- หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ในวันที่ 2 ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท ในวาระ 1 ขั้นรับหลักการ ส.ส. ฝ่ายค้านยังเดินหน้าวิจารณ์การตั้งงบด้านความมั่นคงของรัฐบาล พร้อมเปิดเผยว่า กอ.รมน. เตรียมทุ่มงบ 600 ล้านบาท สร้างกำแพงกั้นชายแดนไทย-มาเลเซีย
นายกมลศักดิ์ ลีมาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ อภิปรายตอนหนึ่งว่า รัฐบาลมีแผนสร้างกำแพงบริเวณลุ่มน้ำโก-ลก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อ “ปิดกั้นพี่น้องชาติพันธุ์มลายู” ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับมาเลเซีย ซึ่งปรากฏในคำขอตั้งงบผูกพัน 3 ปีของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) วงเงิน 640 ล้านบาท
ในปี 2565 กอ.รมน. ตั้งงบในโครงการนี้ 128 ล้านบาท จากนั้นในปี 2566 และ 2567 ขอตั้งงบอีกปีละ 256 ล้านบาท ซึ่งนายกมลศักดิ์วิจารณ์ว่าสะท้อนความไม่เข้าใจต่อวิถีชีวิตและสังคมประเพณีของพี่น้องชนชาติมลายู เนื่องจากคนตากใบมีเครือญาติอยู่ฝั่งมาเลเซีย และมีการค้าขายระหว่างกันหลายสิบปี พร้อมอ้างข้อมูลว่าในแต่ละปีมีรายได้การค้าขายรายย่อยของประชาชนในชายชายแดนกว่า 3,000 ล้านบาท
“ท่านนายกฯ กำลังขังวิถีชีวิตของพี่น้องมลายู ท่านกำลังทำคล้าย ๆ กับอิสราเอลสร้างกำแพงกั้นปาเลสไตน์ ท่านไม่รู้หรือว่ากำแพงเบอร์ลินที่สร้างมานานในเยอรมนี เขายังทุบทำลายเพื่อความเป็นหนึ่งเดียว การแก้ปัญหาความมั่นคงด้วยวิธีเหล่านี้ไม้ได้ตอบโจทยที่แท้จริง ท่านนายกฯ กำลังสร้างกำแพงหัวใจของพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านกำลังจัดสรรงบโดยไม่เข้าใจความรู้สึกจริง ๆ ของพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านนายกฯ กำลังมีอคติอย่างร้ายแรงกับพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมหวังว่าจะมีการปรับเปลี่ยนงบในวาระที่ 2-3” นายกมลศักดิ์กล่าว
จนถึงเวลา 19.00 น. ของวันนี้ (1 พ.ค.) ยังไม่มีตัวแทนของรัฐบาลชี้แจงแผนสร้างสะพานชายแดนไทย-มาเลเซีย แต่อย่างใด
อัดรัฐมองคน 3 จ. เป็น “ภัยมั่นคง” จัดงบซื้ออาวุธชายแดนใต้ 1.2 พันล้าน
ในปี 2565 รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นวงเงินรวม 31,444.3 ล้านบาท โดยอยู่ในแผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 7,144.3 ล้านบาท และงบของกระทรวงและกรมอื่น ๆ อีกราว 24,300 ล้านบาท
ภายใต้ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ในประเด็นความมั่นคง กำหนดตัวชี้วัดไว้ว่าต้องปรับลดงบด้านความมั่นคงปีละ 10 % และลดจำนวนเหตุรุนแรงปีละ 20% นั่นทำให้ “งบดับไฟใต้” ตามแผนบูรณาการในปี 2565 ลดลงจากปีที่ก่อน 1,145 ล้านบาท หรือคิดเป็น -13.8%
อย่างไรก็ตาม ส.ส. จังหวัดชายแดนภาคใต้รายเดิมตรวจสอบพบว่า รัฐบาลได้การงบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้ 3 องค์กรที่ใช้อำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 คือ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองเป็นวงเงินรวมกัน 1,266 ล้านบาท ทำให้เขารู้สึก “เศร้าใจ” และเห็นว่า “เป็นการจัดงบแบบมองคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น ‘ภัยต่อความมั่นคง’ มาโดยตลอด”
สำหรับงบจัดซื้ออาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่นายกมลศักดิ์ ซึ่งเป็นนักการเมืองเชื้อสายมุสลิม พูดถึง มีดังนี้
- กอ.รมน. 339 ล้านบาท
- กองทัพบก 362 ล้านบาท
- กองทัพเรือ 134 ล้านบาท
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 118 ล้านบาท
- กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย 275 ล้านบาท (ซื้อรถหุ้มเกราะ และครุภัณฑ์อาวุธ)
“ไหนบอกว่าสถานการณ์ดีขึ้น ไหนบอกว่าการก่อเหตุรุนแรงลดลง แต่การจัดสรรงบท่านกลับไปเน้นที่การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เสียดาย น่าจะเอาเงินเหล่านี้มาตอบสนองการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยากจนที่สุดในประเทศ และการศึกษาก็ติดอันดับท้าย ๆ ของประเทศ” นายกมลศักดิ์กล่าว
ก้าวไกลเกาะติดงบการข่าว พบพูโลนียังเคลื่อนไหว
ขณะที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล ยังเกาะติดการตั้ง “งบข่าวกรอง/งบไอโอ (หน่วยปฏิบัติการจิตวิทยา) อย่างเช่นปีก่อน ๆ โดยนายณัฐวุฒิ บัวปทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เมื่อดูสัดส่วนของงบประมาณแล้วพบว่างบโฆษณาชวนเชื่อ ยังคงมีสัดส่วนสูงสุดเกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมด ตามด้วยงบความมั่นคง 35% ขณะที่งบกระบวนการสันติภาพที่ควรได้รับความสำคัญเป็นอย่างสูงกลับมีสัดส่วนเพียง 8% เท่านั้น
โครงการ “ส่งเสริมและเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้อง” ที่เคยปรากฏในปีงบประมาณ 2563 และถูกเพื่อนร่วมพรรคของเขาตั้งฉายาว่าเป็น “งบล้างสมอง” ด้วยการส่งทหารเข้าโรงเรียนไปปลูกฝังค่านิยมแบบทหารให้เด็กนักเรียน พยายามครอบงำประชาชนให้คิดในแบบที่กองทัพต้องการ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโครงการ “เสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้” ตั้งแต่ปี 2564 และยังมีการตั้งงบโครงการเดียวกันนี้ในปี 2565 แต่ปรับลดลง 103 ล้านบาท ซึ่งนายณัฐวุฒิพบว่า “รายละเอียดแทบจะถอดแบบกันมา”
นายณัฐพลกล่าวต่อไปว่า กอ.รมน. ได้ตั้ง “งบสายข่าวชายแดนใต้” ไว้ถึง 850 ล้านบาท แบ่งเป็น งบข่าวกรองเชิงรุก 310 ล้านบาท และยังมีงบนอกแผนบูรณาการอีก 540 ล้านบาท
ส.ส. ก้าวไกลระบุด้วยว่า ลองเปิดเว็บไซต์พูโลนี (Pulony) สามารถเข้าถึงได้ตามปกติ และยังคงผลิตบทความสร้างความแตกแยก โจมตีองค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล จึงตั้งคำถามว่าเว็บแบบนี้เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสันติภาพอย่างไร และเห็นว่า “หากสภาจะยังสนับสนุนงบประมาณแบบที่เป็นอยู่นี้ ก็ไม่ต่างกับการราดน้ำมันเข้าไปในกองไฟ”
เขายังเรียกร้องให้รัฐบาลล้มเลิกโครกงารโฆษณาชวนเชื่อ “หยุดงานข่าวกรองที่รุกล้ำข้อมูลส่วนบุคคลแบบล้นเกิน หยุดสร้างสายข่าวทูตแห่งความแตกแยก แล้วเอางบเหล่านั้นมาเพิ่มพูนให้กับกระบวนการสันติภาพ”