รมว.แรงงาน เร่งรัดข้อสั่งการรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บูรณาการทำงานร่วมกับ ศอ.บต. และหน่วยเกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือผู้ว่างงานที่เดินทางกลับจากมาเลเซียจากผลกระทบโควิด-19 ให้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ บรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง และสืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงแรงงาน เร่งรัดการดูแลช่วยเหลือและพัฒนาแรงงานไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้โดยเฉพาะกลุ่มที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ในช่วงโควิด-19 โดยให้ ประสานงานกับศอ.บต.ให้ความช่วยเหลือ ด้วยการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน และการจัดหางาน ให้ตามความเหมาะสม เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นการเร่งด่วน ในเรื่องนี้ ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และในพื้นที่อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ของจังหวัดสงขลา บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จัดฝึกอบรมฝีมือแรงงาน และหางาน ผ่านโครงการต่างๆของกระทรวงแรงงาน
สำหรับเบื้องต้น น.ส.พุทธชาติ อินทร์สวา แรงงานจังหวัดยะลา รายงานว่า จากการประสานความร่วมมือไปยัง ศอ.บต.พบว่า มีแรงงานไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซีย จำนวน 11,858 คน เป็นจังหวัดยะลาจำนวน 2,658 คน (ข้อมูล ณ 1 ธ.ค.63) ณ ขณะนี้จังหวัดยะลาจึงได้ร่วมกับหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดยะลา พร้อมเจ้าหน้าที่ข้าราชการ ศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงาน และ ศอ.บต.จัดประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานว่างงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้แก่แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย และต่างจังหวัด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
“ในส่วนของกระทรวงแรงงานมีโครงการที่สามารถรองรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาเหล่านี้ได้ผ่านโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริหารด้านแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีบัณฑิตแรงงาน เป็นผู้ประสานการดำเนินการในกิจกรรมหนึ่งอำเภอ หนึ่งกลุ่มอาชีพ กิจกรรมสำนึกรักบ้านเกิดร่วมใจพัฒนา และกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งและสุขภาวะในการทำงานแก่แรงงานนอกระบบ แรงงานพิการและแรงงานสูงอายุ รวมถึงโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลักสูตรอาชีพเสริม หากมีความต้องการหางานทำสามารถมาแจ้งขึ้นทะเบียนคนหางานได้เช่นกัน สำหรับหลักสูตรที่ประชาชนสนใจได้แก่ การเย็บผ้าคลุมผม ฮียาป. การทำกริช เป็นต้น”
โดยที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ประสาน ศอ.บต. เพื่อนำผู้ว่างงานจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามาทำงานที่บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี จำนวนกว่า 1,000 คน เป็นการสนับสนุนให้คนชายแดนใต้มีงานทำ เป็นการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดของกระทรวงแรงงานจะสามารถช่วยเหลือประชาชนให้มีอาชีพ มีรายได้อีกทั้งยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความมั่นคงชายแดนใต้อีกด้วย