สยามรัฐออนไลน์
14 มีนาคม 2564 16:22 น.
เกษตร
กรมชลประทาน จับมือท้องถิ่น ถอดบทเรียน รับมือภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานีและลุ่มน้ำสายบุรี
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่เขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วม ในการเสวนา“ถอดบทเรียนและเตรียมการรับมือภัยพิบัติในเขตลุ่มน้ำปัตตานีและลุ่มน้ำสายบุรี” โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา ผู้อำนวยการเขื่อนรัชชประภา ผู้แทนศูนย์ประสานงานเครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ และภัณฑารักษ์แห่งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) เข้าร่วมเสวนา ที่จัดโดยคณะกรรมมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำปัตตานี และลุ่มน้ำสายบุรี มีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) ซึ่งมักจะประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงระหว่างเดือนตุลาคมจนถึงเดือนธันวาคมของทุกปี ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐได้บูรณาการการทำงานร่วมกันในการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ โดยกำหนดมาตรการป้องกันในทุกมิติ ร่วมถึงการเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น คณะกรรมมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดการสัมมนาถอดบทเรียนและเตรียมการรับมือภัยพิบัติในเขตลุ่มน้ำปัตตานีและลุ่มน้ำสายบุรี เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเตรียมการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติในพื้นที่ ตลอดจนให้ผู้เข้าร่วมสัมมนารับทราบขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ และตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในการรับมือภัยพิบัติ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงการเตรียมความพร้อมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่
ในส่วนของกรมชลประทาน ได้กำหนดแผนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำปัตตานีในอนาคต ประกอบด้วย การจัดการข้อมูลเพื่อการเตือนภัย โดยให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานีตรวจวัดน้ำอัตโนมัติ (โทรมาตร) อาคารชลประทานทุกแห่งในพื้นที่ เพื่อทำการซ่อมแซม ปรับปรุงของเดิมที่มีอยู่ให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ ยังได้วางแผนติดตั้งระบบติดตามและควบคุมอาคารชลประทานระยะไกล 6 แห่ง ได้แก่ (1) เขื่อนปัตตานี (2) ประตูระบายน้ำปรีกี (3) ประตูระบายน้ำตุยง (4) ประตูระบายน้ำ D2 (5) ประตูระบายน้ำ D8 และ (6) ประตูระบายน้ำ D9 อีกทั้งยังได้เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ให้พร้อมปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อบรรเทาและช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที รวมไปถึงการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การจัดทำแผนการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำปัตตานี เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนในอนาคตด้วย