ภายใต้นโยบายของกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยเรื่องเมืองแห่งการสร้างสรรค์และวัฒนธรรมเพื่อสร้างความสุขให้กับคนกรุงเทพฯ กรุงเทพมหานครจึงได้สนับสนุนการออกมาใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะ เพื่อสร้างการเคลื่อนไหวทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ในทุกมุมเมือง ผ่านการจัด ‘เทศกาลดนตรีในสวน’ ตลอดเดือนมกราคม 66 ซึ่งเป็น 1 ในนโยบาย 216 ข้อ ด้านสร้างสรรค์ดี คือ กรุงเทพฯ พื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง และ เป็น 1 ใน ‘12 เทศกาล 12 เดือน’
ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2565 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนมกราคม 2566 กรุงเทพมหานคร ได้จัดเทศกาลภายใต้แคมเปญ ‘Colorful Bangkok’ โดยมุ่งผลักดันนโยบายหลายข้อ เพื่อสร้างศิลปะ แสงสี และเสียงดนตรีให้เกิดขึ้นทั่วทุกมุมเมือง อันจะนำมาซึ่งการสร้างเมืองที่มีชีวิต และเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เกิดขึ้นรอบตัวกิจกรรม
ทั้งนี้ ได้เปิดตัวโครงการ Bangkok Street Performer เปิดรับศิลปินเปิดหมวกเข้าออดิชั่น เพื่อแสดงในพื้นที่สาธารณะ กทม. ตามจุดที่กำหนด เพื่อส่งเสริมให้พื้นที่สาธารณะกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง (สตรีทโชว์) ซึ่งได้เปิดรับสมัครศิลปินและนักแสดง (ทั้งศิลปินเดี่ยวและกลุ่ม) ประเภทเยาวชน และบุคคลทั่วไป เพื่อเล่นดนตรี และแสดงสตรีทโชว์แบบเปิดหมวกได้ในพื้นที่สาธารณะกรุงเทพมหานคร เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 17 มกราคม 2566 (23.59 น.)
ศิลปินที่สมัครเข้ามา จะถูกพิจารณาผลโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวงการดนตรีและการแสดง ซึ่งจะประกาศผลศิลปินที่ผ่านคัดเลือกในวันที่ 20 มกราคม 2566 ผ่านทาง Facebook Page กรุงเทพมหานคร และทางอีเมลล์ (ส่งอีเมลล์เฉพาะผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเท่านั้น)
สำหรับศิลปินที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็น Bangkok Street Performer จะต้องปฏิบัติตามกติการการเข้าไปใช้งานในพื้นที่ที่ทางกทม. จัดให้ ดังนี้
- ศิลปินผู้ผ่านการคัดเลือก จะได้รับ BKK Street Performer ID ซึ่งถือเป็นการรับรองคุณภาพศิลปิน โดย ID จะมีอายุ 1 ปี (สามารถต่ออายุได้เมื่อครบกำหนด)
- ศิลปินสามารถนำ ID ดังกล่าวมาจองพื้นที่เพื่อทำการแสดงได้ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ และสามารถเลือกวัน เวลา และสถานที่ที่ต้องการได้ โดยทางกรุงเทพมหานครเป็นผู้กำหนดบริเวณทำการแสดงในพื้นที่สาธารณะต่างๆ พร้อม slot เวลาที่อนุญาตให้จองพื้นที่ได้ (ทดลองการจองพื้นที่ และทำการแสดงในเดือนมกราคม 2566 และจะพิจารณาดำเนินการต่อเนื่องหากไม่มีข้อติดขัด)
- ศิลปินสามารถทำการแสดงแบบเปิดหมวก เพื่อหารายได้จากความพึงพอใจของผู้ชมได้ โดยผู้ชมไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้จ่าย และห้ามมีการค้าขายสินค้าอื่นๆ
- ศิลปินอาจได้รับเชิญให้ไปทำการแสดงในกิจกรรมดนตรีในสวน และกิจกรรมอื่นๆ ที่จัดโดยกรุงเทพมหานคร หรือที่กรุงเทพมหานครร่วมเป็นเจ้าภาพ
ศิลปิน Bangkok Street Performer ต้องยอมรับและปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของโครงการอย่างเคร่งครัด
พื้นที่สาธารณะนำร่องสำหรับแสดงเปิดหมวก Bangkok Street Performer ได้แก่
1. MRT สถานีกำแพงเพชร ทางออก 2 (Event Area 3)
2. MRT สถานีจตุจักร บริเวรณ Event In Mall 2
3. MRT สถานีพระราม 9 บริเวณ NE in Metro Mall
4. MRT สถานีสุขุมวิท ทางออกสยามสมาคม
5. BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ บริเวณทางเชื่อมยกระดับ แยกปทุมวัน
6. BTS สถานทีช่องนนทรี บริเวณทางเชื่อมยกระดับ แยกสาทร – นราธิวาส
7. BTS สถานีเจริญนคร บริเวณทางเชื่อมยกระดับ ห้างไอคอนสยาม
กฏระเบียบการแสดงเปิดหมวกในพื้นที่สาธารณะ กรุงเทพมหานคร
ศิลปะการแสดงเปิดหมวก (Busking) เป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งที่ถูกแสดงโดยศิลปินมืออาชีพหรือสมัครเล่น ศิลปินจะใช้ความคิดและความพยายามในการสร้างสรรค์งานแสดงของตัวเอง เพื่อแสดงให้ผู้ชม ให้ความบันเทิงในที่สาธารณะ และหากผู้ชมพึงพอใจ จะมีโอกาสได้รับเงินบริจาคเป็นการตอบแทน
ศิลปะการแสดงเปิดหมวก เป็นไปได้ตั้งแต่การเล่นดนตรี การแสดงละคร การแสดงโชว์ การเต้น มายากล juggling ฯลฯ
กฎระเบียบด้านสถานที่
- ศิลปะการแสดงเปิดหมวก เป็นสิ่งที่ถูกกฏหมาย ‘ภายในพื้นที่ที่กำหนด’ โดยไม่เกินระดับเสียงที่กำหนด
- การแสดงต้องไม่กีดขวางการจราจรในพื้นที่นั้นๆ โดยสมบูรณ์
- นักแสดงต้องเปิดพื้นที่ให้ผู้สัญจรสามารถเดินทางได้สะดวกในช่วงเวลาเร่งด่วน
- นักแสดงควรใช้ระดับเสียงที่ไม่รบกวนกิจกรรมโดยรอบ
กฎระเบียบด้านการแสดง
- การแสดงควรปรับตัวได้ในกรณีที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย นักแสดงควรเตรียมตัวเพื่อปรับการแสดงที่หน้าสถานที่
- การแสดงเปิดหมวก ต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี เสียดสีสังคม การเมือง ศาสนา ลามก อนาจาร และต้องไม่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย
กฎระเบียบด้านการใช้เสียง
- การแสดงเปิดหมวก ต้องอยู่ในระดับเสียงที่เคารพสิทธิของผู้อื่นในละแวกเดียวกัน โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยถาวรในพื้นที่ (โดยทั่วไป เสียงควรจะอยู่ในระดับที่ดังกว่าเสียงรบกวนรอบข้างเพียงเล็กน้อย)
- การแสดงดนตรี ขอแนะนำให้ทำการแสดงที่มีความหลากหลาย การเล่นเพลงเดิมซ้ำๆในสถานที่เดียวกันจะได้รับความนิยมน้อยกว่าการแสดงที่มีความหลากหลาย
กฎระเบียบด้านอุปกรณ์
- อุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงต้องไม่กีดขวางการสัญจร หรือทำให้เกิดการสะดุด อุปกรณ์ที่จะใช้ในการแสดงต้องไม่ทำให้พื้นที่เสียหาย
- จุดการแสดงในทุกพื้นที่ไม่ได้มีจุดเชื่อมต่อไฟฟ้า หากศิลปินต้องการใช้อุปกรณ์ที่ใช้กำลังไฟฟ้า ควรเตรียมอุปกรณ์ชนิดที่ต่อแหล่งกำเนิดไฟฟ้าในตัวได้ เช่น ใส่ถ่าน
- ไม่วางอุปกรณ์ทิ้งไว้โดยไม่มีผู้ดูแล
- อุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงต้องเป็นอุปกรณ์ที่ปลอดภัย ห้ามมิให้มีการใช้เปลวไฟ มีด สายไฟฟ้า หรือวัตถุอื่นใดที่สามารถเป็นอันตรายแก่นักแสดงและผู้ชมได้
- หากการแสดงมีการใช้ฉาก (เช่นเก้าอี้สนาม, โคมไฟ ฯลฯ) ผู้แสดงต้องทำการขออนุญาตก่อนทำการแสดง
- ผู้แสดงต้องเก็บกวาดพื้นที่ให้สะอาดเรียบร้อยหลังทำการแสดงทุกครั้ง
กฎระเบียบการรับบริจาค
– ผู้แสดงสามารถรับเงินบริจาคในพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ให้ได้ แต่ผู้ชมต้องไม่รู้สึกถูกบังคับให้จ่าย
– ผู้แสดงไม่สามารถขายสินค้าในพื้นที่ได้
– การรับเงินบริจาค ต้องรับเงินผ่านการแสกน QR CODE โอนเงินเท่านั้น
การเพิกถอนการแสดง
– หากการแสดง หรือผู้แสดงกระทำการรบกวน ดูหมิ่น หรือทำให้วิถีชีวิตของผู้คนรอบข้างพื้นที่แสดงเกิดปัญหา จะถูกตักเตือนครั้งที่ 1
– หากเกิดการตักเตือนแล้วยังมีพฤติกรรมเดิมจะถูกตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมใบสั่ง
– หากฝ่าฝืนอีกครั้ง จะถูกปรับ และยกเลิกใบอนุญาตศิลปินการแสดงเปิดหมวก
ใครที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดและสมัครได้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/BMA-Music-Application