เปิดโศกนาฏกรรม มัสยิดกรือเซะ-ตากใบ เรื่องราวที่สร้างบาดแผลให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งกลายเป็นหัวข้อที่ “ทักษิณ” อ้างว่า จำไม่ได้ ไม่อยากพูดถึง
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าไปสนทนาผ่านแอปพลิเคชั่น Clubhouse ในชื่อ Tony Woodsame เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยได้แสดงวิสัยทัศน์ในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำรัฐบาลเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 รวมถึงเรื่องการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้ถามนายทักษิณถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนในพื้นที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี นายทักษิณกลับตอบสั้น ๆ เพียงว่า
“ที่กรือเซะ ส่วนใหญ่อยู่ในความควบคุมของทหาร ผมเป็น นายกรัฐมนตรีอยู่ก็รับรายงาน แต่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้มากมาย เข้าใจอะไรได้มากมาย ก็เสียใจที่เกิดเหตุการณ์ ขึ้น จำไม่ค่อยได้ จำได้ว่ามีการยิงปะทะกันมากกว่า จำไม่ค่อยได้ แต่ก็เสียใจกับสิ่งที่เหตุการณ์“
ขณะที่ นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ตอบแทนว่า
“ในขณะนั้นผมเป็นอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรื่องกรือเซะเป็นปฏิบัติการที่ช่วงนั้นมีกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการต่อต้านรัฐ มีการประกาศกฎอัยการศึก ทหารควบคุมสถานการณ์เราจะไม่รู้ปฏิบัติการ พอถึงค่ำ พบว่ามีการใช้อาวุธ มีการปะทะกัน มีผู้เสียชีวิตหลายราย ฝ่ายนโยบายไม่ทราบรายละเอียด จนเกิดปัญหาขึ้น ทางฝ่ายนโยบายก็สอบสวน ฝ่ายสูญเสียก็ไม่พอใจ แต่สุดความสามารถที่เราจะเข้าไปจัดการได้“
ตามด้วย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ตอบเพิ่มเติมว่า
“ผมเรียนตรงๆ จากที่มีโอกาสทำงานร่วมกัน บางเรื่องที่ท่านมีความรู้สึกพูดไปแล้ว และเป็นปัญหากับคนอื่น จึงไม่อยากจะพูด เรื่อง ตากใบ กรือเซะ มีเรื่องสลับซับซ้อนมากมาย คนที่ศึกษาจะเข้าใจเรื่องราวต่างๆ เชื่อว่าคุณทักษิณ ไม่อยากพาดพิง จึงไม่อยากพูด อยากให้ไปหารายละเอียดว่ารัฐบาลขณะนั้นเจอปัญหาเรื่องอื่นอีก ถ้าจะบันทึกประวัตศาสตร์จริงก็จะมีการศึกษากัน“
คำตอบนี้ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในโลกโซเชียลทันที เพราะหลายคนมองว่า นายทักษิณ มิอาจเลี่ยงความรับผิดชอบในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” ต่อเหตุสลายการชุมนุม ซึ่งสร้างความสูญเสียครั้งใหญ่และกลายเป็นบาดแผลของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้
เกิดอะไรขึ้นที่ “มัสยิดกรือเซะ”
มัสยิดกรือเซะ หรือ มัสยิดปิตูกรือบัน เป็นมัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ในจังหวัดปัตตานี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา
มีตำนานเล่าว่า เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวได้สาปให้มัสยิดแห่งนี้สร้างไม่สำเร็จ เมื่อสร้างถึงยอดโดมคราวใดก็พังทลายลงมาทุกครั้ง แต่ภายหลังมีการวิเคราะห์ว่า เนื่องจากในสมัยนั้นช่างยังขาดความรู้ในการก่อสร้างหลังคารูปโดม การก่อสร้างจึงยังคงค้างคาและทิ้งร้างมาเป็นเวลานาน
กระทั่งปี 2524 กรมศิลปากรได้บูรณะในวาระแห่งปีเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานครมีอายุครบ 200 ปี ต่อมาในปี 2542 กรมศิลปากรมีโครงการปรับปรุงบูรณะภายในให้สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ ส่วนภายนอกยังคงรักษาสภาพโบราณสถานเอาไว้เช่นเดิม
ก่อนจะเกิดเหตุรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะ เปิดศักราชใหม่ปี 2547 ได้เพียง 4 วัน เกิดเหตุกลุ่มคนร้ายบุกปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งมีการสังหารโหดทหารเสียชีวิต 4 นาย มีปืนหายไปทั้งหมด 413 กระบอก (ข้อมูล: ผู้จัดการออนไลน์)
หลังเหตุการณ์ปล้นปืน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เริ่มปรากฏความรุนแรงระลอกใหม่ ทั้งการลอบสังหารเจ้าหน้าที่ การเผาโรงเรียน และการวางระเบิดหลายครั้ง
แต่ นายทักษิณ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ปรามาสว่า เป็นฝีมือของกลุ่มโจรกระจอกและพวกขี้ยา
ล่วงเข้าสู่เช้ามืดวันที่ 28 เมษายน 2547 กลุ่มชายฉกรรจ์ อายุระหว่าง 15-20 ปี มีอาวุธเพียงมีดพร้าและกริช กระจายกำลังโจมตีป้อมจุดตรวจของทหารและตำรวจนับ 10-12 จุด ในหลายพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อมีการยิงต่อสู้กัน กลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์บางส่วน ได้วิ่งเข้าไปหลบในมัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี จากนั้นจึงถูกทหารและตำรวจนำกำลังปิดล้อมตั้งแต่เช้าจรดบ่าย ก่อนที่สุดท้ายเจ้าหน้าที่จะตัดสินใจใช้อาวุธหนักยิงถล่ม (ข้อมูล: มติชน)
เหตุรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะนับว่ารุนแรงที่สุด เพราะทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 30 ราย รองลงมาคือที่อำเภอสะบ้าย้อย 19 ราย, อำเภอกรงปีนัง จังหวัดยะลา 17 ราย, อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี 13 ราย, อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 12 ราย, อำเภอบันนังสตา 8 ราย, อำเภอธารโต 5 ราย, อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี 2 ราย,
บทสรุปของความวิปโยคในวันนั้น ทำให้ทั้งผู้ก่อเหตุและเจ้าหน้าที่ เสียชีวิต 113 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ก่อเหตุ 108 ราย เจ้าหน้าที่ 5 ราย
“ศิลปวัฒนธรรม” รายงานว่า นายทักษิณ ยังคงมองว่าเป็นฝีมือของกลุ่มเดิม ๆ ขณะที่ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมองว่า การโจมตีในครั้งนี้เป็นฝีมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมุสลิม ซึ่งได้รับการฝึกฝนในต่างประเทศ
หลังเกิดเหตุ ไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ทั้งยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงถึงกลุ่มก่อการร้ายต่างชาติ
ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ใช้ข้อมูลข่าวกรองในการวางกับดักเพื่อเพิ่มความเสียหาย แทนที่จะใช้ข้อมูลในการจำกัดการเสียเลือดเสียเนื้อ
“รัฐบาลไม่จำเป็นต้องฆ่าพวกเขา แต่รัฐบาลก็ฆ่าพวกเขาจนหมดอยู่ดี” สุนัย ผาสุก จากกลุ่มฮิวแมนไรท์วอท์ช กล่าว “พวกเขาไม่จำเป็นต้องถล่มมัสยิดแต่สุดท้ายก็ทำ…นี่คือหนึ่งในสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับชาวมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ฟอรัมเอเชีย (Forum Asia) ออกแถลงการณ์กล่าวว่า “ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ใช้แค่มีดพร้าและกริชเท่านั้น…ทหารที่มีอาวุธครบมือ และตำรวจที่ได้รับการฝึกฝนเพื่อรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้มย่อมสามารถจัดการกับเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้อย่างแน่นอน แล้วมันมีเหตุผลอะไรที่จะต้องฆ่าพวกเขา”
ตายหมู่ ณ “ตากใบ”
เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะผ่านไปได้เพียง 6 เดือน ชาวใต้เผชิญโศกนาฏกรรมอีกครั้ง ณ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
มติชน รายงานว่า ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ชาวบ้านนับพันคนไปรวมตัวกันหน้า สภ.อ.ตากใบ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน ซึ่งถูกตั้งข้อหา พร้อมคุมขังระหว่างการสอบสวนนานกว่า 1 สัปดาห์ เนื่องจากสงสัยว่าพัวพันกับอาวุธปืนที่หายไป แต่ชาวบ้านเชื่อว่าคนเหล่านั้นไม่ผิด
หลังเจรจากับเจ้าหน้าที่แล้วยังไม่ได้ข้อสรุป จึงเกิดการขว้างปาสิ่งของ ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะพยายามเข้าไปภายใน สภ.อ.ตากใบ เพื่อเจรจาอีกครั้ง ต่อมา แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น มีคำสั่งสลายการชุมนุม เริ่มจากการฉีดน้ำใส่ฝูงชน ใช้แก๊สน้ำตา และยิงตอบโต้นาน 30 นาที
การสลายชุมนุมครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 คน สูญหาย 7 คน บาดเจ็บมากกว่า 1,000 คน นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของชาวปาตานี หรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
หลังเหตุการณ์ราว 1 สัปดาห์ มี คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 335/2547 แต่งตั้ง คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง กรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ปรากฏข้อมูลเผยแพร่ในฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า โดยในตอนหนึ่งระบุว่า…
“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้เริ่มก่อเหตุการณ์คือกลุ่มแกนนำบางคนที่ต้องการให้สถานการณ์ยืดเยื้อ เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นฝ่ายเข้าไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ละคนได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อบกพร่องไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ไม่มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ
อนึ่ง ในเหตุการณ์นี้มีข้อสังเกตว่าข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่หลายท่านได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเสียสละ กล้าหาญ จึงต้องนำเหตุการณ์นี้มาศึกษาเสนอแนะเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเช่นนี้ขึ้นอีก และการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจำนวนมาก ระหว่างการเคลื่อนย้ายจาก สภ.อ.ตากใบ มายังค่ายอิงคยุทธบริหารนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดถึงและไม่มีเจตนาที่จะให้เกิดเหตุการณ์ที่เศร้าสลดเช่นนี้”
หลังเกิดเหตุ มีการฟ้องร้องกันตามกฎหมายหลายคดี คดีสุดท้าย จังหวัดสงขลา พิพากษาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2552 หรือ 5 ปี หลังเหตุการณ์ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ “ตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวย” ผู้ตายทั้งหมด เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจระหว่างการปฏิบัติงานตามหน้าที่
สิงหาคม 2556 ญาติของผู้เสียชีวิต 34 คน เข้ารับฟังการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ตามที่ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลจังหวัดสงขลา ที่มีคำสั่งไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตจำนวน 78 คน เกิดจากขาดอากาศหายใจ ระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งญาติขอให้ศาลพิจารณาทำคำสั่งใหม่ เนื่องจากไม่มีการกล่าวถึงพฤติการณ์ว่า “ใคร” เป็นผู้ทำให้เสียชีวิต
ศาลฎีกายกคำร้อง โดยมีข้อมูลระบุว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องด้วยเหตุผลว่า เมื่อศาลจังหวัดสงขลาเป็นศาลชั้นต้นเช่นเดียวกันกับศาลอาญา ได้รับคดีไว้ และทำการพิจารณาทำคำสั่งไปแล้ว จึงไม่อาจรับคดีไว้พิจารณาได้อีก ต่อมาศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ศาลฎีกาประชุมตรวจสำนวนแล้วเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ จึงมีคำสั่งยกคำร้อง
แผลที่ไม่มีวันหาย
นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊กกรณี “มัสยิดกรือเซะ” และ “ตากใบ” ที่เกี่ยวพันกับ ทนายสมชาย นีละไพจิตร สามีของเธอ ข้อความดังนี้…
#17ปีกรือเซะตากใบ #สงครามยาเสพติด #17ปีสมชายนีละไพจิตร #รัฐตำรวจ
เมื่อคืนใน CH มีเด็กตั้งถามคุณทักษิณเรื่องกรือเซะ ตากใบ คุณทักษิณเองก็คงไม่คิดว่าจะมีเด็กรุ่นใหม่ถามคำถามถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อปี 2547 อาจไม่ทันตั้งตัว และอาจไม่อยากพูดถึง เลยตอบไปสั้น ๆ ว่า “จำไม่ค่อยได้” แต่เสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้คำตอบของคุณทักษิณเป็นเทรนในทวิตเตอร์ว่า #ตากใบจำไม่ได้
อย่างไรก็ดีคุณทักษิณได้พูดออกมาคำหนึ่งว่า “ตอนนั้นมีการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก” ซึ่งแกนนำการล่ารายชื่อยกเลิกกฎอัยการศึกช่วงนั้น คือ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ถูกอุ้มฆ่า (12 มีนาคม 47) ก่อนการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในเหตุการณ์กรือเซะ ประมาณเดือนเศษ (28 เมษายน 47)
กรณีเหตุการณ์ความรุนแรงใน จชต. คุณทักษิณเคยกล่าวขอโทษและแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิตและผู้ถูกบังคับสูญหาย และต่อมารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ได้ให้การชดใช้เยียวยาความเสียหายแก่ครอบครัว พร้อม ๆ กับการเยียวยาผู้เสียหายทางการเมืองในเหตุการณ์ปี 53 ด้วยเหตุผลว่า “#เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ”
ซึ่งจำได้ว่าสร้างความไม่สบายใจแก่หน่วยงานความมั่นคงอย่างมาก อย่างไรก็ดี การเยียวยาด้วยตัวเงินครั้งนั้นไม่ได้นำสู่การเยียวยาทางกฎหมาย เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ผู้เสียชีวิต ผู้สูญหายและครอบครัว จึงทำให้ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล #Impunity
ความที่คุณทักษิณเป็นตำรวจ อาจทำให้มีความเชื่อมั่นและไว้ใจในการทำงานของตำรวจ ให้อำนาจแก่ตำรวจมาก จนปราศจากการตรวจสอบ จึงเป็นที่มาของคำว่า #รัฐตำรวจ และทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่หากสังเกตจะพบว่าแม้คุณทักษิณจะถูกฟ้องร้องหลายต่อหลายคดีจนต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ แต่อัยการไม่เคยฟ้องคุณทักษิณกรณีกรือเซะ ตากใบ หรือสงครามยาเสพติด และการอุ้มหายประชาชนจำนวนมากในช่วงนั้น
หรืออาจเป็นเพราะกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงเหล่านี้มีผู้เกี่ยวข้องมากมาย ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง #ตำรวจ และ #ทหาร ที่ทุกวันนี้ทุกคนที่เกี่ยวข้องยังมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนยศเหมือนไม่เคยได้กระทำผิดใด ๆ มาก่อน
หรืออาจมี #ผู้เกี่ยวข้องอื่น ตามที่คุณหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ได้กล่าวไว้เมื่อคืน และยังแนะนำให้ #บันทึกประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเป็นการเปิดเผยความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น และจะได้นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ และคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อ เสียดายที่คดีกรือเซะ ตากใบ อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากให้เหตุผลว่า #ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต และญาติเองซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา ๆ ก็คงไม่มีเรี่ยวแรงพอจะลุกขึ้นมาฟ้องหน่วยงานความมั่นคง
ปีนี้ กรณีกรือเซะตากใบครบ 17 ปี จึงมีอายุความ เหลืออีกเพียง 3 ปี ในการเข้าถึงสิทธิในความยุติธรรม ในขณะที่การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ (continuous crime) ตามกฎหมายสากล แต่กรณีการบังคับสูญหายหลายคดี รวมถึงคดีสมชาย นีละไพจิตร ที่เป็นคดีพิเศษ ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็มีคำสั่งงดการสอบสวนด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ เนื่องจาก #ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าใครเป็นผู้กระทำผิด
ขณะเดียวกัน รัฐบาลชุดนี้ก็มีความพยายามอย่างมากในการลบชื่อบุคคลสูญหายในประเทศไทยจากรายชื่อคนหายของสหประชาชาติ เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยไม่มีคนหาย
17 ปีที่ผ่านมา จึงไร้ซึ่งความยุติธรรม และการเปิดเผยความจริง เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคุณหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่สังคมไทยควรชำระ #ประวัติศาสตร์บาดแผล ต่าง ๆ เสียที ทั้ง 6 ตุลา พฤษภา 35 พฤษภา 53 กรือเซะ ตากใบฯ เพื่อไม่ต้องให้เด็กรุ่นใหม่ต้องย้อนกลับไปหาข้อมูลใน Google เพื่อศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้น เรื่องนี้คงต้องฝากคำถามถึงนายกฯประยุทธ และรองฯประวิตร ว่า #กล้าไหม
#การรักษาความทรงจำของเหยื่อ เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาประวัติศาสตร์ แม้จะเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล แต่เราทุกคนจึงควรร่วมกันจดจำ และแม้จะไม่สามารถแก้ไขอดีตได้ แต่การเรียนรู้อดีตจะทำให้เราสามารถป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และผู้กระทำผิดทุกคนต้องได้รับโทษ เพื่อยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในประเทศไทย
(เรื่องคุณทักษิณ และความรุนแรงในภาคใต้ แนะนำอ่าน #ตอบโจทย์ประทศไทย โดยคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ค่ะ)
อังคณา นีละไพจิตร
23 กุมภาพันธ์ 2564
#17ปีกรือเซะตากใบ #สงครามยาเสพติด #17ปีสมชายนีละไพจิตร #รัฐตำรวจ
เมื่อคืนใน CH มีเด็กตั้งถามคุณทักษิณเรื่องกรือเซะ…
โพสต์โดย Angkhana Neelapaijit เมื่อ วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2021