คอลัมน์: จุดคบไฟใต้ / โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
การก่อเหตุของแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนช่วงกลางดึกคืนวันที่
30 ต่อเนื่องถึง31 ม.ค.2564 ที่ จ.นราธิวาส และยังตามด้วยวันที่
1 ก.พ.2564 ในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี รวมถึงใน อ.จะนะ
และ อ.เทพา จ.สงขลา โดยการแขวนป้ายผ้า เผากล้องวงจรปิด ตัดต้นไม้ขวางถนน เผายางรถยนต์
ซุ่มยิงและถึงขั้นลอบวางระเบิดสังหาร ซึ่งตั้งใจจะให้เป็นโศกนาฎกรรมด้วยการคร่าชีวิต
5 ตำรวจ สภ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส แต่โชคยังดีที่แค่ได้รับบาดเจ็บเท่านั้น
ปฏิบัติการของแนวร่วมดังกล่าวถือเป็นการหักล้างคำพูดที่ว่า
“เราเดินมาถูกทางแล้ว” และน่าจะทำให้บรรดาผู้นำหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ “หน้าแตกแบบเย็บไม่ติด”
ไปตามๆ กัน เพราะก่อนหน้าพยายามออกมาเคลมกันตลอดว่า เป็นผลจากการเปิดเกมรุกด้วยยุทธวิธีกดดันของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐทำให้สถานการณ์ไฟใต้มีแนวโน้มดีขึ้นมาต่อเนื่อง
ตราบใดที่ “ศูนย์กลางอำนาจรัฐส่วนกลาง”
ยังไม่ยอมรับว่าการก่อไฟใต้ระลอกใหม่หนนี้เป็นฝีมือของ “บีอาร์เอ็น” โดยเป็นขบวนการที่มีตัวตนและเป็นผู้สั่งการจริง
สถานการณ์ไฟใต้ก็จะน่าเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป เพราะในสงครามถ้าไม่ยอมรับว่ามี “ข้าศึก”
การรบพุ่งก็แพ้ตั้งแต่ยังไม่ทันรบด้วยซ้ำ
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ “คนนอก”
สั่งซ้ายหันขวาหัน “คนใน” พื้นที่ได้ แต่ทั้ง 2 ฝ่ายกับยังเห็นไม่ตรงกัน จึงยังมองไม่เห็นว่าไฟใต้จะสงบลงได้อย่างไร
โดยพาะรัฐบาลยังไม่ยอมรับความจริงว่า เป็นเรื่องของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่กำลังขับเคลื่อนสถานการณ์ให้ไปสู่การตั้งโต๊ะ
“เจรจาสันติภาพ” ในระดับสากลที่มีการดึง “องค์การสหประชาชาติ (UN)” เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมี “เจนีวาคอลล์”และ”
ไอซีอาร์ซี (ICRC)”
ได้เข้ามาทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้ด้วย
เช่นเดียวกับการผลัดดันการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ซึ่งวาดหวังให้เป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของการดับไฟใต้ โดยได้มอบหมายให้ “ศอ.บต.”
เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบ หากฝ่ายความมั่นคงยังไร้เอกภาพเช่นนี้
นั่นก็ถือเป็นเรื่องยากที่จะเดินหน้าโครงการใดๆ ได้สำเร็จ
เวลานี้ “เลขาธิการ
ศอ.บต.” จะพยายามทุ่มเททำหน้าที่บูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อเดินหน้าโครงการการพัฒนาต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ
หรือกระทั่งต้องลงพื้นที่ร่วมแก้ปัญหาโรคเชื้อราที่เกิดกับยางพารา มิพักต้องพูดถึงงานอื่นๆ
อีกมากมายเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในชายแดนใต้
วันนี้การเดินไปข้างหน้าของ
ศอ.บต.เพื่อให้เกิดมิติการพัฒนาถือว่าไม่ง่ายนัก
แม้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบจะลดน้อยถอยลง แต่การเกิดขึ้นของโรคโควิด-19 ระบาดตั้งแต่ต้นปี2653 จนถึงขณะนี้ นั่นได้ทำให้แผนงานด้านการพัฒนาเกิดผลกระทบอย่างมาก
และยังไม่ทราบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคจะเดินไปอย่างไรและยุติได้เมื่อไหร่
ดังนั้นแผนงานที่ทำมาอย่างต่อเนื่องในหลายๆ
เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการดึงกลุ่มทุนต่างประเทศทั้งจากจีนและเกาหนีใต้ให้เข้ามาลงทุนในชายแดนใต้
เวลานี้ถึงจะไม่หยุดชะงัก แต่ก็เหมือนจะสะดุดครั้งใหญ่ เพราะไม่สามารถเดินทางได้
ส่วนแผนการค้าผ่านด่านชายแดนทั้ง9 ด่าน เมื่อที่มาเลเซียยังระบาดหนักและมีแผนปิดประเทศอีกยาว
เการค้าชายแดนก็คงจะคืบหน้าไปได้ไม่มากเช่นกัน
ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องรับสภาพ
เช่นเดียวกับด้านการท่องเที่ยวที่เคยบูมมากในห้วงก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 รอบแรก แต่เมื่อมีการระบาดรอบ2
ที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ย่ำแย่ลงกว่าเดิม
การหวังพึ่งพานักท่องเที่ยวเพื่อให้มีเม็ดเงินเข้ามาสะพัดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ยิ่งถ้าเรื่องของโรคโควิด-19 ยังไม่จบ การหวังจะพึ่งพาการท่องเที่ยวเดินหน้าเพื่อพัฒนาพื้นที่ก็ยังต้องร้องเพลงรอต่อไป
วันนี้แม้แต่เรื่องของพืชผลเกษตรก็ยังไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาความยากจน
หรือการสร้างและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนในชายแดนใต้
เพราะคนทำสวนยางที่ยังอยู่ได้ในขณะนี้เนื่องจากได้รับเงินชดเชย
ซึ่งหากกระทีวงพาณิชย์ยกเลิกการประกันราคาเมื่อไหร่ นั่นย่อมหมายถึงความยากจนกระจายจะเกิดขึ้นแน่นอน
เช่นเดียวกับผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน ลองกอง มังคุด ฯลฯ ที่ต้องอาศัยผู้ซื้อจากต่างประเทศทั้งสิ้น
ตราบใดที่ไม่มีการลงทุนในเรื่องอุตสาหกรรมแปรรูปไม่ว่าจะเป็นยางหรือพืชผลทางเกษตรอื่นๆ
ตราบนั้นการพัฒนาชายแดนใต้ก็ยังไม่นับว่าประสบความสำเร็จ ตราบใดที่ภาคใต้ตอนล่างที่อยู่ติดกับมาเลเซียยังไม่มี
“ท่าเรือน้ำลึก” เพื่อการส่งออก
ตราบนั้นก็ปิดประตูของการส่งเสริมอุตสาหกรรมของภาคใต้ไปด้วย
ยิ่งเมื่อมาเห็นนโยบายของรัฐบาลที่
“ไม่จริงใจ” ในการที่จะแก้ปัญหาในด้านการพัฒนาชายแดนใต้
ยิ่งทำให้มองเห็นชัดว่าต่อให้ ศอ.บต.ทุ่มเทกับการพัฒนาอย่างไม่ต้องหลับต้องนอน สิ่งนี้ก็ยากที่จะพลิกฟื้นพื้นที่ให้กลายเป็นดินแดนแห่ง
“ความมั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อย่างที่ต้องการ
ยกตัวอย่างความโลเลของรัฐบาลต่อปัญหาการพัฒนาเรื่องการส่งเสริม
“เมืองต้นแบบที่4” ใน จ.สงขลา เพื่อเชื่อมต่อกับอีก
3 เมืองต้นแบบใน จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะที่เป็นยังควบหัวหน้า
คสช.อยู่ด้วยได้ลงนามเห็นชอบตามที่ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
(กพต.) นำเสนอพร้อมมอบให้ ศอ.บต. เป็นเจ้าภาพขับเคลื่อน
ที่ผ่านมา ศอ.บต.ได้ทุ่มสุดตัวกว่า
2 ปีผลักดันให้บรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการ
แต่เมื่อมีปัญหาการประท้วงจากกลุ่มผู้เห็นต่าง ปรากฏว่ารัฐบาลกลับสั่งให้ชะลอโครงการทันที
ล่าสุดเมื่อวันที่28 ม.ค.2564 พล.อ.ประยุทธ์ยังมีคำสั่งแต่งตั้ง
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ เป็นประธานคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการเมืองต้นแบบแห่งนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างถูกต้องหรือไม่
ทั้งที่เมื่อวันที่17 พ.ย.2563
พล.อ.ประยุทธ์ก็คือผู้ที่เซ็นคำสั่ง2 ฉบับแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา
2 คณะ โดยฉบับแรกตั้ง “คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อขับเคลื่อนเมืองต้นแบบที่4” แถมให้มี พล.อ.ประยุทธ์เองนั่งเป็นประธาน และคณะที่2 คือ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเมืองต้นแบบที่4” โดยให้ พล.อ.ประวิตรเป็นประธาน
จึงเป็นเรื่องที่ทำให้ทุกฝ่ายงุนงงๆ
ไปกับการบริหารราชการแผนดินไปตามๆ กัน โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาชายแดนใต้ว่า
รัฐบาลจะเอาอย่างไร จริงใจกับการแก้ปัญหาไฟใต้หรือเปล่า พร้อมสู้รบกับบีอาร์เอ็นหรือไม่
และในมิติของการพัฒนาเพื่อสร้างความมั่นคงมั่งคั่งให้เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริงหรือแค่ปาหี่
โดยเฉพาะก่อนการอนุมัติให้มีการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบที่
4 ทำไมไม่มีการศึกษาให้รอบคอบ ในเมื่อรัฐบาลทั้งชุดเก่าและชุดใหม่มากมายไปทั้ง “กูรู”
ด้านกฎหมายและทางเศรษฐกิจ แต่สุดท้ายนโยบายการพัฒนามทำไมจึงเหมือนกับ “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่
พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา” ไปได้
เรื่องของเมืองต้นแบบที่
4
ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้พยายามทำให้สังคมเห็นว่า
ตนเองโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ที่สำคัญ “ไม่ต้องเกรงใจ”
พล.อ.ประวิตรผู้เป็นเจ้าของโครงการที่ชงเรื่องให้ลงนามเห็นชอบ
จึงใช้โอกาสที่มีกลุ่มผู้เห็นต่างลุกขึ้นคัดค้านสั่งชะลอโครงการ แถมให้มีการตรวจสอบด้วย
ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบทั้ง “พี่ใหญ่” และตนเองเพื่อให้เห็นว่าไม่ผิด ไม่มีผลประโยชน์กับโครงการนี้
การใช้
ร.อ.ธรรมนัสจึงอาจจะเป็นได้ทั้งเกม “ปาหี่” ของรัฐบาล เป็นได้ทั้ง “ทางออก” หากมีการเล่น”ละครลิง”
ให้ประชาชนดู และอาจจะเป็นการ “ย้อนเกล็ด” ทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล
โดยใช้โครงการเมืองต้นแบบที่4 เป็นเครื่องมือทางการเมือง
และสุดท้ายอาจจะเปลี่ยน “ผู้เล่น” เพื่อผลประโยชน์โดยมี “เหยื่อ”
ที่เป็นทั้งผู้เห็นต่างและผู้เห็นด้วยกับโครงการนี้
ดังนั้นทั้งผู้เห็นต่างและผู้เห็นด้วยกับโครงการเมืองต้นแบบที่
4
จึงอย่าเพิ่งเชื่อกับสิ่งที่เห็น อย่าเพิ่งดีใจและเสียใจว่าตนเอง
“ชนะ” หรือ “แพ้” เพราะทุกอย่างอาจจะเป็นเพียง “เกมการเมือง”
หลังการเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจน่าจะมีคำตอบที่ชัดเจน
แต่ทั้งหมดทั้งปวงที่
พล.อ.ประยุทธ์ได้สร้างความสับสนและถูกมองว่าไม่มีความจริงใจกับการแก้ปัญหาเรื้องรัง
ทั้งในมิติของความมั่นคงและการพัฒนา ใครได้ใครเสียไม่รู้
แต่ขบวนการบีอาร์เอ็นยิ้มกริ่มกับความสับสนอลหม่านทั้งในเรื่องไฟใต้และการพัฒนาแน่นอน
เพราะสามารถชี้ให้มวลชนได้เห็นว่า7 ปีมาแล้วที่รัฐบาลไม่มีความจริงใจกับปัญหาที่ปลายด้ามขวานนั่นเอง