ที่มาและภาพประกอบจาก : คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดปัตตานี (คผยจ.)
คผยจ.ปัตตานี เดินหน้าขับเคลื่อนการทำงานลดการสูบบุหรี่ ตั้งเป้าลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ พร้อมเสริมพลังกลไกการทำงานภาคีเครือข่ายให้เข้มแข็ง
จากผลการสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2564 พบว่า อัตราการบริโภคยาสูบของประชากรไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป อยู่ที่ ร้อยละ 17.4 โดยจังหวัดที่มีอัตราการบริโภคยาสูบสูงที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ กระบี่ (ร้อยละ 29.4) สตูล (ร้อยละ 25.2) พังงา (ร้อยละ 24.6) นครศรีธรรมราช (ร้อยละ 24.6) และระนอง (ร้อยละ 24.5) ตามลำดับ ขณะที่ข้อมูลสถานการณ์การบริโภคยาสูบจังหวัดปัตตานี พบว่า มีอัตราการสูบบุหรี่อยู่ที่ร้อยละ 21.40 ถือเป็นอันดับที่ 15 ของประเทศ
ว่าที่ร้อยตรีตระกูล โทธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดปัตตานี ครั้งที่ 1/2565 กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบระดับจังหวัดนั้น คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด (คผยจ.) ที่ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคประชาชน และผู้ทรงคุณวุฒิ ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงนโยบาย รวมถึงกำหนดแนวทางปฎิบัติในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ติดตาม ประเมินผลและตรวจสอบการดำเนินงานเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 แต่การที่จะดำเนินงานให้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้น ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้และความเข้าใจในเชิงนโยบายซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของผู้ปฏิบัติงานทุกคน เพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้ครอบคลุมเกิดผลสัมฤทธิ์ เกิดประสิทธิภาพ และต้องให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ เข้าใจ ความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์กับประชาชน
นอกจากนี้ การกำหนดเขตพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพื่อไม่ให้รบกวนผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งการดำเนินงานในรูปแบบดังกล่าว เป็นการลดแรงต่อต้านจากผู้ที่สูบบุหรี่ ไม่ได้เป็นการเชิญชวนให้วัยรุ่นหันมาสูบบุหรี่มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่ คผยจ. ได้มีการหารือร่วมกันไว้แล้ว
รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวด้วยว่า ในการแต่งตั้ง คผยจ. คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานทุกระดับ ได้คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เพื่อร่วมปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินงาน อีกทั้งยังคัดเลือกประชาชนที่มีแนวความคิดในมิติของศาสนาในพื้นที่ด้วย เนื่องจากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามถึงร้อยละ 80 ดังนั้นการนำความศรัทธาของผู้นำทางความคิดและจิตวิญญาณเข้ามาช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้กับประชาชน จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการทำงาน ลด ละ เลิกยาสูบ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับกลไกการขับเคลื่อนของหน่วยงานภาครัฐ ภาคีเครือข่ายจังหวัด และประชาชน เป็นปัจจัยที่ทำให้การขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบของจังหวัดเป็นไปได้ด้วยดี และประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยสิ่งที่ยังต้องการหนุนเสริมจากส่วนกลาง คือ การรณรงค์ให้เกิดความยั่งยืน และสามารถบรรลุเป้าหมายได้ จะต้องดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จริงจัง สม่ำเสมอ และส่งเสริมให้ประชาชนมีความตระหนักถึงโทษ พิษภัย ผลกระทบและความสูญเสีย ทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดจากการสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“การจะแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ เราจะต้องรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นก่อน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จได้ เราจะต้องเดินไปด้วยกัน เพื่อป้องกันการเกิดนักสูบหน้าใหม่ได้อย่างยั่งยืน” รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวย้ำ
ด้านนายแพทย์อนุรักษ์ สารภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ในฐานะกรรมการและเลขานุการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ได้กำหนดมาตรการนโยบายและยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พร้อมให้คำปรึกษากับคณะทำงานเกี่ยวกับเรื่องของกฎหมาย เพื่อให้คณะทำงานมีความมั่นใจมากขึ้น
สำหรับข้อมูลสถานการณ์การบริโภคยาสูบ จังหวัดปัตตานี พบว่ามีอัตราการสูบบุหรี่อยู่ในอันดับที่ 15 ของประเทศ ส่วนสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในระดับที่น้อยมาก เนื่องจากบริบทของจังหวัดปัตตานีส่วนใหญ่ประชาชนนับถือศาสนาอิสลาม
“จังหวัดปัตตานี มี คผยจ. อนุกรรมการ และคณะทำงาน ที่มีคุณสมบัติและองค์ประกอบที่ครบถ้วน มีความเข้มแข็ง จึงคาดหวังว่า หากทุกภาคส่วนดำเนินการร่วมกันอย่างจริงจัง ทั้งการขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบของจังหวัด รวมถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี จะทำให้การทำงานในระบบต่าง ๆ มีประสิทธิภาพสูงสุด” นายแพทย์อนุรักษ์ กล่าว
ด้าน นางสาวศรัณย์พัช ชีระจินต์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์หรือการสาธารณสุข กรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ในฐานะที่ทำงานควบคุมยาสูบมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2551 ยอมรับว่าเป็นงานยาก ด้วยบริบทของคนในพื้นที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะคนในชุมชนที่สูบบุหรี่เป็นประจำทุกวัน จึงทำให้การทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ในช่วงแรกมีความยากลำบาก อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ได้เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้สนับสนุนจัดตั้งทีมงานในการดำเนินการป้องกัน ควบคุม จัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย จึงทำให้อัตราการบริโภคยาสูบของประชาชนในพื้นที่ลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
สำหรับผลงาน ความสำเร็จของกลไก คผยจ.ปัตตานี คือ การเชิญชวนชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ภายใต้โครงการชุมชนปลอดบุหรี่ โดยให้ผู้นำทางศาสนาเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อน เริ่มต้นจากมัสยิดปลอดบุหรี่ สอดแทรกหลักศาสนาในการให้ความรู้ เพื่อให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่มากขึ้น ทำให้สถานการณ์การบริโภคยาสูบของจังหวัดอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น พร้อมคาดหวังว่ากลไก คผยจ. ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และภาคประชาชน จะช่วยให้การทำงานครอบคลุมทุกมิติ ตลอดจนสามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด เพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่ในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่ นางสาวต่วนนุรมา หะมะ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ผู้รับผิดชอบงานป้องกันควบคุมการบริโภคยาสูบ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์การบริโภคยาสูบของจังหวัดดีขึ้น เกิดจากความเข้มแข็งของกลไกการทำงานที่มีความชัดเจน ทั้งในส่วนของคณะกรรมการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องและทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ ทำให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ขณะเดียวกัน การลงพื้นที่สถานศึกษา และศาสนสถานเพื่อรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจกับประชาชน เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ลงได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการหนุนเสริมจากส่วนกลาง ทั้งกรมควบคุมโรค และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อย่างต่อเนื่อง ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนระยะถัดไปนั้น ได้วางแผนการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการขยายผลการดำเนินงานลงสู่พื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ส่วนนายชูศักดิ์ โมลิโต นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคติดต่อที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร. 12 สงขลา) กล่าวว่า สคร. 12 สงขลา มีพื้นที่ความรับผิดชอบ 7 จังหวัด คือ จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ซึ่งมีการแต่งตั้ง คผยจ. ทุกจังหวัด ซึ่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ได้มีการกำหนดให้ คผยจ. มีการประชุมปีละ 2 ครั้ง อย่างต่อเนื่องทุกปี
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา แต่ละจังหวัดได้จัดเวทีเพื่อให้บุคคลที่ทำความดี มาร่วมกันถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน อีกทั้งสถานศึกษาในทุกเขตพื้นที่ ได้ดำเนินการตาม 7 มาตรการโรงเรียนปลอดบุหรี่ ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกจังหวัดต้องปลอดบุหรี่ โดยในปีนี้ได้เริ่มดำเนินการยกระดับสถานพยาบาลปลอดบุหรี่ พร้อมทำหน้าที่คัดกรองผู้ที่สูบบุหรี่เข้ามาบำบัด เพื่อให้ลดการสูบบุหรี่ลง
ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจอัตราการสูบบุหรี่ในเขตสุขภาพที่ 12 ปี 2564 พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ลดลง โดยจังหวัดสตูล มีอัตราการสูบบุหรี่มากกว่าในเขตพื้นที่อื่น ๆ คือ ร้อยละ 25 ส่วนจังหวัดยะลา มีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำสุด ร้อยละ 18 แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การบริโภคยาสูบ จังหวัดปัตตานียังคงอยู่ในอันดับที่ 15 ของประเทศ ดังนั้นทางจังหวัดจึงได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนให้มีคณะทำงานในระดับ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจกับประชาชน พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ งดจำหน่ายบุหรี่ให้กับเยาวชน เพื่อไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น
ในการประชุมครั้งนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้มอบโล่แสดงความยินดีกับรางวัลด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2564 ของเครือข่ายในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 โดยจังหวัดปัตตานี ได้รับรางวัล จำนวน 3 รางวัล คือ รางวัลชนะเลิศ แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ด้านสถานศึกษาปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2564 ได้แก่ โรงเรียนบ้านราวอ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 แนวปฏิบัติที่ดี ด้านศาสนสถานปลอดบุหรี่ฯ ได้แก่ มัสยิดดารุลอารกอน อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 แนวปฏิบัติที่ดี ด้านชุมชนปลอดบุหรี่ฯ ได้แก่ ชุมชนตะลุโบะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
นายฟารีซัน วามิง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านราวอ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ด้านสถานศึกษาปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดเผยว่า ได้นำแนวนโยบายในการกำหนดรูปแบบของเขตพื้นที่ 3 G โรงเรียนดี 3 S ในสถานศึกษา รวมถึงสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโทษของยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีกระบวนการทำงานที่เป็นรูปธรรม คือ
1. การกำหนดนโยบาย โดยประกาศเจตนารมย์เรื่องสถานศึกษาปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สร้างแนวปฏิบัติให้กับนักเรียน ผู้ปกครอง ชาวบ้านในชุมชน และบุคลากรในโรงเรียนให้รับทราบ และดำเนินการแผนที่วางไว้ ซึ่งได้กำหนดทิศทางร่วมกันดำเนินการสำรวจ จัดบทบาท ตั้งคณะทำงานที่รับผิดชอบสำรวจข้อมูล เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
2. การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การเป็นสถานศึกษาปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทุกช่องทาง
3. การบูรณาการความรู้สู่ห้องเรียน จัดทำแผนการดำเนินงานในหมวดสาระต่าง ๆ เพื่อให้ครูได้จัดการเรียนรู้สู่ผู้เรียน จัดกิจกรรมเสริมความรู้ให้กับนักเรียน เช่น การอบรม 1 สถานพินิจ 6 สถานศึกษา กิจกรรมอบรมต่อต้านพิษภัยของยาเสพติด
4. การจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษา เพื่อสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน โดยกำหนดสัญลักษณ์ตามจุดต่าง ๆ ให้นักเรียนได้จดจำ
5. การประสานความร่วมมือระหว่างชุมชนกับสถานศึกษา เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง พร้อมขอความร่วมมือร้านค้าต่าง ๆ ในชุมชน งดจำหน่ายบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชน
6. การจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยจัดกิจกรรมคลินิกเสมารักษ์ และคลินิกวัยใสให้กับนักเรียน เพื่อให้คำปรึกษานักเรียนเป็นรายบุคคล และช่วยเหลือนักเรียนในทุกด้าน
7. ส่งเสริมให้กับผู้เรียนและแกนนำ นำวิธีการกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ขยายผลต่อให้เกิดพื้นที่ปลอดควันบุหรี่ ไม่ใช่เฉพาะในโรงเรียน แต่เป็นบ้านของนักเรียนเอง และสถานที่สำคัญต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จ
นายฟารีซัน ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ การรับรู้และเข้าใจถึงปัญหา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยทางโรงเรียนมีการพูดคุยกันระหว่างชุมชน และเครือข่ายอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งความยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากทุกคนไม่ตระหนักและเล็งเห็นหลักปฏิบัติร่วมกัน โดยเจตนารมย์ของทางโรงเรียนบ้านราวอ คือ “ร่วมสร้างสรรค์สิ่งดี เริ่มต้นวันนี้ ด้วยการปลอดบุหรี่และแอลกอฮอล์”