- Line
นครพนม – โปรดเกล้าฯ “หมอแมกไซไซ” ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 13 ราย
วันที่ 16 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม และโปรดเกล้าฯแต่งตั้งกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งสิ้น 13 ราย ประกาศ ณ วันที่ 14 กันยายน 2564 มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ และนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนครพนมเมื่อปี 2548 เป็นต้นมา ที่การเสนอโปรดเกล้าฯกรรมการสภามหาวิทยาลัยนครพนม ไม่ได้ถูกชี้นำจากคนที่นั่งหัวโต๊ะ
รายชื่อกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 12 ราย ประกอบด้วย 1.นางกุลธิดา ท้วมสุข 2.นายเทิดชาย ช่วยบำรุง 3.นายเทียมศักดิ์ เวียงศรีประเสริฐ 4.นายบวรศิลป์ เชาวน์ชื่น 5.นายประวิต เอราวรรณ์ 6.นายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา 7.นายศตพล ใจสบาย 8.นายสมเกียรติ ศิริตัน 9.นายสมหมาย รักขนานุรักษ์ 10.นายอธิคม ฤกษบุตร 11.นายอภิรัฐ ศิริธราธิวัตร และ 12.นายอุดม คำจันทร์
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยนครพนม เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐลำดับที่ 78 ในประเทศไทย ที่เกิดจากการหลอมรวมสถานศึกษาในจังหวัดฯ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนครพนม พ.ศ. 2548 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่122 ตอนที่ 75 ก เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2548 จึงมีผลให้มหาวิทยาลัยราชภัฏนครพนม (ในขณะนั้น) ได้รับการยกฐานะเป็น “มหาวิทยาลัยนครพนม” ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 16 ปี
โดยมหาวิทยาลัยนครพนม เป็น 1 ใน 2 มหาวิทยาลัยที่เกิดจากการรวมหลายสถาบันการศึกษาเข้าด้วยกันคือ “มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์” จังหวัดนราธิวาส และ “มหาวิทยาลัยนครพนม” จังหวัดนครพนม โดยในการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งนั้น ใช้หลักการหลอมรวมสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่แล้ว เป็นการใช้ทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการประหยัดงบประมาณของรัฐโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านสิ่งก่อสร้างจำนวนมาก สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ เป็นการกระจายโอกาสและสร้างความเสมอภาคให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปในจังหวัดพื้นที่ตั้งมหาวิทยาลัยและจังหวัดใกล้เคียงให้มีโอกาสเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษามากขึ้น อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชากร นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการจัดการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นทั้งเป็นการพัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากร ตลอดจนหน่วยงานในท้องถิ่น ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงขึ้น กับทั้งยังสามารถจัดการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น
การจัดตั้งมหาวิทยาลัยนครพนม เกิดจากการหลอมรวมสถาบันต่าง ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครพนม,มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาเขตนครพนม,วิทยาลัยเทคนิคนครพนม,วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครพนม,วิทยาลัยการอาชีพธาตุพนม,วิทยาลัยการอาชีพนาหว้า,วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครพนม เข้าด้วยกัน
ทั้งนี้เนื่องจากจังหวัดนราธิวาสและนครพนม เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นรอยต่อออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาทั้งที่จังหวัดนราธิวาสและนครพนม นอกจากจะเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้กับประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงแล้ว ยังเพิ่มโอกาสที่จะรองรับการศึกษาต่อและการใช้บริการทางการอุดมศึกษาให้กับประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย
มหาวิทยาลัยนครพนมมีนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนมคนแรกคือ ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์(2548-49) ท่านมีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับในสังคมอย่างกว้างขวาง เช่น อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวรและสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย อดีตหัวหน้าพรรคพลังใหม่ อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังธรรม อดีตรองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ และเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซประจำปี พ.ศ. 2516
ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ เป็นผู้วางรากฐานระเบียบข้อบังคับต่างๆในมหาวิทยาลัยนครพนมเพื่อให้ผู้บริหารรุ่นต่อมารับไปดำเนินการ ภายหลังมีกลุ่มบุคคลคณะหนึ่ง เห็นช่องว่างในการแสวงหาผลประโยชน์ จึงแก้ไขระเบียบข้อบังคับ เพื่อรวบอำนาจมาไว้กับตนเพียงผู้เดียว พร้อมนำลูกน้องเก่ามากองรวมกันที่นี่ โดยกำจัดบุคคลที่เห็นต่างออกนอกวงโคจร แล้วตั้งลูกน้องตนขึ้นมาแทนที่ จึงทำให้มหาวิทยาลัยนครพนมถูกรุมทึ้งเงินงบประมาณจนเข้าสู่ภาวะคับขัน ขั้นไม่มีเงินเดือนจ่ายบุคลากรวิทยาลัยการบินนานาชาติ ย่างเข้าสู่เดือนที่ 8 ขณะที่โรงสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยนครพนม พนมพิทยพัฒน์ ก็ไม่ได้เงินเดือนเป็นเดือนที่ 4 เช่นเดียวกัน
ด้านผู้บริหารก็เล่นเก้าอี้ดนตรี สลับกันขึ้นสลับกันลง เหมือนเปลี่ยนตัวละครเล่นสลับฉาก การมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนมและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิครั้งนี้ จึงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนของมหาวิทยาลัยนครพนมเป็นอย่างมาก คณาจารย์ บุคลากร ลูกจ้าง ฯลฯ ต่างฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการฯชุดนี้ ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมายาวนานกว่า 10 ปี หมดไปจากสถาบันการศึกษาแห่งนี้ พร้อมดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่มาแสวงผลประโยชน์อย่างโจ๋งครึ่มและไม่เกรงกลัวกฎหมาย จนเป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยนครพนมประสบปัญหา ที่มีผลกระทบทั้งด้านการศึกษา และการบริหารจัดการ และยังมีเรื่องน่าเศร้าอับอายยิ่งนัก เพราะมีลูกหลานเกิดอยู่นครพนม ไม่มีสำนักรักบ้านเกิดของตนเอง ตกเป็นเครื่องมือให้กับคนกลุ่มนี้ ปล่อยให้เข้ามาตักตวงผลประโยชน์ออกจากบ้านเกิดตน เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ไม่อินังขังขอบว่าบ้านเกิดของตนนี้จะเป็นเช่นไร ขอเพียงแค่ให้ตนอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยเท่านั้น