ศิลปินกลุ่ม Patani Artspace จากสามจังหวัดชายแดนใต้ นำผลงานศิลปะที่สะท้อนถึงประสบการณ์และการดิ้นรนในการดำเนินชีวิต จนถึงปัญหาสังคมและความรุนแรงในพื้นที่ มาแสดงที่ VS Gallery ในกรุงเทพฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้
วรวุฒิ สัจจะปรเมษฐ นักสะสมงานศิลปะและเจ้าของ VS Gallery กล่าวว่า งานแสดงครั้งนี้จะช่วยให้ชาวเมืองกรุงได้รับทราบว่า วิถีชีวิตของชาวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมที่ใช้ภาษามลายูนั้นมีความแตกต่างออกไปอย่างไร ในขณะที่ยังมีความขัดแย้งและความรุนแรงของการแบ่งแยกดินแดนอยู่
“แนวคิดก็เพื่อเสนอผลงานของผู้ที่ด้อยโอกาส และเพิ่มพูนความเข้าใจถึงเรื่องราวที่ส่งผลต่อชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ที่มีความรุนแรงในภาคใต้” วรวุฒิ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“ชาวกรุงเทพ มักจะมีทัศนคติต่อพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ แม้ว่าพวกเขาเองก็ยังไม่เคยได้ไปเที่ยว หรือไปพบปะผู้คนที่นั่นก็ตาม”
เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ได้นำศิลปินจากชายแดนใต้อีก 6 ราย นำผลงานศิลปะขึ้นมาแสดงในนิทรรศการ Deep South : ลงลึกไปชายแดนใต้ ในครั้งนี้ ซึ่งจัดแสดงผลงานที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 6-19 มิถุนายน เจะอับดุลเลาะ เป็นนักศึกษาด้านไฟน์อาร์ตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อ พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นปีที่มีเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ ขบวนการบีอาร์เอ็นก่อเหตุปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง ในอำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาสไป 423 กระบอก
ในเดือนเมษายนของปีเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่รัฐสังหารกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะกว่า 30 ราย ถัดมาในเดือนตุลาคม ผู้ประท้วงรัฐเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจกว่า 80 ราย ในระหว่างถูกควบคุมและลำเลียงขึ้นทับกันบนรถบรรทุกของทหาร
เหตุการณ์ยิงและการวางระเบิดได้ดำเนินต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,300 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 13,500 ราย ตามตัวเลขของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนภาคใต้
“เราเจอปัญหาเดียวกัน คล้าย ๆ กัน ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น ๆ” เจะอับดุลเลาะ กล่าว และบอกว่า ตนได้ตั้งกลุ่ม Artspace ในครั้งนั้นมีสมาชิกรวมสิบคน
“ผมก่อตั้งขึ้นมาหลังเหตุการณ์ ปี 47 สิบปี สิ่งที่ทำก็คือ อยากจะมีพื้นที่ เราก็เห็นแล้วว่าพื้นที่ในการสร้างบทสนทนาระหว่างผู้คนภายใน และภายนอกมันจำเป็นมากที่เราจะต้องสร้างขึ้นมา” เจะอับดุลเลาะ กล่าว และระบุว่าเมื่อพูดถึงดินแดนใต้แล้ว ผู้คนมักจะนึกถึงแค่เพียงผ้าบาติก รวมทั้งเรือกอและ
เจะอับดุลเลาะ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และเติบโตในหน้าที่การงาน เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ที่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความยากจนที่สุด
“คนไทยส่วนใหญ่ไม่กล้าลงไปในพื้นที่ ไม่ใช่เพราะว่ามันไกล แต่เป็นเพราะข่าวสะพัดถึงเรื่องความรุนแรง การมีวัฒนธรรมและศาสนาที่แตกต่างออกไปจากส่วนอื่นของประเทศ เพราะอย่างนี้เลยทำให้พวกเขาไม่ได้รับการยอมรับทางการเมืองและศาสนา แล้วเขาก็ต้องเยียวยาตัวเองด้วยอัตลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมที่เข้มข้น เพื่อสู้กับการถูกแปลกแยก” วรวุฒิ กล่าว
ผศ.ดร. เจะอับดุลเลาะ กล่าวว่า ศิลปินในสามจังหวัดชายแดนใต้ต้องต่อสู้กับอุปสรรคสองประการ คือ หนึ่ง เศรษฐกิจ และสอง “ศูนย์กลางอำนาจวงการศิลปะที่รวมศูนย์ไว้ที่กรุงเทพ” ซึ่งในประการที่สองนั้น หมายรวมถึงเนื้อหาศิลปะจากชายแดนใต้
“การที่เรานำคอนเทนท์ในทางศิลปะ แน่นอนหลายคอนเทนท์ที่มันไม่ค่อยถูกใจภาครัฐ เพราะว่าเรานำเสนอความจริง โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิมนุษยชน เรื่องของความอยุติธรรมที่มันเกิดขึ้นในพื้นที่ เรื่องความรุนแรงที่เราต้องการสร้างสันติภาพให้มันเกิดขึ้นในพื้นที่” ผศ.ดร. เจะอับดุลเลาะ ระบุ
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมักจะมาเยี่ยม ปาตานี อาร์ตสเปซ อยู่บ่อยครั้ง เป็นไปด้วยด้วยท่าทีในทางลบ แต่ทางกลุ่มก็ไม่ได้ยุติการแสดงผลงาน
“เขาก็มีการมาตั้งแต่ผมก่อตั้งและเปิดขึ้นมา ก็จะมีทหาร มีฝ่ายความมั่นคงเข้าไปสอบถามว่าเราทำอะไรยังไง แบบไหน ประเด็นที่มันเซนซิทีฟเขาก็จะมาให้เรากลัว ให้เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเซนซิทีฟ เวลาเราทำเรื่องเสวนาต่าง ๆ ไม่ถึงกับคุกคาม เขาจะมีจิตวิทยาในการที่จะเข้าไป” ผศ.ดร. เจะอับดุลเลาะ กล่าว
ในเดือนสิงหาคมนี้ กลุ่มปาตานีฯ จะจัดอาร์ตเฟสติวัล ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม ไปอีกสองสามเดือน โดยได้เชิญศิลปินจากประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ 50 คน เข้าร่วมแสดงผลงาน
เจะอับดุลเลาะ ได้นำผลงานของศิลปินในกลุ่มรวมเจ็ดคน เช่น เป้าซ้อมยิงปืนรูปเงาคน ทำจากแผ่นสังกะสีเก่าปนสนิมที่มีรูปรองเท้าบู๊ท รถถัง และปืนอยู่ในระดับศีรษะ เป็นการแสดงถึงความอยุติธรรม และการกดขี่ด้วยอำนาจรัฐที่มีอย่างล้นเหลือ
แผ่นสังกะสี เป็นวัสดุก่อสร้างพื้นฐานที่ใช้สำหรับทำหลังคา ฝาผนังบ้าน ถูกนำมาใช้แทนค่าความเป็นคนในท้องถิ่น สารของผลงานทั้งหมดได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาษามลายูที่ชาวเชื้อสายปาตานีใช้
‘Unreal Peace’
ศิลปิน พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น สะท้อนถึงความขัดแย้งในตัวเองของมนุษย์ที่แสวงหาสันติภาพ ด้วยการก่อสงคราม โดยได้นำปลอกประสุนขนาด 5.56 ม.ม., 9 ม.ม. และ .45 มาเสียบร้อยเรียงบนเสาธง
‘Suffering in Patani’
มูฮัมหมัดซูรียี มะซู แสดงผลงานภาพนกเขาชวาที่สะท้อนความเจ็บปวดของชาวบ้านที่ตกอยู่ใต้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก
“กฎหมายพิเศษไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น หรือมีความสงบมากขึ้นสำหรับชาวบ้าน ทั้งยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุมและซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยให้รับสารภาพ”
‘Under 2021′
กรกฎ สังข์น้อย แสดงผลงานภาพที่ประดิดประดอยด้วยหมึกจีน อะคริลิก และแผ่นทอง มีเท้าขนาดยักษ์ที่เหยียบอยู่บนคนจำนวนนับร้อยที่ต้องคุกเข่ารองรับ เป็นการชี้ให้เห็นถึงการปั่นอำนาจ การเฝ้าติดตามประชาชน และกำจัดทุกคนที่กล้าตั้งคำถาม
“หลาย ๆ คน ยอมจำนนต่ออำนาจที่ครอบครองความคิด และความเชื่อของตน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะการบังคับใช้กฏเกณฑ์ที่อยุติธรรมในการควบคุมชีวิตและจิตใจของเขา”
‘Tadika’
วันมุฮัยมีน อีแตลา แสดงผลงาน ตาฎีกา (โรงเรียนสอนศาสนาก่อนและระดับประถมศึกษา) ที่สะท้อนถึงปัญหาการรักษาอัตลักษณ์ของคนมลายูปาตานีกับความไม่ไว้วางใจจากเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่กล่าวหา ตาฎีกาบางแห่งบ่มเพาะความรุนแรงให้กับเด็กและส่งเสริมการแยกดินแดน
‘Melayu … Unpopular’
มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ แสดงผลงานจิตรกรรมที่ใช้เทคนิกการลากเส้นแบบ manual กับการคำนวนเส้นโครงสร้างแบบ digital เจาะทะลุรูปปั้นเดวิดใส่ผ้าโสร่ง และวีนัสใส่ผ้าปาเต๊ะ ทำให้เกิดคำถามต่อออแรนายู (คนมลายู) สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับการแทรกซึมของวัฒนธรรมกระแสนิยม ผ้าโสร่งและปาเต๊ะ คือภาพจำของผู้คนที่นอกเหนือไปจากความรุนแรง หากใคร่ครวญที่จะรู้ มองเบื้องลึกลงไปในรากทางวัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อและสังคม จะพบว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นเพียงสิ่งฉาบฉวยจากสื่อในกระแสสังคม และภาพซ้ำอันเป็นเครื่องมือของอุตสาหกรรมความมั่นคงเท่านั้นเอง
‘Sandals’
อิซูวัน ชาลี ทำรองเท้าแตะที่มีรองพื้นเป็นรูปตะกวด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความโชคร้าย อิซูวัน สะท้อนให้เห็นเรื่องราวของความขมขื่นของผู้ที่ถูกเหยียบย่ำโดยผู้ที่มีอำนาจ
นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ ภิมุก รักขนาม ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน ภาพทั้งหมด โดยเบนาร์นิวส์