โดย..ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล
ภาพเจ้าหน้าที่ทหาร ตชด.และฝ่ายปกครอง กำลังอาสาสมัคร ที่ถูกส่งเข้าปฏิบัติการแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ทั้งด้าน จ.นราธิวาสและแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย จ.สงขลา ไม่ต้องมีคำอธิบาย ก็รู้ได้ว่า นั่นคือการตรวจเข้มแนวชายแดน เพื่อป้องกันการหลบหนีเข้าเมือง หลังจากที่ประเทศมาเลเซียมีการออกข่าวจากรัฐบาลมาเลเซียว่า ตรวจพบผู้ติดเชื้อ ”โควิด-19” สายพันธุ์อินเดีย ในบางพื้นที่ของมาเลเซียแล้ว
ต้องยอมรับว่า “โควิด-19” ที่มีการระบาดในประเทศมาเลเซียเป็นสายพันธุ์ “แอฟริกา” ที่สร้างปัญหาต่อการป้องกันให้แก่รัฐบาลมาเลเซียเป็นอย่างมาก แม้ว่าวันนี้ มาเลเซียจะระดมฉีดวัคซีนถึง 5 ยี่ห้อให้แก่คนในประเทศไปแล้วถึงร้อยละ 40 ของประชากร แต่การระบาดใหม่ในแต่ละวัน ยังมีผู้ติดเชื้อวันละ 2,000 กว่าคนมาโดยตลอด และหากเกิดติดเชื้อสายพันธุ์อินเดียเข้ามา ความรุนแรงและความน่ากลัวจะขนาดไหน
โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งมีแนวชายแดนที่ติดกับประเทศมาเลเซีย ทั้งด้านของรัฐเปรัค, กลันตัน ใน จ.นราธิวาสและยะลา ด้านรัฐเปอร์ลิสและเคดาห์ ใน จ.สงขลา ถ้าเกิดปล่อยให้มีผู้ติดเชื้อ ทั้งสายพันธุ์แอฟริกาและอินเดีย หลบหนีเข้าเมืองมาแพร่เชื้อในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะส่งผลเสียหายให้แก่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขนาดไหน
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านการพัฒนา ที่รับผิดชอบจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีหน้าที่ในการ ”บูรณาการ” กับทุกหน่วยงาน เพื่อเยียวยาแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่า ปัญหาที่เกิดจากการระบาดของ ”โควิด-19” ในรอบที่ 3 เป็นเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน ที่ต้องมีการแก้ไข ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ให้ทันท่วงที
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) ได้กล่าวว่า ศอ.บต.ได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนในเรื่องการทำความเข้ากับสถานการณ์ของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ในด้านการช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนเฉพาะหน้าและการช่วยเหลือผู้ที่ตกงานจากการที่มาเลเซียปิดประเทศ ซึ่งเป็นการวางแผนในระยะยาว เพื่อให้คนตกงานกลับไปทำงานในประเทศมาเลเซียอีกครั้ง หลังประเทศผ่านพ้น “วิกฤต” ของ”โควิด-19” ไปแล้ว
เรื่องเฉพาะหน้าที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนคือ การประชาสัมพันธ์ สื่อสาร สร้างการรับรู้ให้แก่คนในพื้นที่ ในเรื่องการระบาดของโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนป้องกันการติดเชื้อ การแพร่เชื้อ โดยให้ปฏิบัติตามกฎกติกา ระเบียบ และคำสั่งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คำสั่งของรัฐบาล, ผู้ว่าราชการจังหวัด,สาธารณสุขจังหวัด และอื่นๆ เช่นในเรื่อง ต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา หากไม่ใส่จะต้องถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย การงดการละหมาดในมัสยิด และห้ามรวมกลุ่มกันในการปฏิบัติศาสนากิจในเดือนรอมฎอน ซึ่งต้องใช้ ”สื่อ” ทั้งภาษาไทยและภาษามาลายูถิ่น เพราะคนในพื้นที่ส่วนหนึ่งยังไม่เข้าใจภาษาไทยอย่างถ่องแท้
รวมทั้ง การเร่งประชาสัมพันธ์ สื่อสาร ให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิของการได้รับการฉีด ”วัคซีน” ในกลุ่มของผู้มีโรคประจำตัวร้ายแรง 7 โรค และผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ให้ติดต่อรับการฉีดวัคซีนในช่องทางของ ”หมอพร้อม” และช่องทางอื่นๆ ที่มีการกำหนดให้ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งบัณฑิตอาสา อสม. และบุคลากรของ ศอ.บต. ทำการสื่อสารให้ครอบคลุมมากที่สุด และรวดเร็วที่สุด เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างครบถ้วน
เนื่องจากในเดือนนี้เป็นห้วงเวลาของเดือนถือศีลอดหรือเดือน ”รอมฎอน” ที่เป็นเดือนอันประเสริฐของผู้นับถือศาสนาอิสลาม และอาจจะมีการ ”ออกบวช” ภายในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ดังนั้นในห้วงเวลาดังกล่าวอาจจะสร้างความอึดอัด ให้เกิดขึ้นแก่พี่น้องที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่ต้องทำตามกฎระเบียบและคำสั่งของ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจ ที่ทำไม่ได้เหมือนในยามที่บ้านเมืองเป็นปกติ ก็ขอให้พี่น้องใช้ความอดทน เพื่อที่จะได้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
อีกเรื่องหนึ่งที่ ศอ.บต.ได้ดำเนินการคือการช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนเฉพาะหน้าจากการ “ตกงาน” เพราะประเทศมาเลเซียปิดประเทศและผลักดันให้แรงงาน รวมทั้ง การทำมาค้าขายทุกประเภทในมาเลเซีย ต้องเดินทางกลับประเทศ ทำให้มีผู้ “ตกงาน” ไม่ต่ำกว่า 30,000 คนด้วยกัน
ในประเด็นนี้ ศอ.บต.ได้สำรวจหาข้อมูลของผู้ตกงาน และผู้ที่ประสงค์จะกลับไปทำงานในประเทศมาเลเซีย หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยมีการประชุมร่วมกับนายชัยณรงค์ กีรติยุตวงศ์ เอกอัครราชทูตประจำประเทศมาเลเซีย และนายมงคล สินสมบูรณ์
กงสุลใหญ่เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย และได้ข้อมูลว่า ประเทศมาเลเซียขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะสวนปาล์มน้ำมันจำนวนหลายหมื่นคน เพราะแรงงานต่างชาติ ทั้งอินโดนีเซีย, กำพูชา, เนปาล และบังคลาเทศ ถูกให้ออกจากประเทศไปก่อนหน้านี้แล้ว
ศอ.บต.ได้เตรียมการในการให้แรงงานไทย 10,000 -12,000 คน ได้มีโอกาสกลับไปขายแรงงานในประเทศมาเลเซียอีกครั้ง หลังมีการเปิดประเทศ โดยให้มีการประสานงานระหว่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีค่าตอบแทนที่เป็นธรรม มีสวัสดิการ สำหรับแรงงาน ที่ไปทำงาน ทั้งด้านของความปลอดภัย การพยาบาล และอื่นๆ ไม่ใช่อยู่อย่างผิดกฎหมาย ถูกนายหน้าเรียกค่า ”หัวคิว” ถูกนายทุนเอาเปรียบด้วยการกดค่าแรง การไปทำงานในครั้งหน้าเป็นการทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีหน่วยงานของรัฐเข้าไปดูแลรับผิดชอบ
ศอ.บต.เห็นความจำเป็นในการช่วยเหลือผู้ที่ทำงานในประเทศมาเลเซียและต้องเดินทางกลับประเทศเพราะการระบาดของโควิด-19 จนมาเลเซียต้องปิดประเทศ ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งในการระบาดของโควิด-19 รอบแรกนั้น ศอ.บต.ได้นำผู้ที่ “ตกงาน” กลุ่มแรกๆ ไปทำงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ จ.เพชรบุรีจำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังมีคนว่างงาน ที่เดินทางกลับจากมาเลเซียและยังไม่มีงานทำอีกจำนวนหนึ่ง ที่ ศอ.บต.และหน่วยงานอื่นๆ อยู่ระหว่างการช่วยเหลือ
นอกจากนั้น แรงงานบางส่วนที่เดินทางกลับจากมาเลเซีย ซึ่งว่างงาน ศอ.บต.ก็ได้ส่งเสริมให้หันมาทำการเกษตรในพื้นที่ เช่นการปลูกกล้วยหิน,ปลูกไม้ไผ่ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่ ศอ.บต.ส่งเสริมให้ปลูกเพื่อขายให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวล การส่งเสริมเลี้ยงปูทะเล และอื่นๆ การเพิ่มความรู้ในการทำการค้าขายทางออนไลน์ และการฝึกทักษะอาชีพเพิ่มเติม เพื่อเป็นอาชีพใหม่หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
จะเห็นว่า ใน ”วิกฤต” ของประเทศ ที่เกิดจากการระบาดของ “โควิด-19” ตั้งแต่รอบแรกจนถึงรอบที่ 3 ศอ.บต.ไม่เคยที่จะหยุดนิ่ง เพื่อรอให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วจึง “ขับเคลื่อน” การพัฒนา เพราะความเดือดร้อนของประชาชน คืองานเร่งด่วน ที่ ศอ.บต.จะต้องเร่งแก้ไขให้ลุล่วง และแม้จะทำอย่างเต็มกำลัง แต่วันนี้ยังมีผู้เดือดร้อน ยังมีผู้ยากไร้ และถึงขั้นไม่มีจะกินยื่นมือมารอความช่วยเหลือจาก ศอ.บต.อีกจำนวนมาก