตัวอย่าง นำแจ๊กเก็ตมือ 2 มาเปลี่ยนกระเป๋า โดยเอากระเป๋าเดิมออก แล้วทำกระเป๋าผ้าบาติกใส่เข้าไป แล้วเพนต์เพิ่มที่ด้านหลัง เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้ามทอ 2 จากที่ซื้อมา 200 บาท อาจจะขายได้ 900 บาท ในรูปแบบไม่ซ้ำแบบใคร เพราะมีชิ้นเดียวในโลก” เอก ทิ้งท้าย
ธรรมดาโลกไม่จำ
คอยรุณนีซาย์ หะแว ผู้ประกอบการกลุ่ม OK Batik ต.กะลุวอเหนือ อ.เมืองนราธิวาส ที่เปิดใจเปลี่ยนจากทำลวดลายผ้าบาติกวัฒนธรรมนราธิวาส มาเป็นลายแฟชั่น เพื่อให้ผ้าบาติกของเธอทันยุคทันสมัย เผยว่า ดีใจที่โครงการนี้เข้ามา อยากร่วมงานกับ อ.ต่าย เพราะอยากทำลายผ้าบาติกแนวแฟชั่น ที่มีความทันสมัยและสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจารย์ให้คำแนะนำดีมากๆ ให้คิดออกแบบลวดลายใหม่ๆ จากปกติเป็นลายวัฒนธรรมบ้านเรา เช่น ลายดอกไม้ ลายเอกลักษณ์ของ จ.นราธิวาส เช่น เรือกอ และว่าว เป็นต้น
“เมื่ออาจารย์มาแนะนำก็เปลี่ยนเป็นลายแฟชั่น ลายกราฟิก ลายเลขาคณิต โดยอาจารย์ไม่ได้บังคับให้ทำในสไตล์อาจารย์ เพียงแนะนำและให้เราทำตามจินตนาการ จึงทำให้สบายใจและไม่รู้สึกกดดัน ทำให้สร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ดี เพราะสำหรับเธอแล้วเชื่อว่า ธรรมดาไป โลกไม่จำ เมื่อโลกเปลี่ยนก็ต้องปรับให้กับยุคสมัย” คอยรุณนีซาย์ ทิ้งท้าย
บาติกแฟชั่น
รอซีเย๊าะ ดอเลาะ ผู้ประกอบการผ้าบาติก บ้านบาโง จ.นราธิวาส กล่าวว่า เข้าร่วมโครงการมาหลายปีแล้ว โครงการได้เข้ามาช่วยพัฒนาลายผ้า แนะนำเทคนิคการทำลวดลาย ลงสี การให้เฉดสี ซึ่งทำให้พัฒนาลายผ้าได้ดีขึ้น เมื่อออกสู่ตลาดก็ได้การตอบรับดี ทำให้รายได้ดีขึ้น
“เราพร้อมเปลี่ยนและพัฒนา จากตอนแรกที่ไม่รู้อะไรเลย ทำเป็นแค่ลายดอกไม้ ใช้เทคนิคเขียนเทียน ตอนนี้ก็เข้าใจเรื่องเทรนด์สี และการทำลวดลาย ทั้งลายกราฟิก ลายภูเขา ลายเส้น ใช้เทคนิคเพนต์ ฟรีแฮนด์ ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าของผ้าจากผืนละ 100-200 บาท เป็น 300-400 บาท แม้ราคาจะแพงขึ้นแต่ลูกค่าก็ยังซื้อ จากรายได้หลักหมื่นต่อเดือน ก็เพิ่มเป็นหลักแสนต่อเดือน” รอซีเย๊าะกล่าว และทิ้งท้ายว่า
“การพัฒนาทำให้ผ้าบาติกยั่งยืน เพราะถ้าทำลายเดิมๆ ก็ขายไม่ได้ ลูกค้าก็อยากมีอะไรใหม่ๆ ซึ่งเราก็พร้อมพัฒนา”
ทั้งนี้ โครงการฯ จะนำผลงานเครื่องแต่งกายจากผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ จำนวน 28 ชุด เข้าร่วมจัดแสดงในงานภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล ในวันที่ 14 สิงหาคม 2565 ณ สยามพารากอน