วันอาทิตย์ ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2564, 06.00 น.
“ผักบุ้งทะเล” เป็นพืชที่พบมากตามชายฝั่งทะเลเขตร้อนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยพบเฉพาะตามชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ (อ่าวไทย) ภาคตะวันตกเฉียงใต้ (ทะเลอันดามัน) และภาคใต้โดยมักขึ้นตามชายหาด ที่โล่งแจ้งใกล้ชายฝั่งทะเล
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ ผักบุ้งทะเล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ipomoea pes-caprae (L.) R.Br. ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ได้แก่ ผักบุ้งต้น ผักบุ้งขน (ไทย) ผักบุ้งเล (ภาคใต้) ละบูเลาห์ (มะลายู-นราธิวาส) หม่าอานเถิง (จีนกลาง) เป็นต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุหลายปีมีลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน สามารถเลื้อยไปได้ยาวประมาณ 5-30 เมตร ลักษณะของลำต้นหรือเถากลมเป็นสีเขียวปนแดงหรือเป็นสีแดงอมม่วง ผิวเกลี้ยงลื่น ตามข้อจะมีรากฝอย ภายในกลวง ทั้งต้นและใบมียางสีขาว
ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปกลม รูปไข่รูปไต หรือรูปเกือกม้า ปลายใบเว้าบุ๋มเข้าหากัน โคนใบสอบแคบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-11 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร เส้นใบเป็นแบบขนนก เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบมันเป็นสีเขียว หลังใบและท้องใบเรียบ ก้านใบยาวมีสีแดง
ออกดอกเป็นช่อ แบบซี่ร่มตามง่ามใบ ในช่อดอกจะมีดอกประมาณ 2-6 ดอก และจะทยอยบานทีละดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปปากแตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ส่วนปลายดอกบานเป็นรูปปากแตร มี 5 กลีบลักษณะของกลีบดอกกลมรี แตกออกเป็นแฉก 5 แฉก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน ดอกเป็นสีม่วงอมชมพู สีม่วงอมแดง สีชมพู หรือเป็นสีม่วง ผิวเกลี้ยง ด้านในของดอกส่วนโคนจะมีสีเข้มกว่าด้านนอก ส่วนกลีบดอกเลี้ยงเป็นสีเขียว และดอกจะเหี่ยวง่าย
ลักษณะของผลผักบุ้งทะแล เป็นรูปมนรีหรือรูปไข่มีเหลี่ยมคล้ายแคปซูล ผิวผลเรียบ พอผลแห้งจะแตกออกได้ มีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดลักษณะกลม เป็นสีเหลือง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 มิลลิเมตร มีขนสีน้ำตาลปกคลุม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและตัดลำต้นปักชำ เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี มักขึ้นตามหาดทรายหรือริมทะเล
ภูมิปัญญาท้องถิ่นใช้ผักบุ้งทะเลเป็นสมุนไพรรักษาพิษบาดแผลที่เกิดจากแมงกะพรุน ช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยใช้น้ำที่คั้นจากใบพอกลงบนบาดแผลที่ถูกแมงกะพรุน นอกจากนี้ ยังใช้ถอนพิษลมเพลมพัด และน้ำต้มจากใบยังใช้อาบแก้คันได้ด้วย
สรรพคุณตามตำรายาไทย คือ ทั้งต้นมีรสเผ็ด ขม เค็ม เป็นยาเย็นเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อม้ามและตับ ใช้เป็นยาขับลม ใช้ถอนพิษลมเพลมพัด (อาการบวมเปลี่ยนที่ เป็นตามอวัยวะทั่วไป) ทำเป็นยาต้มอาบแก้คันตามผิวหนังแก้หวัดเย็น แก้อาการปวดฟัน แก้อาการจุกเสียดเมล็ดมีรสขื่น ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง ใบมีรสขื่นเย็นใช้ภายนอกเป็นยาทาแก้โรคไขข้ออักเสบ แก้ปวดไขข้ออักเสบมีหนอง ส่วนตำรายาท้องถิ่นหรือตำรายาพื้นบ้านระบุถึงส่วนต่างๆ ของผักบุ้งทะเลมีสรรพคุณดังนี้
“ใบสด” เป็นยาพอก ต้มอาบรักษาโรคผิวหนัง แก้ปวดไขข้อบวมอักเสบมีหนอง แก้แผลเรื้อรัง น้ำคั้นจากใบช่วยแก้พิษแมงกะพรุน “รากสด” ขับปัสสาวะในโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แก้โรคเท้าช้าง ปวดฟัน ผดผื่นคันมีน้ำเหลือง แก้พิษแมงกะพรุน “ทั้งต้น” แก้อาการอักเสบจากพิษแมงกะพรุนไฟถอนพิษลมเพลมพัด ต้มอาบแก้โรคคันตามผิวหนัง ช่วยเจริญอาหาร, แก้เหน็บชา ปวดเมื่อยตามข้อ และ “เมล็ด” ป้องกันโรคตะคริว ใช้เป็นยาถ่ายยาระบาย แก้ปวดท้อง และอาการเป็นตะคริว
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง ผักบุ้งทะเลแม้จะอยู่ในวงศ์เดียวกันและมีลักษณะคล้ายกับผักบุ้งที่เรารับประทาน แต่เป็นพืชคนละชนิดกัน ซึ่งยางจากต้นและใบของผักบุ้งทะเลมีพิษทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ หากได้รับพิษเข้าไปมากอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้น ห้ามรับประทาน ในการใช้ใบผักบุ้งทะเลแก้พิษแมงกะพรุน ควรใช้ทรายขัดบริเวณที่โดนพิษแมงกะพรุน เพื่อเอาเมือกของแมงกะพรุนออกไปก่อน แล้วใช้ใบขยี้ทาลดการอักเสบจากพิษแมงกะพรุน การนำผักบุ้งทะเลมาใช้ให้ถูกวิธีนั้น ควรจะไม่มีสิ่งปนเปื้อนและต้องล้างให้สะอาด และการใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณแผล จากแมงกะพรุนยังเป็นสิ่งสำคัญมากและควรจะรีบทำก่อนใช้ผักบุ้งทะเล
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ศึกษาการปลูกผักบุ้งทะเลในขั้นกึ่งอุตสาหกรรม เพื่อศึกษาคุณภาพของวัตถุดิบ และประเมินความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาน้ำมันหอมระเหยขึ้นสู่ขั้นอุตสาหกรรมพบว่า ผักบุ้งทะเลที่ปลูกในพื้นที่ทะเล จะมีความเข้มข้นของสารสกัดมากกว่าการปลูกในพื้นที่ที่ห่างจากทะเล
ปัจจุบันมีการนำสารสกัดจากผักบุ้งทะเลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบครีม เพื่อความสะดวกในการใช้และสอดคล้องกับการดำเนินชีวิต จะเห็นได้ว่าสมุนไพรพื้นบ้านที่บรรพบุรุษของเราได้สั่งสมภูมิปัญญามาต่อเนื่องยาวนานนั้น มีคุณค่าเพิ่มพูนไปกับกาลเวลา การร่วมดูแลรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่จะทำให้สมุนไพรเหล่านั้นยังคงอยู่และเป็นจุดเด่นในความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยที่มีคุณอนันต์ พร้อมนำไปต่อยอดการใช้ประโยชน์ให้หลากหลายต่อไป
เรียบเรียงข้อมูลจาก
https:www.tistr.or.th
https:www.medthai.com
https://www.disthai.com
กองประชาสัมพันธ์
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)