เผยแพร่:
ปรับปรุง:
ดร.ไกรยศ ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กล่าวถึง ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด -19 ส่งกระทบต่อจำนวน นักเรียนยากจนพิเศษ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของ กสศ. ในปีการศึกษา 2/2563 เพิ่มขึ้นกว่า 18% เมื่อเทียบกับ ปีการศึกษาที่ 1/2563 โดยมีนักเรียนยากจนพิเศษที่คัดกรองใหม่เข้าม จำนวน 195,558 คน
โดยจังหวัดที่พบว่ามีนักเรียนยากจนพิเศษ 10 อัน ดังนี้ จังหวัดอุบลราชธานี 6.0% ศรีสะเกษ 5.3% นราธิวาส 4.5% บุรีรัมย์ 4.2% สกลนคร 4.1% ร้อยเอ็ด 4.0% สุรินทร์ 3.5% กาฬสินธุ์ 3.4% ขอนแก่น 3.3% ปัตตานี 3.2% ซึ่งถ้าพิจารณา เด็กยากจนพิเศษ ในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ เกือบทั้งหมดมาจากแรงงาน ภาคอีสาน เกือบ 80% ที่เหลือ มาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ จากข้อมูล พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของเด็กยากจนพิเศษ ใน ปีการศึกษา 2/2563 อยู่ที่ เดือนละ 1,021 บาท หรือ ประมาณวันละ 34 บาท ลดลงจากปีการศึกษา 1/2563 อยู่ที่ เดือนละ 1,077 บาท แหล่งที่มาของรายได้ มาจากเงินเดือน และค่าจ้าง สวัสดิการจากรัฐ และการเกษตร
นางสาว ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กล่าวว่า จากการสำรวจ ผลกระทบจากโควิด ทำให้มีพ่อแม่ เด็กยากจนพิเศษ รายได้ลดลง 56.7% ถูกเลิกจ้าง 9.8% และพักงานชั่วคราว 7.5% โดยการช่วยเหลือ ของ กสศ. มุ่งเป้าไปที่การช่วยเหลือเด็กอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเข้าไปช่วยเหลือ สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย เพื่อจะได้ไม่ดึงเด็ก ออกนอกระบบการศึกษา เพราะเชื่อมั่นว่า การศึกษาช่วยแก้ปัญหาความยากจน ได้ในอนาคต อีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทย จะก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้
ทั้งนี้ ประเทศไทย มีโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย อยู่หลายโครงการ และ เราก็เข้าไปร่วมกับโครงการเหล่านั้น โดยเรามีฐานข้อมูล จากที่ได้จากการสำรวจเด็กยากจนพิเศษ ในแต่ละปี ที่ผ่านมา กสศ ได้เข้าร่วมโครงการกองทุนพัฒนาอาชีพ และนวัตกรรม ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยมีตัวอย่าง กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่มีกลุ่มผู้ปกครองของนักเรียนที่ได้ทุนเสมอภาค เช่น กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ ต.หนองสนิท จ.สุรินทร์ ที่ทางอบต.ลงไปเก็บข้อมูล ดูต้นทุนในพื้นที่และยกระดับอาชีพ พบว่าการเกษตรที่ใช้สารเคมีเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ชวนเขามาทำเกษตรอินทรีย์ ผ่านไป 6 เดือนเขาสามารถขายในท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต ช่วยเพิ่มรายได้ 5,000 บาทต่อเดือน
ด้าน นางอานันต์ศรี แก้วเลิศตระกูล ผู้รับผิดชอบโครงการวิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อย จ.เชียงใหม่ ระบุว่า ปี 2563 มีกลุ่มเป้าหมาย 150 คน โดยในจำนวนนี้เชื่อมโยงกับกลุ่มนักเรียนทุนเสมอภาค 10 คน ซึ่งปัญหาในพื้นที่ที่ผ่านมาคือพบการฆ่าตัวตายของพ่อบ้านหลายรายต่อเนื่อง ส่งผลให้แม่บ้านกลายเป็นโรคซึมเศร้า ส่วนเด็ก ๆ กลายเป็นเด็กก้าวร้าว เกเร ไม่เรียนหนังสือ ไม่มีความสุขกับการเรียน
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีโครงการนี้เกิดขึ้น แม่บ้านที่เคยเก็บตัวอยู่บ้าน ไม่มีงานไม่มีรายได้ ไม่มีใครพูดคุย ก็ได้เข้ามาฝึกทักษะอาชีพ มีงานรายได้ ที่กลับมาเป็นค่าใช้จ่ายจุนเจือครอบครัว และมีเงินให้ลูกๆ ไปโรงเรียน แต่สิ่งมากกว่ารายได้คือเรื่องของการดึงแม่บ้านให้เข้ามาพบปะพูดคุย ได้ระบายความรู้สึก เกิดการให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ ซึ่งกันและกัน ทำให้ สภาพจิตใจของแม่บ้านดีขึ้น จนจำนวนคนที่มีภาวะซึมเศร้าและลดอัตราการฆ่าตัวตายลดลง สุดท้ายทั้ง “รายได้” และ “สภาพจิตใจ” ที่ดีขึ้น ทำให้เด็ก ๆ ได้กลับมาเรียนสม่ำเสมอ และเรียนอย่างมีความสุข
นางอานันต์ศรี กล่าวว่า โครงการฝึกทักษะอาชีพจะยึดโยงชุมชน ทั้งเรื่องการทอผ้าปกาเกอะญอ ทอผ้ากี่เอวที่สามารถนำงานกลับไปทำที่บ้านได้สำหรับคนที่มีภาระต้องดูแลลูก และผ้าทอกี่ใหญ่ที่ต้องมาฝึกอบรมกันทั้งทฤษฎีและปฏิบัติประมาณ 2 สัปดาห์ และใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะทอได้แต่ละผืน ทั้งหมดเป็นการเชื่อมโยงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ชุมขน จนเกิดเป็นแบรนด์ “เดปอถู่” หรือป่าสายสะดือที่เชื่อมโยงคนในชุมชนเข้าด้วย
ตูแลคอลีเย๊าะ กาแบ วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านราบอ จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ที่ผ่านมา โครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เน้นการดูแลกลุ่มเป้าหมายหลักคือแม่บ้านที่ว่างงานและขาดรายได้ ดังนั้นในช่วงปี 2564 โครงการ ฯ จึงมีการวางแผนดูแลครอบครัวที่มีเด็ก ๆ ในกลุ่มทุนเสมอภาคของ กสศ. ควบคู่ไปด้วย โดยดูแลปัญหาของแต่ละครอบครัวเป็นรายกรณี
สำหรับขั้นตอนการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายของวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านราบอ ที่เชื่อมโยงผลลัพธ์ถึงนักเรียนทุนเสมอภาค จะมีขั้นตอนตั้งแต่ 1.ค้นหากลุ่มเป้าหมายในโครงการที่มีบุตรหลานมีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเนื่องจากปัญหาความยากจน 2.เก็บข้อมูลรายทั้งในรูปแบบครัวเรือน และรายบุคคลแยกปัญหาของผู้ปกครองและเด็กออกจากกัน 3. ให้กลุ่มผู้ปกครองรับการอบรมเพื่อเข้าร่วมโครงการ ฯ โดยเฉพาะการศึกษาความต้องการเครื่องแกงของผู้บริโภคเนื่องจากโครงการ ฯ เน้นผู้บริโภคหลักเป็นคนในชุมชน เรียนรู้สูตรเครื่องแกงในท้องถิ่น ได้ทดลองทำเครื่องแกง ศึกษาช่องทางการตลาด รวมถึงสนับสนุนให้ทุกบ้านปลูกข่า ตะไคร้ เพื่อเป็นต้นทุนในการผลิตเครื่องแกง
และ 4. ทีมวิสาหกิจตั้งตัวแทนเข้ามาเป็นที่ปรึกษาเรื่องการศึกษาของนักเรียนทุนเสมอภาค เน้นย้ำให้ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของการเรียน ทั้งยังทำหน้าที่ประสานระหว่างเด็กกับโรงเรียนแทนผู้ปกครองในกรณีจำเป็น 5.ผลจากการมีอาชีพและรายได้ ไปจนถึงการมีที่ปรึกษาด้านการเรียน ทำให้ผู้ปกครองมีเวลาให้บุตรหลานมากขึ้น เด็ก ๆ มีความพร้อมในการเรียนมากขึ้น ความเสี่ยงจากการหลุดจากระบบการศึกษาจึงลดลง