โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีโอกาสเป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โรคนี้ระบาดได้ทั้งปี หากพบมีอาการไข้สูงลอย คลื่นไส้ หรือเบื่ออาหาร อย่าซื้อยากินเอง ขอแนะนำให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึง สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2565 (ข้อมูลจากระบบรายงาน การเฝ้าระวังโรค 506 กองระบาดวิทยา) พบว่า ประเทศไทย มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก สะสมรวม 6,646 ราย อัตราป่วย 10.04 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต 6 ราย สำหรับในพื้นที่เขต 12 พบผู้ป่วย 308 ราย อัตราป่วย 6.16 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต จำนวน 1 ราย (จังหวัดปัตตานี 1 ราย) คิดเป็นอัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.32 ส่วนอัตราป่วยสูงสุดพบในกลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมา คือ 15 – 24 ปี และ 0-4 ปี และจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุดคือ จังหวัดสตูล 12.93 ต่อประชากรแสนคน (42 ราย) รองลงมาคือ จังหวัดนราธิวาส 9.63 ต่อประชากรแสนคน (78 ราย) จังหวัดพัทลุง 6.12 ต่อประชากรแสนคน (32 ราย) จังหวัดตรัง 6.10 ต่อประชากรแสนคน (39 ราย) จังหวัดสงขลา 5.59 ต่อประชากรแสนคน (80 ราย) จังหวัดยะลา 3.50 ต่อประชากรแสนคน (19 ราย) และจังหวัดปัตตานี 2.47 ต่อประชากรแสนคน (18 ราย)
อาการโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่มีไข้สูงมากโดยฉับพลัน ไข้สูงลอย อุณหภูมิ 38.5 – 40.0 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาจมีผื่นหรือจุดเลือดขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ถ้ามีไข้สูง 2-3 วัน ไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีภาวะอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคภาวะติดสุราเรื้อรัง โรคธาลัสซีเมีย หรือมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน เป็นต้น
นายแพทย์เฉลิมพล เน้นย้ำ หากมีอาการไข้อย่างน้อยสองวันแล้วไม่ดีขึ้น ไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูก ให้สงสัยโรคไข้เลือดออกและรีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเอง ยาลดไข้ให้ใช้ยาพาราเซตามอลเท่าที่จำเป็น ร่วมกับเช็ดตัว ห้ามใช้ยาชุด ยาลดไข้กลุ่มสเตียรอยด์ และยาต้านการอักเสบกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เนื่องจากยาเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติและเสียชีวิตได้ คำแนะนำเพิ่มเติมให้พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารสีดำหรือสีแดงเพราะจะบดบังอาการเลือดออกจากทางเดินอาหาร ให้ดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำผลไม้บ่อยๆ และหากมีอาการต่อไปนี้ไห้ไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ ปวดท้องหรืออาเจียน ไข้ลดลงแต่อาการไม่ดีขึ้น อ่อนเพลีย มือเท้าเย็น ซึมลง กระสับกระส่าย หน้ามืดเป็นลม ปัสสาวะลดลงหรือไม่มีปัสสาวะใน 4-6 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกผิดปกติบริเวณอื่น เช่น เลือดกำเดาไหล อุจจาระมีเลือดปนเลือดหรือมีสีดำ
สคร.12 สงขลา ขอแนะนำมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในพื้นที่เป้าหมาย 6 ร. ได้แก่ 1.โรงเรือน (บ้าน/ชุมชน) 2.โรงเรียน(สถานศึกษา/สถานเลี้ยงเด็กเล็ก) 3.โรงพยาบาล 4.โรงแรม/รีสอร์ท 5.โรงงาน/กลุ่มอุตสาหกรรม และ 6.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์) โดยยึดหลัก 3 เก็บ 3 โรค คือ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายอยู่อาศัย 2.เก็บขยะให้เกลี้ยงไม่ให้ยุงลายเพาะพันธุ์ 3.เก็บปิดน้ำให้มิดชิดไม่ให้ยุงลายวางไข่ รวมทั้งจุดที่มักมองข้ามภายในบ้าน เช่น แก้วน้ำ แจกันหน้าหิ้งพระและศาลพระภูมิ ควรล้างและเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ ช่วยป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันที่ดีคือ การป้องกันอย่าให้ยุงกัด ทายากันยุง กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422