นายจ้าง ลูกจ้างมาตรา 33 ใน 9 กิจการ 13 จังหวัด ที่ไม่ได้รับสิทธิเยียวยา สามารถยื่นเรื่องทบทวนสิทธิ ขอจดทะเบียนเพิ่มสาขา หรือเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงประเภทกิจการ ได้ภายใน 1 ตุลาคมนี้
วันที่ 8 สิงหาคม 2564 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้แจงกรณีนายจ้างและผู้ประกันตนที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 13 จังหวัด ได้แก่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา เพิ่มเติม 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา เข้าไปตรวจสอบสิทธิรับเงินเยียวยาตามมาตรา 33 ในเว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th/eform_news ปรากกฎว่าไม่มีสิทธิ
ทั้ง ๆ ที่นายจ้างประกอบกิจการใน 9 ประเภท คือ 1.ก่อสร้าง 2.ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3.ศิลปะความบันเทิงและนันทนาการ 4.กิจกรรม บริการด้านอื่น ๆ 5.การขายส่ง ปลีก ซ่อมยานยนต์ 6.การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7.กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 8.กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ 9.ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
สำนักงานประกันสังคมแนะนำให้นายจ้างหรือผู้ประกันตน “ยื่นร้องทุกข์ขอทบทวนสิทธิ เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิ” ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ให้ประกันสังคมดำเนินการตรวจสอบนิติสัมพันธ์ จากนั้นสำนักงานประกันสังคมที่รับผิดชอบจะดำเนินการบันทึกข้อมูลนายจ้างเข้าระบบภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2564
กรณีมีนายจ้างมีสำนักงานใหญ่อยู่นอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด แต่มีสาขาตั้งอยู่ในจังหวัดเหล่านั้นที่มีสิทธิ์ได้รับการเยียวยา ให้นายจ้างรีบดำเนินการติดต่อสำนักงานประกันสังคมที่รับผิดชอบ “ขอจดทะเบียนเพิ่มสาขา” หรือขอ “เปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงประเภทกิจการ” ภายใน 1 ตุลาคมนี้
โดยสามารถติดต่อสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ ที่รับผิดชอบสถานประกอบการ เพื่อยื่นทบทวนสิทธิได้ทันที หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเช็ค e-service www.sso.go.th/eservices
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีสัญชาติไทย จะได้รับเงินเยียวยาคนละ 2,500 บาท จ่ายผ่านบัญชีพร้อมเพย์ผูกกับเลขบัตรประชาชนเท่านั้น
รมว.เฮ้ง กระตุ้นนายจ้างยื่นรับ 6 แสนบาท
ล่าสุด นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กระตุ้นเตือนนายจ้างรีบยื่นขอรับเงินเยียวยาผ่าน e-service (www.sso.go.th/eservices) ของเว็บไซต์ประกันสังคม เพื่อรับเงินเยียวยากลุ่มนายจ้างตามมาตรา 33 ที่ได้รับจำนวน 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน แต่ไม่เกิน 200 คน
โดยนายจ้างขึ้นทะเบียนผ่าน e-service ระบุให้ชัดเจนว่าลูกจ้างมีกี่คน และหยุดงานตั้งแต่วันที่อะไรถึงวันที่อะไร แล้วให้ลูกจ้างกรอกแบบ สปส.2-01/7 และแนบสมุดปัญชีออมทรัพย์ ส่งให้นายจ้างรวบรวมเพื่อนำส่ง สำนักงานประกันสังคมทางไปรษณีย์ ภายใน 3 วันหลังจากลงทะเบียน e-service และจะทยอยจากเงินให้ ถ้าเป็นนายจ้างที่เป็นนิติบุคคลต้องแนบเลขบัญชีธนาคารกลับมาด้วย แต่ถ้าเป็นนายจ้างบุคคลธรรมดาให้นายจ้างผูกพร้อมเพย์กับบัตรประชาชนเพื่อประกันสังคมจะได้โอนเงินให้โดยเร็ว
นายสุชาติ กล่าวด้วยว่า รัฐบาล กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นความสำคัญของนายจ้าง ลูกจ้าง/ผู้ประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทุกจังหวัด และเข้าใจดีว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ทำให้ทุกคน ทุกกลุ่ม และหลายกิจการได้รับความเดือดร้อนตาม ๆ กัน
“จึงอยากให้นายจ้างได้รีบยื่นขอรับเงินเยียวยา อย่างน้อยจะช่วยบรรเทาเพื่อลดผลกระทบในเบื้องต้น และช่วยประคองให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ตามเจตนารมย์ของรัฐบาลที่จะฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจให้เดินได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ด้านนางสาวลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เผยข้อมูลจำนวนผู้รับสิทธิมาตรา 33 (ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2564) ว่า การเยียวยากลุ่ม “ผู้ประกอบการนายจ้าง” ในระบบประกันสังคม ที่คิดคำนวณจากจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ได้หัวละ 3,000 บาท
จำนวนเงินสูงสุดที่นายจ้างได้รับจะอยู่ที่ 600,000 บาทนั้น มีนายจ้างทยอยมายื่นขอรับเงินเยียวยาในระบบ e-service ขณะนี้ประมาณ 200,000 ราย สำนักงานประกันสังคมพร้อมเริ่มโอนเงินงวดแรกในวันที่ 10 สิงหาคม 2564
ขณะที่ ผู้ประกันตนหรือลูกจ้างมาตรา 33 ที่มีสัญชาติไทย ได้รับเงินเยียวยาคนละ 2,500 บาท ได้เริ่มโอนเงินรอบแรกจผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชนไปเมื่อ 4-6 สิงหาคม 2564 มีผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับสิทธิไปแล้ว 2,227,900 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,569,750,000 บาท
- สปส. โอนเยียวยา 2,500 บาท แล้ว 2.2 ล้านคน เปิดเว็บให้ผู้ตกหล่นเช็คสาเหตุ