ศบค. เผยเจอคลัสเตอร์ใหม่ 9 แห่ง 2 แห่งในกทม. ในเขตคลองเตยและหนองแขม พบผู้ติดเชื้อรวม 113 ราย ส่วนต่างจังหวัดเจออีก 7 แห่งใน 5 จังหวัด ทั้งตลาด โรงงานลูกชิ้น ศูนย์พัฒนาเด็ก ผช.โฆษก ศบค.เผย “ประยุทธ์” สั่ง กทม. ตั้งศูนย์กักกันคนติดโควิดในชุมชน แก้ปัญหาเตียงในกทม.วิกฤต ผู้ว่าฯกทม.นัดถกกรมการแพทย์ด่วนวันนี้
วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยประจำวันว่า วันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 6,087 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 242,058 ราย หายป่วยแล้ว 186,914 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 61 คน เสียชีวิตสะสม 2,047 ราย
ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 270,921 ราย หายป่วยแล้ว 214,340 ราย และเสียชีวิตสะสม 2,141 ราย
ส่วนผู้รับวัคซีน ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 1 กรกฎาคม 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 10,227,183 โดส ทั้งนี้ยังไม่รวมกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม จึงต้องขอความร่วมมือศูนย์ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ให้ลงข้อมูลใน MOPH IC เพื่อรวมในยอดรวมประเทศ
แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดที่ได้รับวัคซีนจำนวนมากอย่างเห็นได้ชัด คือ ภูเก็ต ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 384,674 ราย คิดเป็น 70.25% และได้รับครบ 2 เข็มแล้ว 307,163 ราย คิดเป็น 56.09% รองลงมาคือ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ฉีดไปแล้ว 125,229 ราย คิดเป็น 59.32% แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 74,285 โดส และครบ 2 เข็มแล้ว 52,789 โดส
“ตัวเลขของเกาะสมุยขยับขึ้นเร็ว เพื่อรองรับนโยบายสมุยโมเดล ที่เตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว
ส่วนจำนวนผู้ได้รับวัคซีนในประเทศไทย ในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน1,400,416 ราย คิดเป็น 11.2% ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง 7144,236 ราย คิดเป็น 13.4% ซึ่งเราจะเน้นย้ำใน 2 กลุ่มนี้ ให้ได้รับวัคซีนภายในเดือนก.ค. จึงขอให้ทุกจุดบริการฉีดวัคซีนระดมการฉีดมากขึ้น
“ภาพรวมทั้งประเทศจะเห็นว่า จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อมีจำนวนลดลง เหลือแค่ 3 จังหวัดเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่รายงานระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน มีการเดินทางข้ามพื้นที่จากกลุ่มสีแดงเข้ม คือจากกทม.และปริมณฑลไปจังหวัดอื่น รวม 34 จังหวัดแล้วในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว
10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด กทม.ยอดพุ่ง 2,267 ราย
แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวว่า 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด กทม. ยังอันดับหนึ่ง จำนวน 2,267 ราย จากการเดินทางมารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลและการตรวจคัดกรองเชิงรุก รองลงมาเป็น ได้แก่
- สมุทรปราการ 522 ราย
- นนทบุรี 327 ราย
- สมุทรสาคร 289 ราย
- ปทุมธานี 284 ราย
- ชลบุรี 222 ราย
- ยะลา 201 ราย
- ปัตตานี 169 ราย
- สงขลา 167 ราย
- นราธิวาส 124 ราย
ส่วนผู้เสียชีวิตในวันนี้อยู่ในกทม. 28 ราย นนทบุรี 9 ราย สมุทรปราการ 8 ราย ปัตตานี 5 ราย ปทุมธานี นราธิวาส จังหวัด 3 ราย และเชียงราย สงขลา นครปฐม นครนายก พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย ค่ากลางของอายุอยู่ที่ 67 ปี โดยผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนสูงถึง 70%
และปัจจัยเสี่ยงยังมาจากโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต หัวใจ โรคอ้วน ส่วนปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อส่วนใหญ่ยังมาจากคนในครอบครัว
กทม. เฝ้าระวัง 113 คลัสเตอร์ เจอคลัสเตอร์ใหม่อีก 2 แห่ง
แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวต่อว่า ในส่วนของ “คลัสเตอร์ใหม่” วันนี้พบที่เขตคลองเตย เป็นแคมป์ก่อสร้าง ซอยสุขุมวิท 50 พบผู้ติดเชื้อ 43 ราย และที่เขตหนองแขมเป็นโรงงานผลิตกระสอบพลาสติกพบผู้ติดเชื้อแล้ว 70 ราย จากการตรวจคัดกรองพนักงานจำนวน 1,300 คน หรือคิดเป็น 5.38 %
“ตรงนี้สะท้อนให้เห็นภาพว่า นอกจากการบริหารจัดการเตียง กทม.ยังคงเน้นย้ำในเรื่องของการค้นหาเชื้อ คัดกรองเชิงรุกในชุมชนอย่าต่อเนื่องด้วย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และว่า
จากตัวเลขของกทม.ที่วันนี้มีการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อจำนวน 2,267 คน ในที่ประชุมของศบค.ชุดเล็ก รวมทั้ง EOC ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีผู้เชี่ยชาญ อาจารย์แพทย์ หลายๆสาขามีความเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อมีเป็นจำนวนมาก เทียบกับผู้ป่วยกลับบ้าน คือเตียงที่ได้คืนมาจากคนกลับบ้านนั้น มีสัดส่วนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
ผอ.ศบค.สั่งกทม. ตั้งศูนย์กักกันคนติดเชื้อในชุมชน
โดย ผอ.ศบค. คือท่านนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงกรณีที่ผู้ป่วยต้องรอเตียงที่บ้าน และอาจทำให้เกิดภาวะที่รุนแรงและทรุดลง จึงได้มีการสั่งการให้ทุกพื้นที่ ในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้มีการหารือเรื่องการจัดการผู้ป่วยเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดการเตียง ที่มีจำกัดในทุกเขตของกรุงเทพมหานคร
และในสัปดาห์นี้จะมี 2 มาตรการสำคัญ ซึ่งที่ประชุมพูดถึง คือการแยกกักกันในชุมชน หรือ community isolation คือจะมีการเตรียมสถานที่แยกกักตัวในชุมชน ระหว่างที่ทราบผลว่าเป็นผู้ติดเชื้อแลัว และอยู่ระหว่างรอการจัดสรรเตียง โดยกทม.จะเร่งรัดจัดการให้เร็วที่สุด ให้มี community isolation
ซึ่งในช่วงบ่ายวันนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.จะมีการประชุมหารือ โดยกรมการแพทย์จะมีการนำเสนอแนวทางการปฏิบัติ และมาตรการในการดูแลผู้ป่วย มาตรการดูแลตนเองในชุมชนอย่างไรให้ปลอดภัย ไม่ให้มีการแพร่ระบาดไปสู่คนอื่นหรือคนใกล้ชิด
ทั้งนี้ที่ประชุม EOC ของกระทรวงสาธารณสุข โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้พูดถึงศักยภาพในการเพิ่มเตียง โดยจะมีการเพิ่มทั้งสีเขียว เหลือง แดง ซึ่งในส่วนของรพ.บุษราคัมก็จะสามารถเปิดดำเนินการได้ทันที ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ปฐมนิเทศน์แพทย์จบใหม่สาขาต่างๆ 144 คน ซึ่งจะเข้ามาช่วยเสริมกำลังดูแลสถานการณ์ในกทม.
ตจว.เจออีก 7 คลัสเตอร์ใหม่ 5 จังหวัด
ศบค.รายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ “คลัสเตอร์ใหม่ในต่างจังหวัด” ที่พบเพิ่มขึ้นมีทั้งหมด 7 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่
- สมุทรปราการ เป็นโรงงานเฟอร์นิเจอร์ พบเมื่อ 1 ก.ค. มีผู้ติดเชื้อ 22 ราย
- นนทบุรี ตลาดเทศบาล พบเมื่อ 1 ก.ค. พบผู้ติดเชื้อ 43 ราย และอ.ปากเกร็ด ตลาดพิชัย พบเมื่อ 1 ก.ค. มีผู้ติดเชื้อ 75 ราย
- สมุทรสาคร อ.เมืองสมุทรสาคร 1.บริษัทผลิตภัณฑ์พลาสติก มีผู้ติดเชื้อ 12 ราย อ.กระทุ่มแบน โรงงานลูกชิ้น พบเมื่อ 1 ก.ค. มีผู้ติดเชื้อ 11 ราย
- สุราษฎร์ธานี อ.พุนพิน แคมป์ก่อสร้าง พบเมื่อ 1 ก.ค. มีผู้ติดเชื้อ 11 ราย
- ขอนแก่น อ.สีชมพู ศูนย์พัฒนาเด็ก พบเมื่อ 1 ก.ค. มีผู้ติดเชื้อ 45 ราย
“ขอเน้นย้ำในต่างจังหวัด ยังต้องเฝ้าระวังผู้เดินทางข้ามพื้นที่ตามแนวชายแดนอย่างผิดกฎหมาย และยังต้องดูแลคลัสเตอร์ใหญ่ๆ เช่น โรงงาน แคมป์คนงาน ตลาด ชุมชน ขอให้มีมาตรการเข้มงวดในช่วง 15 วันต่อจากนี้ที่เราคาดหวังว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง เพื่อให้ระบบสาธารณสุขของประเทศ รองรับผู้ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว
- ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดวันนี้ (2 ก.ค.) พุ่งกระฉูด 6,087 ราย ตายเพิ่ม 61 คน
- “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา” ช้า รัฐบาลไม่เซ็นสัญญา หมอบุญแฉ